กาลครั้งหนึ่ง มีพรานป่าสองพ่อลูก อาศัยอยู่ในป่าใหญ่แห่งหนึ่ง กลางวันพ่อก็ออกไปล่าสัตว์ ส่วนลูกก็อยู่ดูแลบ้าน หุงหาอาหารไว้คอยท่า อยู่กันมาด้วยความสุข วันหนึ่งพ่อออกไปล่าสัตว์บังเอิญถูกงูเห่ากัด พยายามฝืนความเจ็บปวด ลากสังขารกลับมาบ้าน และสั่งเสียลูกชายไว้ก่อนตายว่า ให้นำของดีประจำตระกูลคือนอแรด อันสวยงามไปกราบพระราชา เพื่อขอฝากถวายตัวให้พระองค์ชุบเลี้ยงต่อไป
หลังจากเผาศพพ่อเรียบร้อยแล้ว ลูกชายก็นำนอแรดเดินทางไปที่วังของพระราชา พบนายประตูชั้นนอกของพระราชวัง อ้อนวอนนายประตูวังให้พาไปเข้าเฝ้าพระราชา นายประตูเห็นนอแรดงดงามเช่นนั้น คิดว่าหนุ่มน้อยคนนี้ คงได้รับพระราชทานรางวัลจากพระราชาจำนวนมาก จึงเกิดความโลภ บอกชายหนุ่มว่า จะพาเข้าไปก็ได้แต่เมื่อได้รับพระราชทานรางวัลแล้วต้องแบ่งให้ตนครึ่งหนึ่ง ชายหนุ่มก็ตอบตกลง นายประตูวังชั้นนอกจึงพาชายหนุ่มเข้าไปส่งที่ประตูวังชั้นใน
นายประตูวังชั้นใน เมื่อทราบเรื่องราวก็เกิดความโลภเช่นกัน จึงบอกชายหนุ่มว่า จะพาเข้าเฝ้าต่อเมื่อชายหนุ่มรับปากว่าจะแบ่งรางวัลให้ครึ่งหนึ่ง ชายหนุ่มก็ตอบตกลงอีก นายประตูวังชั้นในจึงพาชายหนุ่มเข้าเฝ้าพระราชา
เมื่อพระราชาทอดพระเนตรเห็นนอแรดนั้นแล้ว มีความพอพระทัยมาก ถามชายหนุ่มว่าต้องการรางวัลอะไร ชายหนุ่มทูลตอบว่า ขอพระองค์โปรดพระราชทานรางวัล 2 ประการ คือ
1.ขอให้พระองค์รับตนไว้เป็นข้าทูลละอองธุลีพระบาทตลอดไป
2. ขอให้พระองค์พระราชทานรางวัล โดยการโบยหลังตน 100 ที
พระราชาแปลกใจมาก ถามว่าทำไมเจ้าถึงต้องการรางวัลโง่ ๆ อย่างนั้น ทำให้ตนเจ็บตัวเปล่า
ชายหนุ่มจึงทูลเล่าความจริงให้ฟัง ว่าไม่ได้ต้องการรับการเฆี่ยนตีเอง แต่ขอเพื่อแบ่งให้นายประตูทั้งสองคน คนละครึ่ง
เมื่อทรงทราบแล้วพระราชาทรงพิโรธมาก สั่งให้ทหารนำตัวนายประตูทั้งสองไปเฆี่ยนคนละ 50 ที และแต่งตั้งชายหนุ่มนั้นเป็นมหาดเล็กประจำพระองค์ ชายหนุ่มนั้นรับราชการด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ขยันหมั่นเพียร ภายหลังก็ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นลำดับ จนได้เป็นขุนวังของพระนคร
ท่านสาธุชนทั้งหลาย…
ความโลภนี้ไม่ดีเลย จะนำตัวเราไปสู่หนทางเสื่อม หากเราปรารถนาทรัพย์แล้ว ก็ต้องเร่งขวนขวายในการประกอบกิจการงานจึงจะควร อย่าได้หวังรวยทางลัด ทรัพย์ที่ได้มาโดยมิชอบ จะนำทุกข์ในบั้นปลายมาให้เสมอ
“ตลอดระยะเวลา ที่บาปยังไม่ให้ผล
คนพาลสำคัญบาปเหมือนน้ำผึ้ง
บาปส่งผลเมื่อใด คนพาลย่อมเข้าถึงทุกข์เมื่อนั้น”
( ขุ. ธ. 25/15/24 )
——————————————————————————————-
ที่มา : หนังสือ “มังกรสอนใจ” โดย พระมหาดร.สมชาย ฐานวุฑฺโฒ