จริยธรรมในสังคมญี่ปุ่น

  • by

          หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าคนญี่ปุ่นมีลักษณะขัดแย้งในตัวเองหลายอย่าง เช่น เรื่องความสะอาด การทิ้งขยะของแต่ละครัวเรือนไม่เพียงแต่จะต้องทิ้งในสถานที่ที่กำหนดให้เท่านั้น แต่จะต้องแยกประเภทของขยะที่เผาได้และเผาไม่ได้ออกจากกันด้วย นอกจากนั้น ยังต้องทิ้งตามเวลาที่กำหนด เช่น ขยะเผาได้ทิ้งวันจันทร์ พุธ ศุกร์ก่อนเวลา ๙.๐๐ น. ขยะเผาไม่ได้ทิ้งวันเสาร์ก่อน ๑๐.๐๐น. ซึ่งทุกครัวเรือนก็ปฏิบัติตามเป็นอย่างดี ผู้คนจะบรรจุขยะลงในถุงขยะแบบที่เทศบาลกำหนด แล้วมัดปากถุงให้เรียบร้อย วางเรียงรายอย่างเป็นระเบียบรอให้รถขยะมาขนไป ดูแล้วน่าชื่นชมว่าคนญี่ปุ่นเป็นคนรักความสะอาดจริง ๆ แต่น่าแปลกว่า ถนนไฮเวย์ของญี่ปุ่น บนเกาะกลางถนนจะมีเศษขยะ ทั้งกระป๋องน้ำอัดลม ถุงพลาสติก ที่คนขับรถขว้างทิ้งเกลื่อนกลาดไปหมด มีจำนวนมากจนน่าตกใจ เลยทำให้ไม่ทราบว่าจริง ๆ แล้วคนญี่ปุ่นรักความสะอาดจริงหรือเปล่า?

จริยธรรมในสังคมญี่ปุ่น

หรือเรื่องของ ความซื่อสัตย์ เมื่อก้าวขึ้นรถแท็กซี่ที่ญี่ปุ่น วางใจได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะมีการโกงมิเตอร์ ซื้อของโดยไม่ต้องกลัวการโกงตาชั่ง ทุกอย่างเป็นไปอย่างเที่ยงตรง แต่จากการสำรวจพบว่า คนญี่ปุ่นกว่าครึ่งประเทศ โกงตั๋วรถไฟ และส่วนมากโกงเป็นประจำ บริษัทก่อสร้างเกือบทุกแห่งในญี่ปุ่น มีการให้สินบนเจ้าหน้าที่ในการประมูลราคา เลยตอบได้ยากจริง ๆ ว่าคนญี่ปุ่นเป็นคนซื่อสัตย์สุจริตจริงหรือไม่?

ภาพของคนญี่ปุ่น จึงเป็นภาพที่มัว ๆ ไม่ชัดเจนสำหรับคนต่างชาติ เมื่อพิจารณาตามที่เขาให้ข้อสังเกตมา อาตมภาพคิดว่าทุกอย่างเป็นไปเช่นนี้ ด้วยเหตุปัจจัย ๓ ประการ ที่มีผลต่อพฤติกรรมบวกหรือลบของคน ดังนี้  คือ

๑. ศีลธรรมประจำตน เป็นมโนธรรมประจำใจ ว่าสิ่งนี้ดีควรทำ สิ่งนี้ไม่ดีไม่ควรทำ ละอายใจ กลัวบาป จึงไม่ยอมทำความชั่ว แม้ไม่มีคนเห็นก็ตาม รักบุญ อยากได้บุญ จึงตั้งใจทำความดี ปัจจัยหลักที่น้อมนำใจคนให้เกิดมีศีลธรรมประจำตน คือ คำสอนในศาสนา

๒. ครอบครัว ความกตัญญูต่อพ่อแม่ รักท่าน อยากให้ท่านชื่นใจ ดีใจ จึงตั้งใจทำดี ขยันเรียน ขยันทำงาน กลัวท่านเสียใจ กลัวเสียชื่อเสียงวงศ์ตระกูล จึงไม่ยอมทำชั่ว มีครอบครัวเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งใจ

๓. ค่านิยมของสังคม ค่านิยมของคนในสังคมหนึ่ง ๆ มีความประพฤติปฏิบัติของคนในสังคมนั้น ๆ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม มีการอยู่รวมเป็นหมู่ ต้องการการยอมรับจากผู้อื่น ผู้ที่ปฏิบัติตัวตรงตามค่านิยมของสังคมก็จะได้รับการยกย่องชื่นชม ส่วนผู้ที่ปฏิบัติตัวแตกต่างจากค่านิยมของสังคมก็จะถูกสังคมลงโทษ ทั้งโดยทางตรง เช่น การลงโทษตามกฎหมาย หรือโดยทางอ้อม เช่น สังคมไม่ยอมรับ ถูกประณามหยามเหยียด เป็นต้น

ปัจจัยแต่ละอย่างนี้จะมีน้ำหนักมากน้อยต่างกันไปในสังคมแต่ละแห่ง ในญี่ปุ่นปัจจัยประการแรกคือ ศีลธรรมประจำตน กล่าวได้ว่าอ่อนแรงลงไปมาก เนื่องจากว่าเดิมประเทศญี่ปุ่นมีศาสนาพุทธเป็นศาสนาหลัก คำสอนในพระพุทธศาสนาได้รับการศึกษาและประพฤติปฏิบัติโดยทั่วไป

จริยธรรมในสังคมญี่ปุ่น

แต่เมื่อสมัยปฏิรูปเมจิ ประมาณร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ทหารขึ้นมามีบทบาทมาก โดยต้องการเชิดชูพระเจ้าจักรพรรดิ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของความจงรักภักดีและความรักชาติ จึงมีการประกาศให้ศาสนาชินโต ซึ่งถือว่าพระเจ้าจักรพรรดิเป็นเทพเจ้า เป็นศาสนาประจำชาติ และมีการทำลายพระพุทธศาสนาครั้งใหญ่ โรงเรียนที่ตั้งอยู่ในวัดถูกสั่งยกเลิก วัดหลายแห่งถูกยึด ห้ามเผยแผ่คำสอนพระพุทธศาสนาในโรงเรียน ส่วนศาสนาชินโตเองก็ไม่ได้เน้นคำสอนเรื่องบุญบาป แต่เน้นเรื่องของพิธีกรรมเป็นส่วนใหญ่ คล้าย ๆ ลัทธินับถือวิญญาณบรรพบุรุษ นับถือผีของบ้านเรา คนญี่ปุ่นจึงค่อย ๆ ห่างเหินจากความคิดเรื่องบุญบาปไปทีละน้อย สภาพเช่นนี้ดำเนินไปเกือบร้อยปี หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ แม้ศาสนาชินโตถูกยกเลิกจากการเป็นศาสนาประจำชาติ แต่วิชาศีลธรรมก็ไม่เคยถูกนำกลับเข้าไปไว้ในหลักสูตรการศึกษาของคนญี่ปุ่นอีกเลย ทำให้คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ในปัจจุบันไม่เชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ

ปัจจัยประการที่สองคือ เรื่องครอบครัว ความกตัญญูต่อพ่อแม่ถือได้ว่ายังมีอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง

ส่วนปัจจัยประการที่สามคือ ค่านิยมของสังคมนั้น ถือเป็นปัจจัยที่มีพลังมากที่สุดในสังคมญี่ปุ่น ตั้งแต่สมัยเอโดะ คนญี่ปุ่นทุกคนจะมีสังกัดที่แน่นอน ตัวอยู่หมู่บ้านไหนก็ต้องสังกัดหมู่บ้านนั้น จะโยกย้ายตามใจชอบไม่ได้ ถ้าใครทำผิดจนถูกขับออกจากหมู่บ้านแล้ว ก็หมายความว่าไม่มีที่อยู่ และเข้าไปอยู่หมู่บ้านอื่นก็ไม่มีใครเขารับ เพราะคนเขามีจำนวนมากอยู่แล้ว ต้องกลายเป็นคนเร่ร่อนพเนจร คนทุกคนจึงต้องพยายามปฏิบัติตนให้อยู่ในกรอบของสังคม แม้ปัจจุบันสังคมของญี่ปุ่นก็ยังมีพลังมาก เมื่อมีใครทำความผิดสร้างความเดือดร้อนให้กับสังคมแล้ว ผู้ที่ลำบากจะไม่ใช่ผู้ทำความผิดคนเดียวเท่านั้น แต่หมายถึงสมาชิกในครอบครัวทั้งหมด เช่น ลูกไปโรงเรียนอาจถูกรังแก ทุกคนในบ้านไปไหนก็ไม่มีใครคบหาคุยด้วย ถูกมองด้วยสายตาแปลก ๆ เรียกว่าอยู่กันไม่ได้ ต้องย้ายบ้านหนีกันทีเดียว คนญี่ปุ่นทุกคนจึงต้องระมัดระวังตนเองอยู่ในกรอบของสังคมมาก

จริยธรรมในสังคมญี่ปุ่น

นี่คือคำตอบของลักษณะขัดแย้งกันในตัวเองของคนญี่ปุ่นที่กล่าวไว้ข้างต้น เขามักทิ้งขยะเป็นที่เป็นเวลาเมื่อตอนอยู่ที่บ้าน เพราะไม่เช่นนั้นเพื่อนบ้านจะต่อว่าเอาได้ ตัวเองก็จะร้อนใจ แต่พออยู่ในรถแล้ว ทิ้งขยะออกมาบนถนนก็คิดว่าไม่เป็นไร เพราะไม่มีใครรู้ ในกรณีของความซื่อสัตย์… ในการค้าขายให้ซื่อสัตย์ไว้ ไม่เช่นนั้น ถ้าเขาจับได้ ตัวจะเดือดร้อนเสียชื่อเสียง แต่โกงตั๋วรถไฟได้ไม่เป็นไร เพราะมีวิธีโกงที่ไม่มีทางจับได้ คนรอข้ามถนนถ้ายังไฟเขียวอยู่  แม้ไม่มีรถก็ไม่ข้าม เพราะคนอื่นจะว่าเอา แต่ถ้ามีใครสักคนสองคนเดินข้ามนำไปก่อน คนที่เหลือก็พร้อมเดินตามไปเป็นพรวนเหมือนถูกสะกดจิตเพราะใคร ๆ เขาก็ข้ามกัน

ลักษณะที่ทำอะไรหรือไม่ทำอะไรเพราะกลัวคนอื่นว่า ไม่ได้เกิดจากศีลธรรมประจำใจที่แท้จริง แต่ถูกสังคมบีบบังคับให้ทำ ทำให้คนญี่ปุ่นมีความเครียด และแน่นอนว่า เมื่อใดที่สังคมมีแนวโน้มที่ค่านิยมที่ผิด นับว่าเป็นอันตรายมาก เช่น ค่านิยมการรุกรานต่อเพื่อนบ้านในสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ และ ศีลธรรมประจำใจของคนญี่ปุ่น ถ้าไม่ได้รับการฟื้นฟูขึ้นโดยเร็วแล้ว จะเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต

ประเทศไทยของเรานั้น ปัจจัยทั้ง ๓ ประการ มีอยู่ครบ แต่มีอย่างกะพร่องกะแพร่งไม่ค่อยสมบูรณ์  จึงเป็นหน้าที่ที่พวกเราชาวไทยทุกคนจะต้องช่วยกันเสริมสร้างให้สมบูรณ์ขึ้น เพื่อให้สังคมไทยของเราเป็นสังคมที่น่าอยู่ เป็นสังคมตัวอย่างของชาวโลก ซึ่งไม่ใช่สิ่งเหลือวิสัยเลย หากเราช่วยทำกันจริงจัง

โลกของเราเคยมี มหาอำนาจทางทหาร มหาอำนาจทางเทคโนโลยี และมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ แต่โลกปัจจุบันที่ดูเล็กลงไปทุกที ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสารการโทรคมนาคม

และกระแสของโลกาภิวัตน์ ชาวโลกจะค่อย ๆ พบว่า การพัฒนาทางวัตถุเริ่มมาถึงทางตัน ดังนั้น “ศีลธรรม” การรู้จักอยู่อย่างพึ่งพาเกื้อกูลกันระหว่างชาวโลก สัตว์ทั้งหลายและธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุด เพื่อให้มนุษยชาติดำรงอยู่ต่อไปได้อย่างมีความสุข

ชาวโลกจะเรียกร้องมหาอำนาจทางศีลธรรม และประเทศไทยเรามีศักยภาพสูงสุดในการเป็นผู้นำทางศีลธรรม ด้วยพื้นฐานจิตใจของเราชาวไทย ด้วยภูมิปัญญาที่มีอยู่อย่างพร้อมมูลในคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนา ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

———————————————————————————————
จากหนังสือ “ข้อคิดจากรอบตัว” พระมหา ดร.สมชาย ฐานวุฑโฒ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *