การทะเลาะกันของอวัยวะ ทั้ง 5

  • by

การทะเลาะกันของอวัยวะ ทั้ง 5

มีอยู่วันหนึ่ง อวัยวะทั้ง 5 ของคน ๆ หนึ่ง เกิดทะเลาะกันขึ้น พูดกัน

คนละทีสองที ทะเลาะกันอย่างดุเดือด เริ่มแรกทั้งหมดต่างรุมว่า...ตา

“แกวันทั้งวันไม่เห็นทำอะไรเลย แต่กลับมีโอกาสได้ชื่นชมวิว

ทิวทัศน์อันงดงามทั้งหลาย ช่างไม่ยุติธรรมจริง ๆ”

จากนั้นก็หันมาโจมตี…หู

แกตลอดทั้งวันอยู่นิ่ง ๆ ไม่เคลื่อนไหว แต่กลับสามารถได้ยินเสียง

อันไพเราะต่าง ๆ  ทำไมพวกฉันถึงไม่มีโอกาสอย่างนี้บ้าง

เสร็จแล้วก็เปลี่ยนเป้าหมายหันมารุมว่า…ลิ้น

แกนะ  นอกจากเวลานอนแล้ว  ตลอดวันไม่ใช่กินก็คือดื่ม ได้ลิ้มรสชาติอันโอชะประดามีในโลก แต่พวกฉันแม้เพียงสิ่งที่ธรรมดาสามัญที่สุด

ก็ไม่มีโอกาสได้กิน

ที่รู้สึกได้รับความอยุติธรรมที่สุดคือ…มือ มือคิดว่าตัวเองต้องทำงานทั้งวัน มีผลงานมากที่สุด  แต่กลับไม่มีโอกาสเสพสุขอะไรเลย

แต่ทว่า…ขา ไม่เห็นด้วยกับมือ ขาบอกว่า

ถ้าพูดจริงๆ แล้ว คุณูปการของฉันมากที่สุด  ถ้าฉันไม่พาเดินไปยังที่ต่างๆ ละก็ มือก็ไม่เห็นจะสามารถทำงานอะไรได้มากมาย

มือฟังคำพูดของขาแล้ว แม้ในใจจะรู้สึกไม่ยินยอมอย่างยิ่ง แต่ก็ไม่รู้

จะหาเหตุผลอะไรมาพูดดี  ยิ่งคิดก็ยิ่งแค้น ในที่สุดอดรนทนไม่ไหวคว้ามีดขึ้นมา 1 เล่ม เริ่มด้วยการควักลูกนัยน์ตาออกมาก่อน อะไรๆ ก็มองไม่เห็นแล้ว สมแค้นไปอย่าง จากนั้นก็เฉือนใบหูลงมา  อะไรๆ ก็ไม่ได้ยินแล้ว  พอเสร็จ

ก็เฉือนลิ้นออกมาด้วย  พูดไม่ได้แล้ว  ท้ายสุดก็ตัดขาทิ้งไปด้วย  เดินก็ไม่ได้แล้ว

ผลสุดท้าย  เนื่องจากบาดแผลสาหัสเกินไป คน ๆ นั้นจึงถึงแก่ความตาย  แน่นอนมือก็ย่อมไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้โดยลำพัง

ท่านสาธุชนทั้งหลาย…

คนทั่วไปในโลก เวลาได้รับความสุขสบาย ก็มักคิดว่าตนได้รับความสบายน้อยที่สุด  แต่เวลาได้รับความลำบาก   ก็มักคิดว่าตนได้รับความลำบากมากที่สุด
และชอบเอาคนอื่นมาเปรียบเทียบกับตนอยู่ตลอดเวลา  จริง ๆ สังคมในโลกไม่ว่าจะในครอบครัว ชุมชน บริษัท  ร้านค้า  ล้วนมีงานที่ต้องแบ่งหน้าที่กันทำทั้งสิ้น ถ้าทุกคนทำงานหน้าที่เดียวกันหมด สังคมนั้นก็คงอยู่ไม่ได้  งานทุกหน้าที่ ล้วนมีความสำคัญ  เหมือนรถยนต์ทั้งคัน มีอุปกรณ์เป็นหมื่นเป็นแสนชิ้น แค่ยางรั่ว  เบรคแตก สตาร์ทเตอร์ไม่ทำงาน  หรือจะเป็นชิ้นส่วนใดก็แล้วแต่ สะดุดติดขัดขึ้นมาสักชิ้น รถทั้งคันก็รวนไปหมด

สังคมเราก็เช่นกัน  งานทุกหน้าที่มีความสำคัญทั้งนั้น สะดุดติดขัดขึ้นมาสักอย่างก็รวนไปทั้งสังคม ทั้งองค์กรได้เช่นกัน ไม่ใช่เรื่องที่เรา

จะมานั่งเปรียบเทียบกับคนอื่นแล้วนึกน้อยอกน้อยใจ พ่อจะมาอิจฉาลูกว่า

ไม่ต้องรับผิดชอบก็ไม่ถูก ลูกอิจฉาพ่อว่ามีอำนาจตัดสินใจมากกว่าตนก็ไม่ถูก ขอให้ทุกคนตั้งใจทำหน้าที่ของตนให้ดี และมีน้ำใจเอื้อเฟื้อต่อกัน  สังคมองค์กรของเราก็จะเจริญก้าวหน้าไปได้ด้วยดี

———————————————————————————————
จากหนังสือ “มังกรสอนใจ”
พระมหา ดร.สมชาย ฐานวุฑโฒ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *