มกร เชาวน์วาณิชย์
อะไรคือจุดเปลี่ยนที่ท้าทายของ มกร เชาวน์วาณิชย์
อะไรที่ทำให้บริษัทของเขาก้าวไปสู่ Global Brand
อบรมธรรมทายาท และอุปสมบทหมู่ รุ่นเข้าพรรษา พ.ศ.2546
อายุ 33 ปี : ปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับ 1
สาขาวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์ คณะศิลปกรรมมหาวิทยาลัยรังสิต
ประวัติ
2533 สำเร็จการศึกษามัธยมต้น ร.ร. สาธิตมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ประเทศไทย
2537 (ได้รับทุน เอ.เอฟ.เอส.) สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลาย โรงเรียนวาลตัน รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐ
2541 สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับ 1 สาขาวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
2541-2546 Product Designer และ Senior Product Designer ของบริษัท Philips Design ในเครือ Royal Philips Electronics (Global)
2547 ปัจจุบัน ผู้ก่อตั้งและ CEO ของบริษัท Cerebrum Design
มกร เชาวน์วาณิชย์ นายกสมาคมนักออกแบบผลิตภัณฑ์แห่งประเทศไทย คนปัจจุบันที่มีอายุน้อยที่สุด และมีจุดเปลี่ยนที่น่าสนใจ ที่ทำให้ธุรกิจไปสู่ Global Brand ได้อย่างสบาย ๆ ปัจจุบัน เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท Cerebrum Design
นิตยสารหลายฉบับสนใจในตัวคุณมกร ในความเป็นอัจฉริยะด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ การออกแบบธุรกิจแบบครบวงจรและดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการไปวัด นั่งสมาธิ…แปลก…ไหมล่ะ…
ไปดูกันว่า นิตยสารที่ผลัดกันลงเรื่องของคุณมกรติดต่อกัน 4 ปี ต่างฉบับ ต่างวาระ พูดถึงคุณมกรว่าอย่างไร
“มกร เชาวน์วาณิชย์ หนุ่มวัย 30 จากปัตตานี รักการออกแบบมาตั้งแต่เด็ก เมื่อสำเร็จปริญญาตรีด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์จากมหาวิทยาลัยรังสิต เขาก็สร้างชื่อเสียงจากการส่งงาน เข้าประกวดระดับเอเชียในปี ค.ศ. 1999 และคว้ารางวัลชนะเลิศจากการออกแบบนาฬิกา Millennium Watch ของซิติเซ่นมาครอง”
ดิฉัน ปีที่ 29 ฉบับที่ 718 (31 มกราคม 2549, หน้า 134)
“การชนะเลิศการประกวดออกแบบนาฬิการะดับเอเชีย Citizen Watch Design Asia ที่ Citizen ชวนร่วมงานที่ฮ่องกง และยังมีฟิลิปส์ชวนทำงานที่สิงคโปร์ เขาเลือกฟิลิปส์ เพราะมีชื่อเสียงด้านฐานความรู้ ด้านงานออกแบบที่ใหญ่ที่สุดในโลก”
Positioning Magazine ปีที่ 1 ฉบับที่ 44 (มกราคม 2551, หน้า 171)
มกร เชาว์วาณิชย์ อัจฉริยะแห่ง Phillips
“ผมเป็นคนไทยคนเดียวในทีม ซึ่งมี 35 คนจาก 12 สัญชาติ ส่วนมากจะเป็นยุโรป เช่น สวีเดน ดัตช์ อังกฤษ ซึ่งเป็นนโยบายของบริหารในการรวมนักออกแบบจากหลายวัฒนธรรมเพื่อประโยชน์ในเรื่องความคิด และมุมมอง Phillips Design มีสาขาทั่วโลก 20 แห่ง มีดีไซเนอร์อยู่ประมาณ 500 กว่าคน”
Design ปีที่ 1 ฉบับที่ 11 (มิถุนายน 2546, หน้า 47)
หลังจากสะสมประสบการณ์ที่ฟิลิปส์ ดีไซน์ อยู่นานถึง 7 ปี ทั้งในประเทศสิงคโปร์ และฝรั่งเศส จากนั้นคุณมกรก็ลาออก กลับมาเปิดบริษัท Cerebrum Design ในเมืองไทย ซึ่งตั้งใจไว้ว่า อยากทำให้สินค้าไทยเป็นแบรนด์ระดับโลกให้ได้
“…วันนี้ เขาแบกประสบการณ์ ความรู้ ความชำนาญ กลับมายังเมืองไทย เปิดบริษัทชื่อ Cerebrum Design (บริษัทแรกของเมืองไทย และเอเชีย ที่รับออกแบบธุรกิจอย่างครบวงจร) รั้งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัท ที่เขาประกาศว่า รับออกแบบ Business Concept ให้กับสินค้าหรือบริการอะไรก็ได้ที่อยากเป็น Global Brand เขายืนยันว่าไม่ใช่เรื่องยากที่จะวางแผนและขับเคลื่อนให้ธุรกิจของคุณประสบความสำเร็จ ระดับโลก แต่มีข้อแม้ นั่นคือ ขอให้คุณมี Vision และหมกมุ่นกับมัน
กรณีศึกษาของ บลูทูธ “อากาศ” สินค้าระดับ Hi-end แบรนด์คนไทยที่กำลังมาแรงในต่างประเทศ นั่นคือผลงานของเขา…”
SME Thailand นิตยสารเพื่อนคู่คิดธุรกิจเอสเอ็มอี Vol. 3 No.29 (29 เมษายน 2550, หน้า 60)
ปัจจุบัน คุณมกร มีพนักงานในความดูแลประมาณ 30 คน ในประเทศไทย และที่ไต้หวัน อีก 11 คน ลูกค้าส่วนใหญ่ยังคงเป็นชาวต่างชาติ
รู้จักคุณมกรในหน้าที่การงานกันพอสมควร ลองมาดูประวัติของคุณมกร ว่าเข้าสู่ วงการธรรมะตอนไหน
มกร เชาวน์วาณิชย์
ไม่เคยสนใจเรื่องพระพุทธศาสนา
คุณมกร เล่าว่า “แต่ก่อนผมเป็นคนห่างวัดมากครับ ไม่เคยสนใจเรื่องพระพุทธศาสนาเลย เพราะความที่เป็นคนชอบคิดชอบทำ ชอบประดิษฐ์ ชอบแก้ปัญหา ชอบหาเหตุผล ก็เลยคิดว่าพุทธศาสนาเป็นเรื่องไร้สาระ แล้วไม่เท่เอาเสียเลย ถ้าจะไปวัดเดี๋ยวจะเสียฟอร์ม แต่ต้องยกความดีความชอบนี้ให้คุณแม่ครับ ที่พยายามหลอกให้ผมเข้าวัดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541
ตอนเข้ามาแรกๆ ชอบ Design วัดมาก เท่ดี คิดในใจ ใครออกแบบเนี่ย… Minimal และ Modern ดีจริง ๆ แต่ก็อีกละครับ วัดก็คือวัด…ไร้สาระ…
จากนั้นก็ไม่ได้มาวัดอีกเลยจนปี พ.ศ. 2545 ตอนนั้นกำลังจะย้ายไปทำงานที่ฝรั่งเศสและกำลังจะแต่งงาน… แม่ก็เอาเลย… ให้บวชก่อนแต่งงาน บวชให้แม่… ผมคิดในใจ… เอ้า… บวชก็ได้ น่าจะง่าย ๆ กิน ๆ นอน ๆ คิดว่าลองสักครั้ง มาชิมลางดู ผมเข้ามาอบรมธรรมทายาทอุปสมบทหมู่ รุ่นที่ 29 …พอมาจริง ๆ… โอ้โฮ ตอนเป็นนาค… ผมว่า เรียน ร.ด. ต้องเรียกงานนี้พี่เลย
ผมว่านะ กว่าจะมาเป็นพระมันไม่ง่ายเลย
ไม่เป็นไร… เราชอบอะไรท้าทายอยู่แล้ว!
วันที่สุดยอดที่สุด คือ ตอนที่ต้องห่มผ้าเหลืองครั้งแรก… แล้วพ่อกับแม่มากราบ…ทำอะไรไม่ถูกเลย ทั้งปลื้ม ทั้งงง ทั้งรู้สึกผิด… เข้าใจแล้วครับว่าเป็นพระนี่มันท้าทายใจวัยรุ่นจริงๆ เหนือจินตนาการจริงๆ… บอกได้เลยครับเป็นอะไรที่ทำได้ยากที่สุดในโลก…
“ถ้าคิด… ต้องคิดดี ถ้าหยุด… ก็ต้องหยุดคิด
โอ้โฮ… นี่แหละทำไม่คนต้องกราบพระ
มันเป็นอะไรที่ยากสุดๆ จริงๆ แต่ท้ายสุดก็รอดมาได้พร้อมกับแนวคิดที่เปลี่ยนไป…
เป็นพระนี่สุดยอดจริง ๆ สมาธิก็เจ๋งจริงๆ”
สมาธิ เพื่อการทำงานที่ดีมาก ๆ
คุณมกรให้สัมภาษณ์กับดิฉัน ปีที่ 29 ฉบับ 718 (วันที่ 31 มกราคม 2549 หน้า 145) ว่า
“ผมได้แรงบันดาลใจมากจากการนั่งสมาธิ ที่ผมสนใจอยู่ตอนนี้คือ เรื่องการพัฒนาจิต เมืองไทยเป็นเมืองพุทธ เป็นศูนย์กลางศาสนาพุทธของโลก แต่ความเข้าใจเรื่องพวกนี้มีน้อย… อีกอย่าง เรื่องของสมาธิ คนเหมือนจะเข้าใจ แต่จริง ๆ เขาไม่เข้าใจ ผมก็อยากใช้ตรงนี้สร้างเป็นจุดแข็ง…
เขาสนใจเรื่องการนั่งสมาธิ เพราะเห็นว่าให้ผลดีกับตัวเอง
การนั่งสมาธิช่วยเรื่องการทำงานได้มาก
ผมว่าถ้าผมไม่นั่งสมาธินะ เปิดบริษัทอย่างนี้ไม่ได้
เพราะช่วงแรกเครียดมาก
เรื่องเงิน เรื่องลงทุน แล้วมีพนักงานต้องดูแลอีก หลายเรื่องมาก สมองยุ่งมาก พอเริ่มนั่งสมาธิมันนิ่ง
…แล้วผมถือศีล 5 ด้วย เหล้า บุหรี่ ไม่ยุ่งเลย เพราะถ้าเรายังกินเหล้าเหมือนเดิม ตื่นมาบางทีแฮงก์บ้าง ตัดสินใจผิดพลาด ธุรกิจเละไปเลย ผมเลยค่อนข้างเคร่งเรื่องศีล 5 ถ้าเข้าพรรษาต้องถือศีล 8 ก็ช่วยได้เยอะ อย่างแรกมันช่วยให้เรานิ่ง พอนิ่งก็ตัดสินใจได้ดี”
สมาธิก่อให้เกิดไอเดียเจ๋ง ๆ
…ผมลองย้อนกลับไปคิดดูว่า ไอเดียที่เจ๋งๆ เกิดขึ้นเพราะอะไร ที่เราทำงานส่งประกวดก่อนวันสุดท้าย คือ เราทำตอนกลางคืน มันมีสมาธิ เลยรู้ว่าจริงๆ แล้ว มันมาจากตรงนี้นี่เอง ยิ่งพอมานั่งสมาธิด้วยแล้วมันปิ๊งๆๆ มันออกมาตลอดเลย
…กลับจากฝรั่งเศส ผมถึงมาเริ่มนั่งสมาธิอย่างจริงจัง ทำให้เราดีขึ้นเรื่อยๆ นี่ผมเพิ่งกลับจากนั่งสมาธิมาอาทิตย์หนึ่ง เหมือนไปชาร์ตแบตเตอรี่ ไม่ต้องคิดอะไรสักอาทิตย์หนึ่ง แล้วฝึกตรงนี้บ่อยๆ มันโปร่ง กลับมาแล้วตัดสินใจอะไรก็ง่าย สะดวก
…พนักงานของผม ผมก็ให้ไปนั่งสมาธิกันหมดเลย เพราะดีไซน์เนอร์เป็นงานที่ต้องคิดตลอดเวลา ถ้าไม่นิ่ง ความคิดจะกระจายไปทั่ว ไม่มีโฟกัส มันก็อ่อน ไม่มีกำลัง พอไม่มีกำลัง ก็ไม่ได้อะไรที่ใหม่ที่ดีๆ ออกมา ผมก็พยายามฝึกนั่งสมาธิ มันช่วยได้จริงๆ ผมไปวัดเกือบทุกอาทิตย์ และนั่งสมาธิก่อนนอน มันเหมือนเราปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ ถ้าไม่ปิด บางทีเราเก็บไปคิด ไปฝัน ตื่นมายังเหนื่อยเลย
…ผมรู้ว่าปัญหาที่ผ่านมาผมมีอะไรบ้าง ผมจะเอาปัญหาพวกนี้มาแก้ให้หมด แล้วทำโปรดักส์ขึ้นมา เพราะตอนนี้อัตราคนฆ่าตัวตายทั่วโลก 1 วินาที 1 คน
…แล้วตอนนี้โรคที่เป็นกันมากที่สุดในโลก คือ โรคเครียด ถึงเรียนสูงแค่ไหนแต่ดีลกับชีวิตไม่เป็น ถึงมีดอกเตอร์ฆ่าตัวตายเยอะแยะ ซึ่งตรงนี้ผมว่าเงินหาซื้อไม่ได้ ต้องทำเอง
ทีมงาน จุดเปลี่ยน ได้สัมภาษณ์ พระมกร โกวิทฺโธ ภายหลังการมาบวชระยะสั้นอีกครั้ง ณ วัดพระธรรมกาย เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2552
ท่านเล่าว่า ครั้งแรกที่ได้มาอบรมธรรมทายาทและอุปสมบทหมู่รุ่นเข้าพรรษา ตอนนั้นมาบวชเพราะว่าโยมแม่ชวนมาหลายครั้ง ชวนมาเรื่อยๆ และเห็นว่าตอนนั้นอายุ 25 ปีก็ควรจะบวชได้แล้ว จึงตัดสินใจบวชก่อนเดินทางไปฝรั่งเศส เหตุผลสำคัญคือ บวชให้โยมแม่ และคิดว่าลองสักครั้ง มาชิมลางดู ท่านบอกว่า หากลูกผู้ชายที่ชอบท้าทายสุดๆ หรืออะไรที่โหดๆ การอบรมธรรมทายาท และบวชนี่ล่ะ เป็นสิ่งท้าทายในชีวิตของลูกผู้ชาย เพราะถ้าเป็นฆราวาสแค่ฝึกกาย แต่เป็นพระจะต้องฝึกทั้งกายและใจ ทำให้ทั้งท้าทายเหนื่อย และสนุกดี ซึ่งการบวชครั้งนั้นทำให้มีพื้นฐานการฝึกสมาธิที่เอาไปใช้ได้จริง จากนั้นก็ฝึกสมาธิมาเรื่อย จนรู้สึกว่าเราอยากทำอุปกรณ์ที่ช่วยให้การนั่งสมาธิเป็นเรื่องสบาย เรื่องที่ง่าย โดยอาศัยประสบการณ์ design ของเรามาเชื่อมโยงตรงนี้ ให้คนทุกชาติทุกภาษา เข้าใจว่า
“สมาธิไม่ใช่เรื่องศาสนา แต่เป็นเรื่องสากล”
———————————————————————————————————————-
ที่มา… หนังสือ “จุดเปลี่ยน”