มีชาวอเมริกันคนหนึ่ง ชื่อนายสตีเฟ่น โควี่ ได้เขียนหนังสือเรื่อง อุปนิสัย 7 ประการ เพื่อการพัฒนาสู่ความเป็นผู้มีประสิทธิผลสูง เป็นที่ฮือฮามาก เป็นหนังสือขายดีที่สุดในโลกในช่วงนั้น ได้รับการแปลสู่ภาษาต่าง ๆ มากมาย จนกระทั่งนายสตีเฟ่น โควี่ ได้รับยกย่อง ว่าเป็น 1 ใน 25 ผู้มีอิทธิพลสูงสุดของโลก ในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา
หนังสือที่เขาเขียนส่งผลสะเทือนอย่างกว้างขวาง สังคมอเมริกันถึงกับตะลึงงันเพราะคิดไม่ถึงว่าจะมีแง่มุมในการพัฒนาตัวเองที่ดีอย่างนี้อยู่ ซึ่งในภายหลังนายสตีเฟ่น โควี่ ก็ออกมาเปิดเผยว่า สิ่งที่เขียนไปนั้น แท้จริงแล้วหลักการใหญ่เขาไม่ได้คิดเอง เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ยอมเฉลยมาชัดๆ ว่าหลักการนั้นตนเอามาจากไหน ต่อมาเขาก็เขียนหนังสือเพิ่มอีกบทหนึ่งคืออุปนิสัยประการที่ 8 เนื้อหาสาระก็ยิ่งชัดเจนขึ้นไปอีกว่า สอดคล้องกับหลักคำสอนในพระพุทธศาสนามาก แต่ที่นายสตีเฟ่น โควี่ ไม่กล่าวออกมาชัด ๆ ก็อาจจะเป็นไปได้ว่า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดแรงต้านจากผู้ที่ไม่มีความเข้าใจในพระพุทธศาสนา และการนำเสนอว่าเป็นเนื้อหากลาง ๆ ไม่เกี่ยวกับศาสนาโดยตรง คนทั่วไปจะเปิดรับได้ง่ายกว่า แม้จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า หลักการใหญ่ของหนังสือเล่มนี้นำมาจากคำสอนในพระพุทธศาสนา
เราลองมาดูกันว่า อุปนิสัยที่ช่วยพัฒนาตัวเราไปสู่ความเป็นผู้มีประสิทธิผลสูงนี้ ที่สำคัญมีอะไรบ้าง อาตมภาพจะไม่นำเนื้อหาในหนังสือที่นายสตีเฟ่นเขียนมาขยายความทีละข้อ เพราะจะใช้เวลามาก แต่จะศึกษาจากตัวอย่างในพระพุทธศาสนาโดยตรง
ผู้ที่มีประสิทธิผลสูงสุดในโลก คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ไม่มีใครอีกแล้วในโลกที่สามารถปราบกิเลสในตัวเองได้หมด แล้วก็ช่วยโปรดสรรพสัตว์ได้เหมือนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชาวโลกทั่วไปจะมีประสิทธิผลสูงเพียงไรก็ตามส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องของประโยชน์ในชาตินี้ คือทำให้ตั้งเนื้อตั้งตัวได้ ที่ดีขึ้นมาหน่อยก็คือได้ประโยชน์ชาติหน้า ได้สร้างบุญสร้างกุศล ละโลกแล้วไปสู่สุคติโลกสวรรค์ แต่ที่จะถึงประโยชน์อย่างยิ่ง คือปราบกิเลสในตัวได้หมดด้วยตัวของตัวเอง อีกทั้งสามารถโปรดสรรพสัตว์ได้ ก็มีแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น
เส้นทางในการพัฒนาตนเองของพระองค์ เริ่มจากพระชาติแรกที่พระองค์เริ่มตั้งความปรารถนาว่า ต่อไปภายหน้าจะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง เรื่องมีอยู่ว่า ในพระชาตินั้นพระองค์เป็นพ่อค้าลงเรือสำเภาไปค้าขายต่างเมือง โดยได้พาแม่ไปด้วย เพราะท่านมีอายุมากแล้ว ครั้นไปถึงกลางทะเลเกิดพายุ สำเภาล่ม ผู้คนทั้งหลายต่างก็จมน้ำตาย แต่พระองค์ไม่ทรงท้อถอย แบกแม่ขึ้นหลัง แล้วแหวกว่ายไปกลางมหาสมุทรถึง 7 วัน 7 คืน ในระหว่างลอยคออยู่กลางมหาสมุทรนั่นเองพระองค์ทรงพิจารณาเห็นว่าชีวิตนี้เป็นทุกข์ ต้องมีภัยต่าง ๆ สารพัด ทำอย่างไรเราจะสามารถพ้นจากกองทุกข์
ทั้งหลายนี้ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดถาวรและเมื่อพ้นแล้วเราจะไม่พ้นทุกข์เพียงคนเดียว แต่จะโปรดสรรพสัตว์ทั้งหลายให้พ้นทุกข์ตามไปด้วย พระองค์ทรงเริ่มตั้งความปรารถนาพุทธภูมิขณะลอยคออยู่กลางมหาสมุทรนั่นเอง
หลังจากว่ายน้ำข้ามทะเล 7 วัน 7 คืน ในที่สุดพระองค์ก็สามารถถึงฝั่งได้ จากนั้นพระองค์ก็ตั้งใจสร้างความดี โดยพิจารณาว่าการที่พระองค์จะสามารถพ้นจากกองทุกข์ได้จริง จะต้องทำอะไรบ้างเมื่อทรงสำรวจอย่างถี่ถ้วน ก็ได้ข้อสรุปออกมาว่า พระองค์ต้องสร้างบารมี 10 ทัศ ทั้งทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยะบารมี ขันติบารมี สัจจะบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมีและอุเบกขาบารมี แล้วพระองค์ก็ตั้งใจสร้างบารมีเหล่านี้อย่างเต็มที่สะสมบุญบารมีมากเข้า ๆ อุปสรรคมีเท่าใด ไม่ยอมย่อท้อเลย เดินหน้าบุกบั่นฟันฝ่าไป สุดท้ายก็สามารถตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ใช้เวลาสร้างบารมีทั้งหมดรวมเบ็ดเสร็จ แล้วถึง 20 อสงไขย กับแสนมหากัป นานมากจนนับไม่ถ้วน
จากประวัติโดยย่อของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ เราจะเห็นความจริงหลายอย่างที่เอามาใช้ในการฝึกตัวของเราได้
ประการแรกคือ จุดเริ่มต้นของความเป็นผู้มีประสิทธิผลสูง คือการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน
เหมือนอย่างพระองค์ทรงปักธงมั่นเลยว่าจะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคต เมื่อปักธงเป้าหมายไว้ชัดเจน ทุกอย่างก็มุ่งไปสู่ตรงนั้น
เราต้องกล้าตั้งเป้าหมาย อย่าไปรอให้พร้อมก่อนแล้วค่อยตั้ง เพราะถ้ารอให้พร้อม บางทีทั้งชาติอาจไม่ได้ตั้งเลย
ดูอย่างพระพุทธองค์ทรงตั้งเป้าหมายพุทธภูมิ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุด ยากยิ่งกว่าเป้าหมายใด ๆ ที่คนทั้งโลกเคยตั้งเอาไว้ ถามว่าท่านตั้งตอนไหน ตอนลอยคออยู่กลางมหาสมุทรมา 7 วัน 7 คืน ข้าวก็ไม่มีตกถึงท้อง แผ่นดินจะเหยียบยังไม่มีเลย ลอยคออยู่ถ้าเกิดท้อรามือเมื่อไร จมน้ำตายเดี๋ยวนั้นเลย ต้นทุนที่มีถือว่าต่ำที่สุด ความพร้อมมีน้อยที่สุด แต่ท่านตั้งเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ที่สุด
เราทุกคนขณะนี้อย่างน้อยเรามีแผ่นดินยืน ต้นทุนเราดีกว่าพระองค์มากมาย เป้าหมายใด ๆ ที่เราจะตั้งขึ้นไม่มีอะไรที่ยากเกินกว่าจะไปถึงถ้าหากเอาจริง ดังนั้นต้องกล้าที่จะตั้งเป้าหมาย และต้องเป็นเป้าหมายที่ดีเป็นไปในทางสร้างสรรค์ อย่าไปตั้งเป้าหมายจะเป็นโจรปล้นเก่งที่สุด โกงเก่งที่สุดอย่างนั้นใช้ไม่ได้ ต้องตั้งเป้าหมายที่เป็นบุญเป็นกุศล เป็นประโยชน์ทั้งชาตินี้ชาติหน้าและประโยชน์อย่างยิ่งถึงจะใช้ได้
มีตัวอย่างในยุคปัจจุบันที่ใกล้ตัวขึ้นอีกนิด คือนายบิล คลินตัน อดีตประธานาธิบดีของประเทศสหรัฐอเมริกา เขาเกิดในครอบครัวที่ไม่มีความพร้อมอะไร แม่แยกทางกับพ่อแล้วไปแต่งงานใหม่ พ่อเลี้ยงเป็นคนที่ชอบรังแกแม่ เมาเหล้ามาก็ตบตีแม่ของเขาเป็นประจำ คลินตันเติบโตมาในครอบครัวอย่างนี้แต่ไม่ยอมท้อ ตั้งใจฝึกตัวเองไป พอเข้าสู่วัยรุ่นก็ถามตัวเองว่า เป้าหมายชีวิตต้องการเป็นอะไร เมื่อสำรวจตรวจทานอย่างดี สุดท้ายได้คำตอบว่า ต้องการเป็นประธา-นาธิบดีของประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วก็พิจารณาต่ออีกว่า การจะเป็นประธานาธิบดีได้ต้องทำอะไรบ้าง ต้องเตรียมตัวอย่างไร พบคำตอบว่า จะต้องปูพื้นฐานทางการศึกษาก่อน จะได้มีโลกทัศน์ที่กว้างไกลมีความน่าเชื่อถือ หลังจากนั้นจะต้องไต่เต้าเส้นทางขึ้นไป ด้วยการฝึกอัธยาศัยตัวเองในการพบปะเจอะเจอผู้คน เพื่อสร้างพันธมิตรเพื่อนฝูงคนสนับสนุน พอสำรวจทุกอย่างดีแล้วก็เดินตามแผนนั้น ตั้งใจทุ่มเทกับการศึกษา แล้วก็ค่อย ๆ ไต่เต้าขึ้นไปตามเส้นทางการเมืองที่ตนเองวางแผนไว้ ทำไปทีละขั้น ๆ ในที่สุดก็สามารประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย เป็นประธานาธิบดีของประเทศสหรัฐอเมริกาได้ในขณะที่มีอายุเพียง 46 ปีเท่านั้น
หลักการตรงกัน ตั้งเป้าหมายให้ชัด สำรวจภารกิจว่าจะบรรลุเป้าหมายนั้นได้ต้องทำอะไรบ้าง จัดลำดับความสำคัญแล้วทำไปตามนั้น ต้องมีวินัยในตัวเอง ลงมือทำในสิ่งที่ตั้งใจไว้อย่างจริงจัง ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ไม่เถลไถลออกจากเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ เมื่อใดเผลอออกนอกเส้นทาง พอรู้ตัวต้องรีบตลบกลับทันที สุดท้ายก็จะประสบความสำเร็จได้
นี้เป็นหลักการใหญ่ ซึ่งพวกเราทุกคนสามารถทำได้ ลองสำรวจตัวเองสิว่า เป้าหมายในชีวิตเรา เราต้องการเป็นอะไร ถ้าให้ดีสำรวจทั้งเป้าหมายในชาตินี้ชาติหน้าและในระยะยาวต่อไปด้วยเสร็จแล้วสำรวจภารกิจว่าจะบรรลุเป้าหมายนั้นได้ต้องทำอะไรบ้าง แล้วก็เดินหน้า
พระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโย เมื่อท่านเพิ่งบวชได้พรรษาเดียว อายุ 25 ปีเศษ วันหนึ่งนั่งรถผ่านสนามม้า เห็นคนกำลังเชียร์ม้าเป็นหมื่น ๆ คน เสียงเฮว ๆ ๆ ท่านรำพึงออกมาว่า สักวันหนึ่งท่านจะสร้างวัด แล้วจะชวนคนมาสวดมนต์ปฏิบัติธรรมให้มากกว่าคนไปสนามม้า ใครฟังเข้าก็นึกขำ ว่าพระบวชใหม่เพิ่งจะพรรษาเดียว พูดคำใหญ่คำโต จะเอาคนมาวัดให้มากกว่าคนไปสนามม้าซึ่งมีเป็นหมื่นๆ คน จะเป็นไปได้อย่างไร เพราะโดยทั่วไปวัดไหนชวนคนมาวัดได้สักสิบสักร้อยคนก็เก่งแล้ว แต่ถึงวันนี้เราก็พบแล้วว่า ทุกอย่างเป็นจริงตามที่ท่านตั้งใจไว้ ท่านตั้งความปรารถนาว่า ต้องการเผยแผ่ธรรมะให้คนในสังคมไทยและสังคมโลกมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง เลิกอบายมุข ท่านก็ทำมาตลอด ท่านตั้งใจว่าจะต้องปักหลักพระพุทธศาสนาเผยแผ่เชิงรุกไปทั่วโลกให้ได้ ท่านก็ทำมาตลอด38 พรรษา ไม่ได้หยุดเลย งานพระศาสนาก็ค่อย ๆ ขยายกว้างออกไป
จนแม้ปัจจุบัน ท่านอายุย่าง 63 ปีแล้ว สุขภาพก็ไม่แข็งแรง แต่ภารกิจของท่านในแต่ละวันนั้นหนักมาก เช้าตื่นมาท่านก็นั่งสมาธิก่อน หลังฉันเช้าเสร็จก็สั่งงาน แล้วก็นั่งธรรมะทำสมาธิ พอฉันเพลเสร็จก็รับแขก พอตกบ่ายนั่งสมาธิต่อ แล้วก็บริหารขันธ์ ดูแลสุขภาพ เสร็จแล้วพอ 1 ทุ่มก็มาสอนธรรมะให้กับญาติโยม จนถึง 4 ทุ่มทุกคืนเลย หลัง 4 ทุ่มก็รับฟังการรายงานผลต่างๆ แล้วก็นั่งธรรมะอีก ใกล้เที่ยงคืนจึงได้พักจำวัด เป็นอย่างนี้ทุกวัน เรียกว่าเวลา 24 ชั่วโมงถูกบริหารจัดการอย่างดี ปีละ 365 วัน ไม่ได้หยุดเลย นั่นคือสิ่งที่ท่านทำ จึงเป็นคำตอบว่า ทำไมท่านจึงสามารถสร้างวัดพระธรรมกายขึ้นมาได้
จากจุดเริ่มต้นที่ท่านเพียงคนเดียว ปฏิบัติธรรมกับคุณยายอาจารย์ แล้วค่อย ๆ ชวนเพื่อน พี่ น้อง สาธุชนทั้งหลายมาปฏิบัติเพิ่มขึ้น ศิษยานุศิษย์ทั้งหลายได้เห็นปฏิปทาของท่าน เกิดความเลื่อมใสต้องการสร้างความฝันร่วมกับท่านให้ฝันนั้นเป็นจริง ปรารถนาจะเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปทั่วโลก ปรารถนาจะนำศีลธรรมกลับคืนมาสู่สังคมไทยและสังคมโลก ปรารถนาจะให้ชาวโลกอยู่ร่วมกันด้วยความสงบร่มเย็น ได้สร้างบุญสร้างบารมี ประพฤติปฏิบัติธรรมจนกระทั่งเข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน แล้วร่วมกันสร้างบารมีจนกระทั่งเข้าถึงที่สุดแห่งธรรม ทำให้ถึงที่สุดแห่งกองทุกข์ จึงมีผู้คนมาร่วมสร้างบารมีกับท่าน มาบวชเป็นพระ มาเป็นอุบาสกอุบาสิกา มาสนับสนุนงานพระพุทธศาสนา จากหนึ่งเป็นสิบ จากสิบเป็นร้อย ร้อยเป็นพัน พันเป็นหมื่น หมื่นเป็นแสน แล้วก็เป็นล้าน ๆ คนในปัจจุบัน ก็หลักการ
เดียวกัน คือเป้าหมายชัดเจน สำรวจภารกิจ แล้วก็ตั้งใจทำไปตามภารกิจ ตามลำดับความสำคัญอย่างจริงจัง แม้มีอุปสรรคใหญ่ท่วมฟ้า ก็ไม่นึกย่อท้อเลย
พระครูสมุห์สุวิทย์ สุวิชฺชาโภ ท่านสรุปไว้กระชับทีเดียวว่า
ฝันให้ไกล ฝันให้ถึง ถึงแค่ฝัน
ฝันให้ไกล ทำให้ถึง ถึงที่ฝัน
———————————————————————————————–
ที่มา : หนังสือทันโลกทันธรรม โดย พระมหาดร.สมชาย ฐานวุฑฺโฒ