การพัฒนาประเทศของญี่ปุ่น ตอนที่ 1

  • by

ประเทศญี่ปุ่น ได้รับการยกย่องว่า เป็นประเทศที่สามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว เป็นชาติในเอเชียเพียงชาติเดียวที่สามารถพัฒนาตัวเองเป็นชาติมหาอำนาจเคียงบ่าเคียงไหล่กับมหาอำนาจตะวันตกในยุคล่าอาณานิคม

การพัฒนาประเทศของญี่ปุ่น
การพัฒนาประเทศของญี่ปุ่น

ข้อที่มักมีผู้ยกขึ้นมาเปรียบเทียบกันเสมอ ๆโดยเฉพาะในหมู่คนไทยก็คือ ประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นเริ่มพัฒนาประเทศมาพร้อม ๆ กันในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งของญี่ปุ่นตรงกับรัชสมัยจักรพรรดิเมจิ แต่ทำไมญี่ปุ่นถึงแซงหน้าเราไปได้ไกลถึงขนาดนี้

จริงอยู่ที่วิธีการพัฒนาของคนในประเทศญี่ปุ่นมีจุดเด่นหลายประการที่ควรศึกษาเป็นแบบอย่าง แต่สิ่งที่คนทั่วไปมักมองข้ามคือ เมื่อเริ่มพัฒนาประเทศนั้นคนญี่ปุ่นและคนไทยมีพื้นฐานไม่เท่ากัน ประเทศญี่ปุ่นมีข้อได้เปรียบไทยอย่างน้อย ๔ ประการ ดังนี้

๑.  ความเป็นเอกภาพของคนในชาติ ความที่มีประเทศเป็นเกาะ ทำให้ญี่ปุ่นมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางเชื้อชาติสูง และโชกุนในสมัยเอโดะ ก็สามารถแผ่อำนาจการปกครองครอบคลุมทั่วประเทศญี่ปุ่นไว้ได้อย่างมั่นคงต่อเนื่องกันถึง ๒๐๐ กว่าปี ทำให้คนโดยทั่วไปมีจิตสำนึกร่วมกันว่า ตนคือชนชาติญี่ปุ่น มีสำนึกของความเป็นชาติสูง ดังนั้นเมื่อเปิดประเทศแล้วก็สามารถพัฒนาไปได้เต็มที่โดยไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง

ส่วนประเทศไทยของเรานั้น มีดินแดนติดต่อกับเพื่อนบ้านรอบทิศ มีการผสมผสานทางเชื้อชาติมาก และดินแดนในส่วนต่าง ๆ ของไทยเราก็มีอิสระในการปกครองตัวเองสูง บางแห่งก็มีประวัติศาสตร์การเป็นประเทศเอกราชมานาน เช่น ดินแดนแถบล้านนา ผู้ที่คิดว่าตนเป็นชาวไทยจริง ๆ นั้น มีอยู่บริเวณภาคกลางรายรอบพระนครเท่านั้น ดังนั้นพระราชภารกิจสำคัญยิ่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องทรงกระทำก่อนคือ ภารกิจการสร้างเอกภาพของคนในชาติ สร้างจิตสำนึกร่วมของความเป็นไทย ชาติไทย เพราะมิฉะนั้นแล้ว ถ้ามีต่างชาติมายุยงให้เกิดการแตกแยก คนไทยต้องรบกันเองเมื่อไร ฝรั่งก็จะเข้าผสมโรง และนั่นหมายถึงการสูญเสียเอกราช ต้องตกเป็นอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจตะวันตกอย่างแน่นอน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว การพัฒนาประเทศคงไม่มีความหมายอะไร

การสร้างเอกภาพของชนในชาติ เป็นงานใหญ่ที่ละเอียดอ่อน และต้องใช้เวลา โดยเฉพาะในภาวะที่มีมหาอำนาจนักล่าอาณานิคมคอยจ้องอยู่รอบทิศ ถือเป็นงานที่ยากมาก แต่ก็สำเร็จลงได้ด้วยพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่เราก็ต้องเสียเวลา ทรัพยากร กำลังความคิดสติปัญญา ไปกับเรื่องนี้มาก แทนที่จะทุ่มเทไปในเรื่องการพัฒนาประเทศได้ทันที

๒. ความหนาแน่นของประชากร ในช่วงปีพุทธศักราช ๒๔๑๐

ไทยมีพื้นที่มากกว่าญี่ปุ่นประมาณ ๑ เท่าครึ่ง แต่ประเทศไทยมีประชากรอยู่เพียง ๗-๘ ล้านคน ในขณะที่ญี่ปุ่นมีประชากรถึงประมาณ ๓๐ ล้านคน มากกว่าไทยถึง ๔ เท่าตัว และเมื่อดูจากอัตราความหนาแน่นของประชากรต่อพื้นที่แล้ว คนญี่ปุ่นมีมากกว่าคนไทยถึง ๖ เท่าตัว ซึ่งจำนวนประชากรนี้ มีผลอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ทั้งในด้านเป็นกำลังงานในการผลิต การขนส่ง และเป็นตลาดร้องรับสินค้า

๓. เครือข่ายการตลาดและวิญญาณของความเป็นนักการค้า เพราะมีความหนาแน่นของประชากรน้อย มีทรัพยากร ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์  ประเทศไทยในยุคนั้น จึงมีระบบเศรษฐกิจเป็นแบบผลิตเพื่อยังชีพ แต่ละชุมชนที่อยู่กระจายกันห่าง ๆ ต่างก็ผลิตพืชผลต่าง ๆ เพื่อการบริโภคแลกเปลี่ยนกันในชุมชนเป็นหลัก แม้ข้าวที่ถือเป็นสินค้าหลักของประเทศ ก็มาจากที่ราบลุ่มภาคกลางบริเวณใกล้กับแม่น้ำเท่านั้น เพราะสามารถขนส่งได้สะดวกโดยเฉพาะทางน้ำ การคมนาคมทางบกยังไม่สะดวกนัก การขนส่งสินค้าที่มีน้ำหนักมาก เช่น พืชผลการเกษตรที่ส่งไปขายไกล ๆ แค่ค่าขนส่งก็ไม่คุ้มแล้ว สำหรับท้องถิ่นที่อยู่ห่างไกล สิ่งที่พอจะเป็นสินค้าไปขายต่างเมือง

หรือต่างประเทศได้ ก็เป็นจำพวกของป่า เช่น น้ำผึ้ง ครั่ง หนังสัตว์ ไม้แก่นจันทน์ ฯลฯ คือพวกสินค้าที่มีราคาต่อน้ำหนักสูง คุ้มค่ากับการขนส่ง การค้าจึงมีอยู่ในวงจำกัด ระบบเครือข่ายการตลาดยังไม่ได้รับการพัฒนา ค้นไม่คุ้นเคยกับการค้าขาย นักลงทุนนักธุรกิจมีอยู่น้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนโพ้นทะเลที่มาเป็นนายอากรบ่อนเบี้ยต่าง ๆ กล่าวได้ว่า พวกศักดินายังเป็นกระแสหลักของสังคม ดังมีภาษิตของคนในยุคนั้นที่ว่า “สิบพ่อค้าไม่เท่าหนึ่งพระยาเลี้ยง”

ส่วนประเทศญี่ปุ่น ประชากรอยู่กันหนาแน่นมีภาวะลมฟ้าอากาศรุนแรง บางแห่งหนาวจัดปลูกข้าวไม่ได้ผล ต้องผลิตสินค้าอย่างอื่นเพื่อซื้อหาแลกเปลี่ยนไปมา เส้นทางสัญจรต่าง ๆ จึงได้รับการพัฒนา มีการค้าขายกันอยู่โดยทั่วไป ในสมัยนั้นโดยเฉพาะที่เมืองเอโดะ (คือมหานครโตเกียวในปัจจุบัน) แห่งเดียวก็มีประชากรอาศัยอยู่มากกว่าหนึ่งล้านคนแล้ว จัดเป็นมหานครใหญ่แห่งหนึ่งของโลก การค้าขายเป็นไปอย่างคึกคัก มีระบบธนาคารซึ่งมีสาขาทั่วประเทศ รับฝากกู้ยืมเงิน บริการตั๋วแลกเงินเพื่อความปลอดภัยเวลาเดินทาง มีกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่มีขนาดธุรกิจครอบคลุมทั่วประ

เทศ นักลงทุนนักธุรกิจได้รับการบ่มเพาะให้เติบใหญ่ กระบวนการสะสมทุนได้ดำเนินไปอย่างสืบเนื่องภายใต้ภาวะความมั่นคงทางการเมืองที่ยาวนานกว่า ๒๐๐ ปี เครือข่ายการตลาดได้กระจายตัวเข้าถึงดินแดนทุกส่วนของประเทศ ผู้คนคุ้นเคยกับการค้าขาย มีวิญญาณของนักการค้าอยู่แล้ว

การเปิดประเทศของญี่ปุ่น จึงหมายถึงการเปิดรับเอาเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาใช้ในการผลิตสินค้าเพื่อส่งไปจำหน่าย ขยายขอบเขตการค้าไปยังต่างประเทศ ส่วนตัวพ่อค้านักลงทุน เครือข่ายการตลาดมีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นกระบวนการต่าง ๆ จึงสามารถพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็ว รัฐบาลเพียงอำนวยความสะดวกให้ นักธุรกิจเอกชนก็พร้อมเดินไปข้างหน้า ซึ่งทุกอย่างนี้ต่างจากประเทศไทยมาก

๔. ความเข้มแข็งของกลไกลการปกครองคน

คนไทยยุคสมัย รัชกาลที่ ๕ การปกครองประเทศยังเป็นไปแบบหลวม ๆ แต่ละเมืองก็มีเจ้าครองเมืองดูแลอยู่ รับผิดชอบกิจการในบ้านเมืองของตน ถ้าเป็นหัวเมืองชั้นในก็อยู่ในความดูแลของส่วนกลางใกล้ชิดหน่อย หัวเมืองชั้นนอกก็เป็นอิสระมากขึ้น ยิ่งชนบทห่างไกลออกไปแล้วยิ่งมีอิสระมาก บางแห่งอำนาจรัฐบาลเข้าไปไม่ถึงเลย ส่วนของญี่ปุ่นอำนาจรัฐได้เข้าไปถึงแทบทุกจุดของประเทศ ระบบการจัดเก็บภาษีเป็นไปอย่างเข้มงวด นโยบายและคำสั่งจากรัฐบาลกลางถูกถ่ายทอดไปยังทุกชุมชนและได้รับการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ผู้ฝ่าฝืนจะถูกลงโทษอย่างรุนแรง กลไกของรัฐจึงมีบทบาทชี้นำสังคมได้มากและได้ผลอย่างดียิ่ง

tokyo การพัฒนาประเทศของญี่ปุ่น
ความเจริญก้าวหน้าของประเทศญี่ปุ่น

ดูอย่างง่าย ๆ เรื่องของการศึกษาของไทยสมัยรัชกาลที่ ๕ ปีพุทธศักราช ๒๔๑๐ ค่อย ๆ พัฒนาเรื่องการศึกษา มีโรงเรียนมหาดเล็กหลวง โรงเรียนข้าราชการพลเรือน สร้างโรงเรียนขยายออกไป กว่าระเริ่มประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษาแห่งชาติ บังคับให้เด็กไทยทุกคนต้องเรียนการศึกษาภาคบังคับถึงชั้นประถมศึกษา ๔ก็ล่วงเข้าปีพุทธศักราช ๒๔๖๔ จากนั้นกว่าจะขยายการศึกษาภาคบังคับถึงชั้น ป.๗ ก็เข้าปีพุทธศักราช ๒๕๐๔ รวมแล้วใช้เวลาเกือบ ๑๐๐ ปี ส่วนของญี่ปุ่นเริ่มรัชสมัยจักรพรรดิเมจิในปีพุทธศักราช ๒๔๑๐ และเริ่มยุคการพัฒนาประเทศอย่างจริงจัง ผ่านไปได้เพียง ๕ ปี เริ่มประกาศใช้ระบบโรงเรียนเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ มีการพัฒนาไปตามลำดับการขยายการศึกษาภาคบังคับถึงชั้นประถมศึกษาตอนปลาย ในปีพุทธศักราช ๒๔๕๐ รวมใช้เวลาเพียง ๔๐ ปี ซึ่งเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างกันของความเข้มแข็งทางกลไกของรัฐและพื้นฐานต่าง ๆ ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้นที่ชี้ให้พวกเราเห็นถึงความจริงที่ว่า เมื่อเริ่มพัฒนา ประเทศญี่ปุ่นมีข้อได้เปรียบไทยหลายประการดังกล่าวมาแล้วนั้น ไม่ใช่เพื่อให้เรามีข้ออ้างปลอบใจตนเองว่า

ไม่ใช่คนไทยไม่เก่ง แต่เพราะตอนเริ่มต้นเราเสียเปรียบเขาต่างหาก แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้พวกเรา เวลามองอะไรไม่มองอย่างมีอคติคิดเข้าข้างตนเอง ปลอบใจตัว หรือมองอย่างดูถูกตัวเอง แต่ต้องฝึกมองด้วยใจเป็นกลาง มีวิสัยทัศน์ที่กระจ่างชัด มองเห็นสิ่งต่าง ๆ ไปตามความเป็นจริง เข้าใจเหตุและผล เงื่อนไขปัจจัยของเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง

สำหรับตอนต่อไป เราจะมาวิเคราะห์ดูกันว่า นอกจากปัจจัยพื้นฐานที่เอื้อให้ดังกล่าวแล้ว คนญี่ปุ่นมีคุณสมบัติ ดีและเด่นอย่างไร จึงทำให้พัฒนาประเทศได้อย่างรวดเร็วได้ขนาดนี้

ผู้ใดไม่หวั่นไหวเพราะมานะ ๓ อย่าง

ที่ถือว่าตัวเรา  เป็นผู้ประเสริฐกว่าเขา ๑

เสมอเขา ๑  เลวกว่าเขา ๑

นักปราชญ์ย่อมสรรเสริญผู้นั้นแหละว่า

เป็นผู้มีปัญญา  มีวาจาจริง  ตั้งมั่นดีแล้ว

ในศีลทั้งหลาย  และว่าประกอบด้วยความสงบใจ

ขุ.เถร.มก. ๕๓/๓๓๗/๓๙๘

——————————————————————————————————————————————–
ที่มา : หนังสือข้อคิดจากรอบตัว โดย พระมหาดร.สมชาย ฐานวุฑฺโฒ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *