ชายโลเล

  • by

ชายโลเล

ในสมัยราชวงศ์ฮั่น มีชายคนหนึ่งมีความมุ่งมาดปรารถนาสูงสุดในชีวิต คือเป็นข้าราชการชั้นสูง มีชื่อเสียง ร่ำรวยทว่ามุมานะทำงานมาแล้วครึ่งชีวิต แต่ยังไม่มีความสำเร็จอย่างที่หวังทำงานจนผมขาวโพลนไปทั้งศีรษะ ก็ยังคงเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยเท่านั้น มีวันหนึ่งเขาเดินอยู่บนถนน คิดถึงเรื่องราวชีวิตของตน ยิ่งคิดก็ยิ่งแค้นใจ จนสุดท้ายทนไม่ไหวร้องไห้โฮออกมา

มีคนเดินผ่านมาคนหนึ่ง เห็นเขาร้องไห้อย่างรวดร้าวใจเช่นนั้น คิดว่าเขาคงประสบภัยพิบัติอะไรที่คาดไม่ถึง จึงเข้าไปปลอบประโลมว่า

“ท่านผู้เฒ่า ทำไมท่านจึงร้องไห้อย่างรวดร้าวใจเช่นนี้ ท่านอายุก็มากขนาดนี้แล้ว ควรระมัดระวังถนอมสุขภาพด้วย”

ผู้เฒ่านั้นกล่าวว่า

“คุณไม่รู้อะไร ตัวฉันเองตั้งแต่ยังเล็ก ก็ตั้งปณิธานไว้อย่างแน่วแน่ว่า จะต้องเป็นข้าราชการชั้นสูง สร้างเกียรติยศชื่อเสียงแก่วงศ์ตระกูลให้ได้ แต่ปัจจุบันฉันอายุ 60 ปีเศษแล้ว ยังคงเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยอยู่ ดูแล้วชาตินี้คงไม่มีทางสมปรารถนาแล้ว”

ชายเดินถนนถามเขาอีกว่า

“ที่แท้ท่านมีปณิธานอันยิ่งใหญ่ตั้งแต่ยังเด็ก แล้วทำไมความปรารถนาของท่านจึงไม่สัมฤทธิ์ผลล่ะ”

ชายผู้เฒ่าตอบว่า

“เมื่อตอนฉันยังหนุ่ม ฮ่องเต้ทรงโปรดปรานอักษรศาสตร์ ฉันจึงไปเรียนอักษรศาสตร์ มีความเชื่อมั่นว่าตนเองเรียนได้ดีทีเดียว แต่ฮ่องเต้ชอบใช้คนมีอายุ บอกว่าฉันยังไม่มีประสบการณ์ เพราะฉะนั้นยังไม่แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญได้ รอจนฉันมีอายุเริ่มย่างเข้าวัยกลางคน ฮ่องเต้องค์เดิมสวรรคต ฮ่องเต้องค์ใหม่ทรงโปรดปรานการสู้รบ ฉันจึงวางมือจากอักษรศาสตร์ ไปเรียนวิชาการต่อสู้ คาดไม่ถึง ฉันยังเรียนศิลปะการต่อสู้ไม่ทันสำเร็จ ฮ่องเต้องค์ใหม่ก็สวรรคตไปอีก ฮ่องเต้องค์ถัดมาอายุยังน้อย ชอบใช้คนหนุ่ม แต่ตัวฉันนั้นเริ่มชราแล้ว ฉันพยายามปรับตัวตามความชอบของฮ่องเต้ทุกอย่าง สามารถพูดได้ว่าได้ทุ่มเทความพยายามอย่างสุดความสามารถแล้ว แต่ว่าคาดไม่ถึงในที่สุดก็ต้องประสบกับผลลัพธ์เช่นนี้ แล้วทำไมฉันจะไม่รวดร้าวใจ”

ชายเดินถนนคนนั้น ทั้งๆ ที่เห็นอกเห็นใจในชะตากรรมของผู้เฒ่านั้นมาก แต่กลับนึกไม่ออกว่าจะใช้คำพูดอย่างไรมาปลอบประโลมเขาดี

ท่านสาธุชนทั้งหลาย…

การวางทิศทางการทำงานของตัวเองนั้น ไม่ควรนำไปผูกติดกับตัวบุคคลคนอื่น เพราะเป็นเงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ความชอบความพอใจของคนเราก็เปลี่ยนแปลงได้เสมอ ถึงแม้ความชอบไม่เปลี่ยน เงื่อนไขก็อาจเปลี่ยนได้ จากการพ้นตำแหน่ง หรือการตายดังเช่นในเรื่องนี้ สิ่งที่เราควรทำคือ สำรวจตัวเองว่าเรามีความถนัด มีความชำนาญในเรื่องอะไร หาทางทำงานที่เราถนัดสามารถใช้ศักยภาพตัวเองได้เต็มที่ และงานนั้นต้องเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมด้วย การผูกทิศทางการทำงานของเราเข้ากับประโยชน์ขององค์กรหรือสังคมส่วนรวม เป็นเงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงได้ยากกว่า มีความมั่นคงมากกว่า การปรับตัวตามผู้บังคับบัญชาเป็นสิ่งจำเป็นควรกระทำ แต่ควรเป็นการปรับในแง่มนุษยสัมพันธ์และสไตล์ในการทำงานเท่านั้น ตัวเนื้อหาของงานที่เราทำนั้นควรมีความต่อเนื่องไม่โลเลเปลี่ยนใจไปมา ต้องฝึกตัวเองอย่างต่อเนื่องให้มีความสามารถมีความชำนาญจริง ๆ สุดท้ายความสำเร็จก็จะเป็นของเรา ยิ่งถ้าเรารู้จักวางเป้าหมายไว้ที่ความสำเร็จของงาน ประโยชน์ก็เกิดขึ้นกับองค์กรและสังคมส่วนรวม ไม่ใช่ว่าอยู่ที่ความก้าวหน้าของตัวเอง ซึ่งถือว่าเป็นผลพลอยได้ เราก็จะยิ่งทำงานอย่างสบายใจ และเป็นนักทำงานที่มีความสุข

วายเมเถว ปุริโส ยาว อตฺถสฺส นิปฺปทา
เกิดเป็นคน ควรพยายามเรื่อยไป จนกว่าจะสำเร็จ

( วิโรจนอสุรินทสูตร 15/313 )

————————————————————————————————————————————-
ที่มา : หนังสือ “มังกรสอนใจ” โดย พระมหาดร.สมชาย ฐานวุฑฺโฒ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *