ช่องว่างระหว่างวัย

  • by

ช่องว่างระหว่างวัย

คนเราวัยต่างกัน ประสบการณ์ชีวิตก็ต่างกัน สิ่งแวดล้อมที่เติบโตมาแต่ละช่วงก็ต่างกัน แน่นอนว่า ความคิดความเห็น ความชอบ รสนิยมต่าง ๆ ก็ย่อมต้องมีความแตกต่างกันบ้างเป็นของธรรมดา เรียกว่าGeneration Gab หรือ ช่องว่างระหว่างวัย

          เมื่อตอนอาตมาไปญี่ปุ่น เคยมีคนญี่ปุ่นมาคุยด้วย เขาบอกว่า เดี๋ยวนี้ญี่ปุ่นเองแบ่งช่วงชั้นแต่ละวัน เป็น 3 ปีนะ คือเขา รู้สึกว่ามันไม่เหมือนเก่าที่คือ 10 ปี ตอนนี้ห่างเพียงแค่ 3 ปีก็เหมือนคนละรุ่นกันแล้ว ชักจะคุยกันไม่ค่อยรู้เรื่อง เพราะว่าสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนเร็วมากเลย นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ว่าอยากให้พวกเราเองสังเกตอีกอย่างหนึ่งว่า มีสังคมอีกสังคมหนึ่งที่มีลักษณะพิเศษ คือ สังคมของสงฆ์ ธรรมทายาทบวชแต่ละปี อย่างในช่วงพรรษา ผู้ที่มาบวชมีตั้งแต่อายุ 20 จนถึง 60,  70  ก็มี โดยวัยต่างกันตั้ง 40  50 ปี แต่ว่าทางพระเราเองถือว่าพอมาบวชแล้ว อายุทางโลกลบหมดเลย มาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่หลังจากบวชแล้ว เพราะฉะนั้นจะอายุ 20 ก็ตาม 30 , 40  , 50 ,  60   หรือแม้ 70 ก็ตาม ก็ถือว่ามีอายุทางธรรมเท่ากัน คือเริ่มต้นนับปีที่ 1 เหมือนกัน อายุอย่างนี้จะไม่เกิดช่องว่างระหว่างวัยมากมายเลยหรือ? มันหลากหลายยิ่งกว่าบ้านต่าง ๆ เสียอีก ไม่ใช่ห่างกันแค่ 10  – 20  ปี นี่มันต่างกันตั้ง 40 – 50 ปี ปรากฏว่าก็อยู่กันได้ดีนะความคิดความแตกต่างระหว่างพระวัย 20 กับวัย 50 , 60 , 70  มันก็ต้องมีบ้างเป็นของธรรมดา แต่โดยเปรียบเทียบกันแล้วก็ไม่ได้ใหญ่โตอะไร  เล็ก ๆ น้อย ๆ เพราะพระทุกรูปมีกิจวัตรและกิจกรรมเหมือนกัน มีจุดร่วมเดียวกันคือการประพฤติปฏิบัติธรรม การศึกษาพระธรรมวินัย ตรงนี้จะให้คำตอบเราเองหลายอย่างทีเดียวว่า วิธีการแก้ปัญหาช่องว่างระหว่างวัย จะในครอบครัว หรือในสังคมที่ทำงานก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เราเองจะต้องใส่ใจก็คือว่า จะต้องสร้าง ”กิจกรรมร่วม” ถ้าในบ้านเดียวกันพ่อไปทาง แม่ไปทาง ลูกไปอีกทาง ไม่ได้มีกิจกรรมอะไรร่วมกันเลย  ไปคนละทางที่ตนชอบ มันก็จะต้องเกิดช่องว่างขึ้นแน่ ๆ บางคราวเจอหน้ากัน อยากจะแสดงความรักที่มีต่อลูกก็ไม่รู้จะแสดงยังไง เกิดอาการขัดเขิน ก็จะยิ่งทำให้ห่างกันไปอีก

          เพราะฉะนั้นจะต้องสร้างกิจกรรมร่วมให้เกิดขึ้น แล้วกิจกรรมร่วมที่ดีที่สุดเลย ก็คือ การมาวัดปฏิบัติธรรม ถ้าได้มาวัดด้วยกัน มาปฏิบัติธรรม นั่งธรรมมะ ฟังหลวงพ่อเทศน์สอน มาร่วมงานบุญต่าง ๆ ถึงคราวคุยกัน จะเป็นเด็ก หรือผู้ใหญ่ก็จะมีเรื่องคุยประเด็นเดียวกันได้ คือเรื่องของบุญกุศล เรื่องของธรรมะ ซึ่งเป็นเรื่องที่ข้ามพ้นวัย ข้ามพ้นกาลเวลา ทันสมัยเสมอ แล้วยิ่งพูดยิ่งคุยใจก็ยิ่งผ่องใสอยู่ในบุญกุศล ใจของคนในครอบครัวทุกคนก็จะ เป็นหนึ่งเดียวกันทำนองเดียวกัน  ถ้าในที่ทำงานชวนกันมาวัดก็จะมีประเด็นในการพูดคุยเหมือนกัน จะหลอมรวม ทัศนคติทุกคนเข้าด้วยกัน แล้วช่องว่างระหว่างวัยจะหายไปอย่างไม่รู้ตัว บ้านก็อบอุ่น ที่ทำงานก็สงบร่มเย็น ทุกอย่างจะประสานกันได้ดีขึ้น กิจกรรมร่วมคือการปฏิบัติธรรมมาวัด เป็นสิ่งที่ช่วยได้มาก ๆ เลย ขอให้ลองดู

          อนึ่งในการตัดสินเรื่องต่าง ๆ ของคนเราว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย จะชอบหรือไม่ชอบ จะเอาหรือไม่เอา จะประกอบด้วย 2 อย่างหลัก คือ เหตุผล และ อารมณ์ ในการตัดสินเรื่องต่าง ๆ เพราะฉะนั้นเราเองเวลาเจอคนที่วัยต่างกัน หรือแม้บางทีอาจจะเป็นวัยใกล้เคียงกัน แต่รสนิยมก็อาจจะต่างกันได้ ให้เราอย่าเพิ่งไปด่วนตัดสินว่า ไม่ชอบคนนี้เลย หรือไม่เข้าใจการกระทำของเรา อย่าเพิ่งไปสรุปว่าเขาเป็นอย่างไร แต่ว่าให้พิจารณาดูว่า สิ่งที่เขาทำแต่ละเรื่องนั้นเป็นเรื่องของความถูก ความผิด ดี ชั่ว บุญ บาป หรือเป็นเรื่องของความชอบความเคยชิน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ว่าถูกหรือผิด เป็นเรื่องที่ว่าแต่ละคนชอบอะไร เช่นบางคนอาจจะอยากไปเล่นกีฬา บางคนชอบอ่านหนังสือ บางคนชอบฟังเพลง มันเป็นเรื่องความชอบแต่ละคน มันไม่ใช่เครื่องวัดถูกผิดดีชั่วอะไร ถ้าเรื่องถูกผิดดีชั่ว สิ่งไหนไม่ถูกสิ่งไหนเป็นเรื่องบาปเราต้องปฏิเสธ ถ้าเกิดเป็นคนใกล้ชิดก็ต้องหาทางสอน ขณะเดียวกันสิ่งไหนเป็นความดีเป็นบุญกุศลก็ชื่นชมไป แต่ถ้าสิ่งไหนเป็นเรื่องของความชอบส่วนตัว เราก็ควรไม่ก้าวล่วง ไม่เอาความชอบของเราเองไปครอบให้กับใคร

          ซึ่งถ้ารู้จักแยกแยะอย่างนี้ได้ถูก เราจะวางบทบาทเราได้ถูกต้อง จะเห็นทุกอย่างกระจ่างขึ้น แล้วก็จะเข้าใจคน คนเรานี่แปลกนะ พอเราเข้าใจคน เขาก็จะเข้าใจเรา ช่องว่างระหว่างวัยก็หดแคบลงและอาจมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน การที่เรา จะเข้าใจในสิ่งเหล่านี้ได้ เราจะต้องหมั่นฝึกเรื่องการไตร่ตรองเรื่องเหตุของผล อย่างพระเดชพระคุณหลวงพ่อทัตตชีโวท่านจะย้ำกับลูกศิษย์ลูกหา บ่อยๆว่า เห็นอะไรฟังอะไรแล้ว ให้ตั้งคำถามบ่อย ๆ นะว่า why? คือทำไมมันถึงเป็นอย่างนั้น แล้วหมั่นขบคิดหาคำตอบ เราจะเห็นทุกอย่างชัดเจนขึ้น เป็นคนมีเหตุมีผลมากขึ้น ถึงคราวคนอื่น ถ้าเกิดเขาไม่เข้าใจที่เราถาม เขาถามมาเราตอบได้ว่าทำไมเราถึงทำอย่างนี้ เรามีเหตุมีผลอย่างไร หรือถ้าเกิดเราเห็นคนอื่นทำไม่ถูก เห็นเช่นลูกทำไม่ถูก เราก็สามารถสอนลูกได้ว่า อย่างนี้ไม่ควรทำนะ เพราะว่ามันจะเกิดผลเสียยังไง อันไหนเขาทำดีเราก็ชื่นชม ถ้าเราฝึกเป็นคนมีเหตุมีผล แยกแยะได้ชัดเจนอย่างนี้ เราจะเป็นผู้ที่สามารถให้คำแนะนำ แล้วก็สอนคนอื่นได้ ตอบคำถามคนอื่นได้ถึงพฤติกรรมของตัวเราเอง จะปรับจะแก้อะไรเขาก็ให้เหตุผลได้ จะไม่ใช่การใช้อำนาจไปข่ม ฉันเป็นพ่อนะ ฉันเป็นแม่นะ เธอต้องฟังอย่างเดียวห้ามเถียง เด็กบางคนไม่กล้าเถียง แต่ในใจก็ต่อต้านก็ยิ่งจะเกิดช่องว่างระหว่างวัยเข้าไปใหญ่

          มนุษย์เป็นสัตว์เหตุผล ถ้าคนอื่นมาติดต่อกับเราแล้วมีเหตุผลให้ เราก็มีแนวโน้มที่จะยอมรับ เพราะฉะนั้นจงฝึกไว้ไม่มีคำว่าสายเกินไป แล้วพวกเราเองที่เป็นชาวพุทธนี่โชคดี เพราะว่าพระพุทธศาสนา เป็นศาสนาที่วางอยู่บนพื้นฐานเหตุแล้วก็ผลที่สมบูรณ์ด้วย ใครหมั่นศึกษาหลักธรรมอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้เราเองหู ตากว้างขวาง เป็นคนที่มีความคิดเป็นระบบ แล้วก็ไตร่ตรองเข้าใจเรื่องเหตุและผลได้ดีกว่า ส่วนเรื่องของอารมณ์ที่กล่าวถึงก็ถือว่า คนเรามักจะไม่มีเหตุผลเพียงอย่างเดียว แต่มักจะมีอารมณ์ประกอบเข้ามาด้วย เราก็ต้องพยายามทำความเข้าใจตรงนี้ ซึ่งมีข้อได้เปรียบอย่างหนึ่งคือว่า คนแต่ละคนจะเป็นใครก็แล้วแต่ กิเลสมี 3 ตัวเหมือนกัน คือ โลภ โกรธ หลง อาจจะมากน้อยต่างกันบ้าง เพราะฉะนั้นถ้าหากเราเองทำความเข้าใจในอารมณ์ความรู้สึกได้ดี ก็จะรู้จักตัวเองดี ใครรู้จักตัวเองดี คนนั้นจะรู้จักคนอื่นได้ดี ให้ลองเริ่มจากตัวของเราเอง หมั่นสังเกตตัวเอง ทำความเข้าใจตัวเอง จนกระทั่งชัดเจนเมื่อไร เราจะเข้าใจคนอื่น เห็นว่าแสดงท่าทางอย่างนี้พูดอย่างนี้แล้วรู้เลยว่าเขาคิดอะไร อย่างไร เปรียบเทียบก็เหมือนเราขับรถ ถ้าเรายังไม่เข้าใจรถ จะควบคุมหรือขับเคลื่อน รถมันลำบาก แต่พอเราเข้าใจเขาแล้วก็สบายๆ การขี่จักรยานก็เช่นกัน ตอนแรกจะเกร็ง ก็จะคว่ำได้ แต่พอตัวเองคล่อง ขึ้นไปโยกซ้ายทีโยกขวาทีไม่มีปัญหาปล่อยมือก็ยังได้ เพราะตัวเรากับจักรยานมันประสานกันอย่างดี จักรยานเอียงไปทางซ้าย เราก็โยกตัวไปทางขวา เราก็ได้สมดุลพอดี แม้จะมีล้อ 2 ล้อ ก็ไม่ลำบากยากเย็นอะไร คนเหมือนกัน พอเราเข้าใจคน  เรารู้จักอัธยาศัยของคนได้เมื่อไร เราก็จะมีปฏิสัมพันธ์กับคนทุกคนได้อย่างดี พอเหมาะพอสม เขามาอย่างนี้เราควรจะตอบสนองกลับไปอย่างไร ที่ทำให้มันรับกันได้ ตรงไหนเป็นเรื่องอารมณ์เราก็ปรับให้พอดี อันไหนเป็นเรื่องถูกผิด ดีชั่ว เราก็มีวิธีการในการที่จะแนะจะสอนได้อย่างเหมาะสมกับคนแต่ละคน ถ้าเป็นอย่างนี้ ช่องว่างระหว่างวัย Generation Gab มันหายไปไหนก็ไม่รู้ ไม่มีปัญหาอีกแล้ว จะเป็น พ่อ แม่ ลูก เด็ก ผู้ใหญ่ พี่น้อง เพื่อนร่วมงาน ทุกอย่างจะราบรื่นขึ้น

สรุปอีกครั้งว่าการแก้ช่องว่างระหว่างวัยก็คือศึกษาให้เข้าใจเรื่องเหตุเรื่องผล โดยเริ่มจากหลักธรรมในพระพุทธศาสนาของเรา แล้วศึกษาให้เข้าใจอารมณ์ของคน โดยเริ่มต้นจากการมีสติ หมั่นสังเกตตัวเองให้เข้าใจตัวเอง แล้วจากนั้นให้สร้างกิจกรรมร่วมของในทุกกลุ่มชุมชน จะในครอบครัวก็ตาม ที่ทำงานก็ตาม คือการมาวัด การประพฤติปฏิบัติธรรม ศึกษาธรรมะ ให้ทุกคนมีประเด็นสนทนา ประเด็นความสนใจที่ร่วมกัน เหมือนกัน อย่างนี้แล้ว ทุกสังคมจะเล็กจะใหญ่ก็ตาม จะไม่มีช่องว่างอีกเลย

———————————————————————————————–
ที่มา : หนังสือทันโลกทันธรรม โดย พระมหาดร.สมชาย ฐานวุฑฺโฒ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *