การพัฒนาประเทศของญี่ปุ่น ตอนที่ 2

  • by

shinkansen
ชิงคันเซ็น รถไฟหัวกระสุน (Shinkansen bullet train)

นอกจากปัจจัยพื้นฐานที่เอื้ออำนวยให้แล้ว สาเหตุที่ทำให้ญี่ปุ่นพัฒนาประเทศได้เร็วยังมีอีกหลายประการ อาตมภาพขอยกตัวอย่างในที่นี้ไว้ ๕ ประการ คือ

๑. มีความเชื่อมั่นและมีอุดมการณ์ที่มั่นคงชัดเจน เมื่อประมาณ ๑๕๐ ปีที่ผ่านมา เป็นยุคที่ชาวผิวขาวออกล่าอาณานิคม ยึดดินแดนส่วนต่าง ๆ ของโลกเป็นเมืองขึ้น ด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าเทียบกันไม่ได้ โลกเกือบทั้งโลกตกอยู่ในอุ้มมือของคนผิวขาว ในยุคนั้นชนชาติต่าง ๆ ในเอเชีย และแอฟริกา ส่วนใหญ่มีความรู้สึกในใจลึก ๆ ว่า ตนสู้คนผิวขาวไม่ได้ มีความยำเกรงคนผิวขาว คิดว่าตนนั้นต่ำต้อยกว่า… ในขณะที่ชาวญี่ปุ่นไม่ได้คิดอย่างนั้นเลย เขามีความภูมิใจในเชื้อชาติของเขา และมั่นใจว่าชาติของตนต้องเป็นหนึ่งในโลกได้ จึงไม่เคยท้อถอย ไม่ยอมแพ้ตั้งแต่ต้น เมื่อรู้ตัวว่าขณะนั้นยังมีความสามารถน้อยกว่า มีความพร้อมน้อยกว่าที่ทุ่มเททำงานหนักขึ้น

สโสแกนที่ว่า  “โอยซึคิ  โอยโคะเซะ” ซึ่งแปลว่า “ไล่ให้ทัน (ฝรั่ง) และแซงให้ได้ ยังฝังแน่นอยู่ในใจของทุกคน ถือเป็นอุดมการณ์ร่วมกันของคนทั้งชาติ

๒. สนใจแก่นมากกว่าเปลือก คนส่วนใหญ่ชอบเรียนลัด ติดที่เปลือกมากกว่าแก่น แต่ญี่ปุ่นเขาสนใจที่แก่นมากกว่าเปลือก เช่น เห็นฝรั่งมีรถขับ คนญี่ปุ่นก็คิดว่า  ทำอย่างไรตนจึงจะผลิตรถได้อย่างฝรั่ง พูดง่าย ๆ เขาคิดว่าความเจริญก้าวหน้าไม่ได้อยู่ที่ประเทศของตนสามารถซื้อรถสวย ๆ มาใช้ได้ แต่อยู่ที่สามารถผลิตรถออกมาสู่

ตลาดได้ เรื่องอื่น ๆ ในทำนองเดียวกันนี้ลักษณะติดเปลือกมากกว่าแก่นนี้ ปัจจุบันยังเห็นได้ชัดเจน เป็นที่น่าประหลาดใจว่าในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นร่ำรวย และประเทศไทยเรามีรายได้ประชาชาติต่ำกว่าเขาเกือบยี่สิบเท่า แต่ประเทศไทยของเรากลับมียอดขายรถยนต์ต่างประเทศราคาแพงติดอันดับต้น ๆ ของโลก คิดเป็น

เปอร์เซ็นต์แล้วสูงกว่าญี่ปุ่นหลายสิบเท่า… ถ้าหันมาพิจารณาเรื่องเปลือกกับแก่นกันให้มากกว่านี้ บางทีประเทศไทยของเราจะมีสภาพทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นกว่านี้ก็ได้

๓. มีขั้นตอนการทำงานที่ดี คนญี่ปุ่นมีจุดเด่นเรื่องการมองขั้นตอนของงานออกมาได้อย่างชัดเจน และทำงานตามลำดับขั้นตอนมีประสิทธิภาพสูงสุด อาตมภาพเคยคุยกับคนญี่ปุ่นที่เคยไปเที่ยวเมืองไทย เขาบอกว่า “ กรุงเทพฯ รถติดจังเลยนะ ทำไมไม่สร้างรถไฟขนส่งมวลชนล่ะ ” อาตมภาพตอบไปว่า เรากำลังเตรียมสร้างอยู่ คิดกันมาได้เกือบยี่สิบปีแล้ว ตอนนี้กำลังถกเถียงกันอยูว่าจะสร้างลอยฟ้าดีหรือขุดลงใต้ดินดี เขาหัวเราะ เพราะญี่ปุ่นเขาสร้างรถไฟใต้ดินสายแรก คือ  สายกินซ่า เมื่อเกือบร้อยปีมาแล้ว ขั้นตอนการทำงานของเขาก็คือ ส่งทีมเชี่ยวชาญไปศึกษาดูว่า มหานครใหญ่ ๆ ในโลกที่มีระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เขาใช้ระบบรถแบบไหน แต่ละแห่งมีสภาพภูมิประเทศและเงื่อนไขอื่น ๆ ต่างกันอย่างไร เมื่อได้ข้อมูลชัดก็สรุปได้ว่า สำหรับประเทศญี่ปุ่นควรใช้ระบบไฟฟ้าแบบใด พอตกลงกันเสร็จเรียบร้อย ถึงมีการเปิดประมูลจ้างบริษัทต่าง ๆ มาสร้าง งานก็ลุล่วงไปด้วยดี ถ้าไปลัดขั้นตอนไม่ศึกษาให้ดี ตัดสินใจเรื่องระบบรถ เส้นทาง เทคนิคต่าง ๆ ไม่ชัดเจน แต่เปิดประมูลสัมปทานกันก่อน แล้วมาแก้กันทีหลัง ก็จะมีเรื่องผลประโยชน์ต่าง ๆ มาเกี่ยวข้อง ทำให้การตัดสินในยิ่งยากขึ้นอีกหลายเท่า  เสียเวลาไปโดยใช่เหตุ

๔. มีการวางแผนระยะยาว ในญี่ปุ่นการตัดสินใจจะมากจากกระบวนการกลุ่ม  ทำกันเป็นทีม มีการรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ปัญหา กำหนดแนวทางการพัฒนาอย่างชัดเจน  เพราะแผนงานที่วางเอาไว้ตั้งอยู่บนฐานข้อมูลที่มั่นคงถูกต้อง จึงได้รับการปฏิบัติตามอย่างต่อเนื่อง แม้จะเปลี่ยนแปลงผู้บริหารไปก็ตาม ส่วนของไทยเราการตัดสินใจมักมาจากผู้มีอำนาจ ตัดสินใจกันรวดเร็วแต่ก็เปลี่ยนแปลงง่ายเช่นกัน พอรัฐบาลเปลี่ยนชุดทีก็รื้อแก้กันที เหมือนทำตามอารมณ์ความคิดของผู้มีอำนาจ เราจึงมักถนัดทำงานเฉพาะหน้ากันเป็นส่วนใหญ่ คนไม่ค่อยคิดมองอะไรไกล ๆ เพราะคิดว่าคิดไปก็ป่วยการ เดี๋ยวก็เปลี่ยนอีก แผนระยะยาวจึงไม่ค่อยมี ทิศทางการพัฒนาไม่ชัดเจน ต่างคนต่างคิดต่างคนต่างทำไปในทิศทางที่ตนคิดว่าถูกต้อง ซึ่งบางทีก็ขัดแย้งกันเอง ไม่รวมพลังเป็นหนึ่งหลายสิ่งหลายอย่าง จึงขาดความยั่งยืน เหมือนต้นไม้ล้มลุก…

๕. ให้ความสำคัญกับการศึกษา เมื่อเริ่มพัฒนาประเทศ สิ่งที่คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญอย่างยิ่งก็คือ การศึกษา เริ่มประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษาแห่งชาติภายใน ๕ ปี สโลแกนว่า  “ โยมิ คะขิ โซโรบัง” แปลว่า “อ่านออก เขียนได้ คำนวณเป็น” คือความรู้พื้นฐานต่ำที่สุดที่คนญี่ปุ่นต้องมี ส่วนความรู้ชั้นสูงขึ้นไปนั้น วิธีสร้างคนเขาใช้วิธีคล้าย ๆ กับไทย คือส่งคนไปศึกษาต่อต่างประเทศ แต่ต่างกันที่ก่อนส่งไปต้องศึกษาก่อนว่า วิชาการแต่ละสาขามีกี่แขนงย่อย ถ้าจะให้ใช้งานจริงได้ดี ต้องมีคนไปศึกษากี่คน จากนั้นก็หาคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมส่งไป

เรียนยังประเทศที่เก่งที่สุดในสาขานั้น ๆ เช่น การแพทย์และทหารบกต้องเยอรมนี กฎหมายต้องฝรั่งเศส ทหารเรือต้องอังกฤษ การค้าต้องอเมริกา เป็นต้น เรียกว่าไปเรียนแบบเป็นทีม ทุกคนรู้หน้าที่ของตนเองชัดเจน ทุ่มเทเรียนอย่างจริงจัง ระหว่างเรียนก็มีการปรึกษาหารือ ติดตามความคืบหน้า ถ้ามีปัญหาอุปสรรคอะไรที่จะทำให้กลับมาแล้วทำงานไม่ได้ผลเต็มที่ ก็หาทางแก้ไขแต่เนิ่น ๆ เรียกว่า พอเรียนจบกลับมาก็ทำงานได้ทันที และยังสามารถสอนคนอื่น ๆ ต่อไปได้ด้วย

การวางแผนการสร้างคนที่ดีเช่นนี้ ทำให้ญี่ปุ่นสามารถพัฒนาประเทศได้อย่างรวดเร็ว จากประเทศที่ด้อยพัฒนาล้าหลังอย่างยิ่ง ขนาดที่ว่าเมื่อเปิดประเทศใหม่ ๆ เจ้าของโรงงานทอผ้าที่ซื้อเครื่องทอผ้าจากต่างประเทศ หาคนมาทำงานไม่ได้ เพราะมีข่าวลือว่า เครื่องจักรทอผ้ากินคนได้ คนเลยไม่กล้ามาทำงานด้วย แต่ภายในเวลา ๓๐ ปี ญี่ปุ่นมีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นเป็นดอก

เห็ด มีโรงงานถลุงเหล็ก ต่อเรือรบได้เอง มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า สามารถสร้างกองเรือรบที่ทรงอานุภาพ รบชนะรัสเซียซึ่งเป็นมหาอำนาจตะวันตกชาติหนึ่งในยุคนั้นได้ ทำให้โลกต้องตะลึงในความเป็นชาติเอเชียเพียงชาติเดียว ที่สามารถก้าวขึ้นมายืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับมหาอำนาจตะวันตกได้อย่างเต็มภาคภูมิ ภายในเวลาเพียง๓๐ ปี

กาลเวลาหมุนเวียนผ่านไป ประวัติศาสตร์ยังคงคลี่เปิดหน้าใหม่อยู่เสมอ สิ่งที่เราทำในวันนี้ ก็จะเป็นประวัติศาสตร์ในวันต่อไป

เราควรศึกษาบทเรียนจากประวัติศาสตร์ แล้วตั้งใจปรับปรุงการทำงาน หน่วยงาน และประเทศชาติของตัวเราเองทำให้เกิดประสิทธิภาพ เพื่อประวัติศาสตร์ที่เราร่วมสร้างกันในวันนี้ จะได้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่อนุชนรุ่นหลัง ให้พวกเขาได้รำลึกถึงด้วยความชื่นชมและภาคภูมิใจต่อไป

—————————————————————————————————-
ที่มา : หนังสือข้อคิดจากรอบตัว โดย พระมหาดร.สมชาย ฐานวุฑฺโฒ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *