ชาวนา ขายก้อนหิน

  • by

ชาวนา ขายก้อนหิน

         มีชาวนาคนหนึ่ง อาศัยอยู่ที่เชิงเขาสูงเสียดฟ้า เต็มไปด้วยหน้าผาสูงชัน ไม่เคยมีใครขึ้นไปถึงยอดเขาได้ แล้ววันหนึ่ง ขณะที่ชาวนาคนนั้นกำลังตัดฟืนอยู่ที่หลังเขา เขาได้พบทางเล็ก ๆ สายหนึ่งโดยบังเอิญ ด้วยความสนใจเขาจึงได้เลาะเลียบไปตามทางเล็ก ๆ คดเคี้ยวไปมา ค่อย ๆ ปีนขึ้นไปอยู่นานมาก ในที่สุดก็ถึงยอดเขา

ค า ด ไ ม่ ถึ ง…

         …บนยอดเขากลับเป็นที่ราบ โล่ง ทุ่งหญ้าเขียวขจี มีดอกไม้ป่าที่ไม่รู้จักชื่อบานสะพรั่งอยู่เต็มไปหมด บรรยากาศสงบสงัดและทัศนียภาพงดงามยิ่งนักเขาเดินต่อไปได้อีกครู่หนึ่งก็พบสระน้ำแห่งหนึ่ง น้ำใสมาก สามารถมองเห็นปลาว่ายไปมาได้อย่างชัดเจน ที่ริมสระมีหินจำนวนมากส่งประกายระยิบระยับ มีสีสรรต่าง ๆ งดงาม ชาวนาคนนั้นเคยได้ยินคนเล่าถึงอัญมณี แต่ไม่เคยเห็นมาก่อน ไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วเพชรนิลจินดาต่าง ๆ มีลักษณะอย่างไร เขาคาดคะเนว่า หินที่งดงามเหล่านี้คงจะเป็นอัญมณีเป็นแน่ ในที่สุดก็เลือกเอาหินที่สวยที่สุดก้อนหนึ่งนำกลับบ้าน

         วันรุ่งขึ้น เขาเข้าไปในเมือง หาจนเจอร้านอัญมณีแห่งหนึ่ง ได้นำหินก้อนนั้นให้เจ้าของร้านดู เจ้าของร้านอัญมณีรับหินก้อนนั้นไป พินิจพิจารณาดูอย่างละเอียด แล้วบอกเขาว่า

         “นี่เป็นอัญมณีที่ล้ำค่าหายากชนิดหนึ่ง แกขายให้ฉันก็แล้วกัน ฉันให้ราคา 1 หมื่นเหรียญ”

         ชาวนาได้ยินคำพูดนั้นแล้ว รู้สึกดีใจมาก แต่แสดงท่าทางทำเป็นเฉยๆ ไม่ตื่นเต้น ตอบไปว่า

         “ตอนนี้ฉันยังไม่อาจตัดสินใจได้ว่าจะขายหรือไม่ พรุ่งนี้เรา ค่อยคุยกันอีกทีก็แล้วกัน”

         พอชาวนานั้นกลับถึงบ้าน ก็รีบระดมทุกคนในครอบครัว ขึ้นเขาไปขนก้อนหินหลากสีเหล่านั้นลงมา ช่วยกันขนตลอดวัน ขนหินเหล่านั้นได้มา 2 กระสอบใหญ่ เขาใช้เกวียนขนหิน 2 กระสอบนั้นเข้าไปในเมือง กระหยิ่มใจว่าคราวนี้จะต้องร่ำรวยมหาศาลแน่นอน แต่พอเจ้าของร้านอัญมณีเห็นหินเหล่านั้นแล้ว กลับยิ้มอย่างเย็นชา พลางบอกกับเขาว่า

“หิน 2 กระสอบใหญ่นี้ ฉันให้ราคาแก 1 เหรียญเอาไหม”

ท่านสาธุชนทั้งหลาย…

         “สิ่งดีที่มากเกิน ก็อาจทำให้ดูด้อยค่า” โดยทั่วไปคนเราตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ด้วยองค์ประกอบสำคัญ 2 ประการ คือ ด้วยเหตุผลและด้วยอารมณ์ และคนจำนวนไม่น้อยเลยที่องค์ประกอบด้านอารมณ์ความพอใจ มีอิทธิพลเหนือกว่าองค์ประกอบด้านเหตุผล เหมือนอาหารแม้มีสารอาหารครบถ้วนบริบูรณ์ แต่ถ้าไม่อร่อยก็ไม่ค่อยมีใครอยากรับประทาน ตรงกันข้าม อาหารที่มีคุณค่าทาโภชนาการ เพียงพอประมาณ แต่มีรสชาติอร่อย ผู้คนกลับนิยมชมชอบ เมื่อเราทราบอย่างนี้แล้ว ในการติดต่อสัมพันธ์กับคนทั้งหลาย เราจึงต้องคำนึงถึงอารมณ์ของอีกฝ่ายหนึ่งให้มาก ๆ ด้วย จะคิดแต่เพียงว่าเราถูก เรามีเหตุผลเพียงเท่านั้นไม่ได้ ต้องมีศิลปะในการนำเสนอ รู้จังหวะจะโคน รู้กาลเทศะ เราจะประสบความสำเร็จในการงาน บางครั้งเรื่องดี ๆ แต่เสนอมากไป พูดมากไป อาจถูกแปลเจตนาผิด หวังดีเลยกลายเป็นร้าย หรือถูกมองเป็นของไร้ค่าไปได้ เหมือนชายชาวนาในเรื่องนี้เป็นต้น

——————————————————————–
ที่มา : หนังสือ “มังกรสอนใจ” โดย พระมหาดร.สมชาย ฐานวุฑฺโฒ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *