ลมหายใจเข้าออกของพระพุทธศาสนา ตอนที่ 2

  • by

ศึกษาอดีต : ทำไมพระพุทธศาสนาถึงเสื่อมจากอินเดีย

ทั้งที่พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นในประเทศอินเดีย แต่ต่อมาในขณะที่พระพุทธศาสนาได้แผ่ขยายและเจริญรุ่งเรืองไปในดินแดนต่างๆ พระพุทธศาสนาในอินเดียเองกลับเสื่อมลง จนในยุคหนึ่งกล่าวได้ว่า แทบไม่มีชาวพุทธหลงเหลืออยู่เลย ที่เป็นเช่นนี้น่าจะมาจาก ๒ สาเหตุหลักต่อไปนี้คือ

๑. สาเหตุภายใน
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาซึ่งมีพระภิกษุสงฆ์เป็นผู้นำ โดยมีวัดเป็นศูนย์กลาง ในแง่การปฏิบัติเพื่อมุ่งสู่นิพพานนั้น พระภิกษุสงฆ์ คือผู้ที่สละโลก ตั้งใจปฏิบัติธรรมขัดเกลากิเลส ถือเป็นแบบอย่างของชาวพุทธโดยทั่วไป และในแง่การเผยแผ่ศาสนา พระภิกษุสงฆ์ก็อยู่ในฐานะของครูผู้สอน โดยสาธุชนทั่วไปเป็นผู้รับฟังคำสอนแล้วนำไปปฏิบัติ และทำบุญให้การสนับสนุนในการดำรงชีพและการปฏิบัติศาสนกิจของพระภิกษุสงฆ์

ในระยะแรกพระภิกษุสงฆ์ที่บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์มีอยู่เป็นจำนวนมาก ปฏิบัติตนเป็นผู้นำเป็นแบบอย่างแก่พระภิกษุสงฆ์อื่นในการเผยแผ่พระศาสนา พระภิกษุสงฆ์ส่วนใหญ่ต่างมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแน่นแฟ้น เป้าหมายการบวชในสมัยนั้น คือ บวชเพื่อมุ่งพระนิพพานกันจริงๆ ให้ความสำคัญทั้งพระปริยัติธรรมและปฏิบัติธรรมควบคู่กันไป นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เผยแผ่สั่งสอนประชาชนให้ปฏิบัติตามต่อไป พระพุทธศาสนาจึงเจริญรุ่งเรืองขึ้น อย่างรวดเร็ว

ต่อมาผู้ที่บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์มีน้อยลง ในหมู่พระภิกษุสงฆ์ก็มีทั้งผู้ที่มีใจรัก มีความเชี่ยวชาญทางด้านพระปริยัติธรรม และผู้ที่เชี่ยวชาญในด้านธรรมปฏิบัติ แต่เนื่องจากการศึกษาพระปริยัติธรรมเป็นสิ่งที่สามารถวัดความได้ สามารถจัดการศึกษาเป็นระบบและให้วุฒิการศึกษาได้ ในขณะที่ธรรมปฏิบัตินั้นเป็นสิ่งที่รู้เฉพาะตนเป็นของละเอียด วัดได้ยาก และเนื่องจากพระภิกษุสงฆ์ผู้เชี่ยวชาญด้านธรรมปฏิบัติ มักมีใจเอียงไปในทางแสวงหาความสงบสงัด มักไม่ชอบการคลุกคลีด้วยหมู่

เมื่อเป็นเช่นนี้หลังจากเวลาผ่านไป พระภิกษุผู้เชี่ยวชาญด้านปริยัติธรรมจึงขึ้นมาเป็นผู้บริหารการปกครองคณะสงฆ์โดยปริยาย เมื่อผู้บริหารการคณะสงฆ์เป็นผู้เชี่ยวชาญทางพระปริยัติธรรม ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่ในการส่งเสริมการศึกษาของสงฆ์จะเน้นหนักในด้านพระปริยัติธรรมเป็นหลัก เพราะเป็นสิ่งที่คุ้นเคยและชำนาญ แม้จะเห็นความสำคัญของธรรมปฏิบัติแต่เมื่อตนไม่คุ้นเคยไม่มีความชำนาญ การสนับสนุนก็ทำได้ในขอบเขตหนึ่งเท่านั้น พระภิกษุสงฆ์รุ่นใหม่ๆ จึงมักได้รับการฝึกอบรมในด้านพระปริยัติธรรมเป็นหลัก ส่วนธรรมปฏิบัติก็ค่อยๆ ลดน้อยถอยลง

การศึกษาพระปริยัติธรรมนั้น ในยุคแรกๆ ก็ศึกษาเพื่อเน้น ให้เข้าใจในพุทธพจน์ คำสั่งสอนของพระสัมมาส้มพุทธเจ้า เพื่อนำมาใช้ในการประพฤติปฏิบัติ แต่ต่อมาเมื่อศึกษามากเข้าๆ ก็มีพระ ภิกษุสงฆ์ที่เป็นนักคิด นักทฤษฎีจำนวนหนึ่ง ทนการท้าทายจากนัก คิดนักปรัชญาของศาสนาอื่นๆ ไม่ได้ เมื่อถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องอภิปรัชญา เช่นโลกนี้โลกหน้าว่ามีจริงหรือไม่ จิตมีการรับได้อย่างไร โลกเป็นอยู่อย่างไร มีจริงหรือไม่ เป็นต้น จึงพยายามหาเหตุผลทาง ทฤษฎี ตามแนวคิดในทางพระพุทธศาสนาและใช้การให้เหตุผลทางตรรกศาสตร์มาอธิบายปัญหาเหล่านี้ ทั้งๆ ที่คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงพยากรณ์ เพราะถือว่าไม่เกิดประโยชน์ มีแต่จะเป็นเหตุให้ถกเถียงทะเลาะเบาะแว้งกัน ทรงอบรมสั่งสอนแต่สิ่งที่นำไปสู่การขัดเกลากิเลส มุ่งสู่พระนิพพาน ซึ่งเมื่อถึงจุดนั้นแล้วผู้ปฏิบัติก็ย่อมจะเข้าใจสิ่งเหล่านี้ได้เอง

หลักธรรมในพระพุทธศาสนาเมื่อปฏิบัติจนเข้าถึงแล้ว ผู้ปฏิบัติย่อมเห็นตรงกันเป็นภาวนามยปัญญา (ความรู้แจ้งที่เกิดจากความเห็นแจ้ง) แต่เมื่อพยายามพิสูจน์ด้วยความคิดทางตรรกศาสตร์ ด้วยจินตมยปัญญา (ความรู้คิด) ไม่ได้รู้แจ้งด้วยตนเองเพราะไม่เห็นแจ้ง ย่อมมีความคิดแตกต่างหลากหลาย ผลก็คือนักทฤษฎีของพระพุทธศาสนาเองก็มีความเห็นไม่ตรงกัน ทะเลาะถกเถียงกันเอง เกิดเป็นแนวคิดของสำนักต่างๆ และแตกตัวเป็นนิกายต่างๆ ในที่สุด มีนักทฤษฎีในพระพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงเกิดขึ้นจำนวนมาก เช่น นาคารชุน อสังคะ วสุพันธุ ทิคนาคะ ภาววิเวก ธรรมกีรติ ศานตรักษิตะ เป็นต้น

แนวคิดของพระนักทฤษฎีเหล่านี้มีความลึกซึ้งมาก จนแม้นักวิชาการตะวันตกปัจจุบันมาเห็นเข้ายังตื่นตะลึง แต่ผลที่เกิดก็คือ เกิดความขัดแย้งแตกแยกในหมู่ชาวพุทธ และพระพุทธศาสนาได้ กลายเป็นศาสนาที่มีหลักคำสอนสลับซับซ้อน จนชาวบ้านฟังไม่เข้าใจ ประหนึ่งว่าพระพุทธศาสนากลายเป็นศาสนาของพระภิกษุสงฆ์เท่านั้น แต่ก็มีพระภิกษุสงฆ์เพียงจำนวนน้อยที่รู้เรื่อง และก็ยังคิดเห็นไม่ตรงกันอีก ส่วนชาวพุทธทั่วไปกลายเป็นชาวพุทธแต่ในนาม ไปวัดทำบุญตามเทศกาลตามประเพณีเท่านั้น

ขณะเดียวกันมีพระภิกษุสงฆ์อีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีจำนวนมากกว่า ได้หันไปปฏิบัติตนตามใจชาวบ้านซึ่งต้องการพึ่งพาอำนาจลึกลับ สิ่งศักดิสิทธิ์ จึงมีการเล่นเครื่องรางของขลัง เวทมนตร์คาถาต่างๆ วัตรปฏิบัติย่อหย่อนลง จนถึงจุดหนึ่งเกิดเป็นนิกายตันตระ ซึ่งเลยเถิดไปถึงขนาดถือว่าการเสพกามเป็นหนทางสู่การตรัสรู้ธรรม การดื่มสุราเป็นสิ่งดี เป็นต้น

เมื่อเกิดความแตกแยกภายในพระพุทธศาสนา ทั้งในเรื่องของแนวคิดทฤษฎีที่ทะเลาะเบาะแว้งกันไม่จบสิ้น จนถึงการแตกเป็นกลุ่มเวทมนตร์คาถาซึ่งฉีกแนวทาง

๒. สาเหตุภายนอก
ในอินเดีย นอกจากพระพุทธศาสนาแล้วก็ยังมีศาสนาอื่นๆ อีกมาก ศาสนาพราหมณ์มีอิทธิพลมากที่สุด เมื่อพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองขึ้น คนหันมานับถือมาก ศาสนาพราหมณ์ก็ลดบทบาทลง ผู้นำในศาสนาพราหมณ์ก็พยายามหาทางดึงศาสนิกกลับคืนอยู่ตลอดเวลา มีการโจมตีพระพุทธศาสนาบ้าง พยายามหยิบยกเอาคำสอนของพระพุทธศาสนาหลายอย่างไปเป็นของตัวบ้าง ปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมเทพเจ้าที่นับถืออยู่บ้าง จนที่สุดได้กลายเป็นศาสนาฮินดู ดังตำราเรียนเรื่องศาสนา เมื่อกล่าวถึงศาสนาฮินดู ก็มักจะมีคำว่า พราหมณ์ควบคู่กันไป เสมอ

เมื่อถึงเวลาที่พระพุทธศาสนาเสื่อมลง เนื่องจากความแตกแยกภายในแล้ว ก็ได้มีการเปลี่ยนวิธีการจากการโจมตีพระพุทธ ศาสนา มาเป็นการผสมกลมกลืน โดยมีปราชญ์ใหญ่ชื่อ ศังกระ (ประมาณ พ.ศ. ๑๒๘๐) เป็นผู้นำในการปฏิรูปศาสนาฮินดู มีการเลียน แบบวัดในพระพุทธศาสนา สร้างที่พักนักบวชในศาสนาฮินดู เรียกว่า มถะ เป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่ศาสนาฮินดูขึ้นเป็นครั้งแรก ทั้งยัง มีการปรับเปลี่ยนอื่นๆ อีกมากมาย ถึงขนาดมีการปรับคำสอนบอก ว่าพระพุทธเจ้า คือองค์อวตารปางที่ ๙ ของพระวิษณุแล้วนับเอาผู้ที่เคารพนับถือพระพุทธเจ้าเข้าเป็นชาวฮินดูทั้งหมด ทางด้านของพระพุทธศาสนาเอง เมื่อมีปัญหาความแตกแยกภายในประกอบกับ ชาวพุทธโดยทั่วไปไม่มีความรู้ในพระธรรมอย่างถ่องแท้ เมื่อพบกับยุทธวิธีของศาสนาฮินดูเข้าเช่นนี้ ชาวพุทธก็ยิ่งสับสน แยกไม่ออกระหว่างพระพุทธศาสนากับศาสนาอื่น ทั้งที่เป็นชาวพุทธก็เคารพ นับถือ กราบไหว้พระพรหม เทพเจ้าต่างๆ เจ้าพ่อเจ้าแม่ต่างๆ ด้วย พระภิกษุสงฆ์เองบางส่วนก็หันไปเอาใจชาวบ้าน เห็นเขานับถือเทพต่างๆ เจ้าแม่ต่างๆ ก็ เอารูปปั้นของเทพเหล่านั้นมาไว้ในวัดให้ชาวบ้านกราบไหว้บูชา

ที่สุด ชาวบ้านจึงแยกไม่ออก คิดว่าพระพุทธศาสนากับศาสนาฮินดูก็คือสิ่งเดียวกัน ชาวพุทธแต่เดิมก็กลายเป็นชาวฮินดูไปค่อนตัวแล้ว และต่อมาเมื่อเจอเหตุกระทบครั้งใหญ่คือ ตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. ๑๖๐๐ กองทัพมุสลิมบุกเข้ายึดอินเดีย ไล่มาจากทางตอนเหนือและประกาศทำลายพระพุทธศาสนา เผาวัดวาอาราม ฆ่าพระภิกษุสงฆ์ ทั้งมีการให้รางวัลแก่ ผู้ที่ตัดศีรษะพระภิกษุสงฆ์มาส่งให้ พระภิกษุสงฆ์จึงต้องสึก มิฉะนั้นก็ต้องอพยพหลบหนีไป พระพุทธศาสนาซึ่งขณะนั้นมีแต่พระภิกษุสงฆ์จำนวนน้อยที่รู้จริงในคำสอนของพระพุทธศาสนา แต่ชาวพุทธทั่วไปนั้นขาดความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้อง ดังนั้นเมื่อพระภิกษุสงฆ์หมด พระพุทธศาสนาก็หมดจากประเทศอินเดียในที่สุด

น่าสนใจว่า ในขณะที่พระพุทธศาสนาหมดไปจากอินเดีย อย่างรวดเร็วภายใต้การปกครองของกษัตริย์มุสลิมนั้น ศาสนาฮินดูกลับสามารถรักษาสถานภาพการเป็นศาสนาของคนส่วนใหญ่ของ อินเดียอยู่ได้ตลอดระยะเวลา ๖๕๑ ปี ภายใต้การปกครองของมุสลิม ทั้งนี้เพราะศาสนาฮินดูได้เน้นให้ศาสนิกปฏิบัติตามคำสอนอย่างเคร่งครัด ศาสนิกจึงมีความผูกพันกับศาสนาตั้งแต่เกิดจนตาย ทั้ง พิธีกรรมในเวลาเกิด การเรียน การเป็นผู้ใหญ่ การแต่งงาน การมีบุตร การจาริกแสวงบุญ การตาย เทศกาลต่างๆ มีข้อกำหนดให้ศาสนิก ปฏิบัติในวาระโอกาสต่างๆ อย่างละเอียด ศาสนาจึงไม่ได้ฝากอยู่กับนักบวชเพียงอย่างเดียว แต่เป็นศาสนาที่ประกอบรวมอยู่ในวิถีชีวิตของชาวบ้านจึงเป็นเหตุให้ถูกทำลายได้ยาก

จากบทเรียนที่เกิดขึ้นในอินเดียดังกล่าว เราอาจสรุปได้ว่า ความมั่นคงของพระพุทธศาสนาจะต้องประกอบด้วยปัจจัยที่สำคัญคือ ชาวพุทธต้องเป็นชาวพุทธที่แท้จริง มีความรู้ ความเข้าใจในคำสอนของพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง โดยต้องศึกษาทั้งปริยัติ และปฏิบัติเพื่อให้เกิดปฏิเวธ คือผลของการปฏิบัติ นำหลักธรรมมาใช้ในการดำเนินชีวิตจริง และปัจจัยที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่งก็คือ ชาวพุทธจะต้องมีความสามัคคีกัน เว้นจากการให้ร้ายกัน พระพุทธศาสนาจึงจะมั่นคงอยู่ได้อย่างแท้จริง

สองกิจกรรมหลักค้ำพระพุทธศาสนาในประเทศไทย

การที่พระพุทธศาสนายังดำรงมั่นอยู่ได้ระดับหนึ่งในประเทศไทยนั้น นอกจากจะเป็นผลมาจากการทุ่มเททำงานอุทิศตนเพื่อ พระศาสนาของพระเถรานุเถระทั้งหลายในอดีต การอุปถัมภ์สนับสนุนอย่างใกล้ชิดจากสถาบันพระมหากษัตริย์ และภูมิปัญญา ความรักความหวงแหนในพระพุทธศาสนาของบรรพบุรุษไทยแล้ว ยังมีกิจกรรมสำคัญอีก ๒ ประการที่มีส่วนสำคัญยิ่งในการค้ำจุนพระพุทธศาสนาในประเทศไทย คือ

๑. ประเพณีการบวชระยะสั้นของชายไทย
ประเพณีการบวชระยะสั้นซึ่งริเริ่มโดยสถาบันพระมหากษัตริย์ นี้ มีส่วนสำคัญยิ่งที่ทำให้ชาวไทยเรามีความรู้สึกผูกพันในพระพุทธศาสนา มีความรู้สึกว่าพระรัตนตรัยเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว เพราะชายไทยส่วนใหญ่ก็เคยบวช เคยเป็นพระภิกษุสงฆ์ เป็นส่วนหนึ่งของพระรัตนตรัยมาแล้ว ฝ่ายหญิงแม้ไม่ได้บวชโดยตรง แต่ก็มีบิดา สามี พี่ชาย น้องชาย หรือบุตรได้เคยบวช ตนก็ได้อาศัยช่วงเวลานั้นทำบุญฟังเทศน์ปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่ มีความรู้สึกคุ้นเคยเคารพนับถือพระภิกษุสงฆ์ ไม่รู้สึกว่าพระภิกษุสงฆ์เป็นบุคคลที่แปลกประหลาดหรือเป็นสิ่งห่างไกล ซึ่งความรู้สึกเช่นนี้หาได้ยากในประเทศที่ไม่มีประเพณีการบวชอย่างไทยเรา แม้เป็นเมืองพุทธ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีไต้หวัน

ในปัจจุบัน สภาพสังคมเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ผู้คนมีภาระงานรัดตัวมากขึ้น ผู้ที่บวชอยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือน มีจำนวนน้อยลง บางท่านบวชระยะสั้นเพียง ๗ วัน ๑๐ วันก็มี จึงเป็นภารกิจสำคัญของสงฆ์อย่างหนึ่งว่า จะต้องทำให้ญาติโยมเห็นความสำคัญของการบวช บวชให้ได้ระยะเวลาที่นานขึ้น และจัดโครงการอบรมให้สอดคล้องกับสภาพบ้านเมือง เช่น การบรรพชาอุปสมบทหมู่ในช่วงปิดภาคฤดูร้อน สำหรับนักเรียน นักศึกษา เป็นต้น
อนึ่ง การจัดหลักสูตรให้การอบรมแก่ผู้มาบวชระยะสั้น ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลา ๗ วัน ๒ สัปดาห์ หรือ ๑ เดือนก็ตาม ก็เป็นสิ่ง สำคัญมาก จะต้องให้เขาบวชแล้วได้เรียนรู้หลักธรรม ได้ประโยชน์กลับไป ถ้าบวชแล้วไม่มีผู้อบรมสั่งสอนอาจกลายเป็นการก่อให้เขาเกิดความเข้าใจผิดคิดว่า พระพุทธศาสนาไม่มีสารประโยชน์อะไร

๒. การเรียนการสอนวิชาศีลธรรมในโรงเรียน
การศึกษาภาคบังคับเป็นสิ่งที่เด็กไทยเกือบทุกคนต้องผ่าน ดังนั้นการสอนวิชาศีลธรรมในโรงเรียนทำให้เด็กไทยมีความรู้พื้นฐานในพระพุทธศาสนาในระดับหนึ่ง ประเทศญี่ปุ่นหลังจากแพ้สงครามโลกครั้งที่ ๒ ถูกกองทหารอเมริกันสั่งให้ถอดถอนวิชาศาสนาออกจากโรงเรียนทั้งหมด ให้การเรียนศาสนาเป็นเรื่องที่แต่ละคนขวนขวายศึกษาเอาเองตามความสมัครใจ ผลก็คือ ปัจจุบันชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธแต่เพียงชื่อ ถามว่าเจ้าชายสิทธัตถะคือใครก็ไม่รู้จัก ศีล ๕ ก็ไม่รู้จัก อริยสัจ ๔ ก็ไม่รู้จัก เป็นชาวพุทธโดยที่ว่า เมื่อตายแล้วนิมนต์พระไปสวดศพเท่านั้น จนมีคำเรียกพระพุทธศาสนาในญี่ปุ่นว่า โซชิขิบุคเคียว แปลว่า พระพุทธศาสนางานศพ

ดังนั้น การเรียนการสอนวิชาพระพุทธศาสนาในโรงเรียนนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่เราชาวพุทธต้องหวงแหนช่วยกันดูแลรักษา อย่า ยอมให้ผู้ไม่ประสงค์ดีเพิกถอนออกไปได้เป็นอันขาด ไม่ว่าจะด้วยข้ออ้างใดๆ ก็ตาม

ขณะเดียวกันต้องช่วยกันพัฒนาหลักสูตร อุปกรณ์การเรียนการสอนให้ทันสมัย ทั้งสื่อต่างๆ เช่น แผ่นไส สไลด์ วิดีโอ หนังสือ จัดกิจกรรมเสริมการเรียนการสอน เช่น การสอบแช่งขันตอบปัญหาธรรมะ กระตุ้นให้เด็กตื่นตัวในการศึกษาธรรมะ ให้วิชาศีลธรรมเป็นวิชาที่สนุกน่าสนใจ มีประโยชน์ นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ได้จริงๆ และช่วยกันพัฒนาคุณภาพครูอาจารย์ผู้สอนวิชาศีลธรรม ให้มีความรู้ความสามารถและมีความประพฤติที่ดีเป็นแบบอย่างแก่ศิษย์ได้

ครูขาดนักเรียน นักเรียนขาดครู สองปัญหาที่ขัดแย้งในตัวเอง

ปัจจุบันโรงเรียนต่างๆ จำนวนมาก ขาดครูผู้มีความรู้มาสอนวิชาทางพุทธศาสนา ต้องขอให้ครูที่จบการศึกษาทางสาขาอื่น มาสอนพระพุทธศาสนา ซึ่งหลายท่านก็ทำด้วยใจรักด้วยความทุ่มเท และทำได้ดีอย่างน่าชมเชย แต่อีกจำนวนไม่น้อยเลยที่จำใจทำ สอนเพียงพอให้ผ่านไป ทำให้การเรียนการสอนไม่ได้ผลเท่าที่ควร เป็นเหตุผลหนึ่งที่มีผู้ยกมาอ้างเสมอเมื่อต้องการให้ถอดวิชาพระพุทธศาสนาออกไปจากระบบการศึกษาในโรงเรียน

นอกจากนี้วัดต่างๆ ในชนบทก็ขาดแคลนพระอาจารย์ผู้มีความรู้ความสามารถที่จะอบรมประชาชนจำนวนมาก แต่ในขณะ เดียวกันก็มีพระนักศึกษาที่จบการศึกษาพระปริยัติธรรม มีความรู้จำนวนไม่น้อยในตัวเมือง โดยเฉพาะในเมืองหลวง เมื่อเรียนจบแล้วไม่มีงานทำ จะสอนบาลี สอนวิชาทางพระพุทธศาสนาก็หานักเรียนไม่ค่อยได้ หรือมีผู้รับผิดชอบอยู่แล้วจึงไม่ได้ใช้วิชาความสามารถของตัวเต็มที่ ที่เบื่อลาสิกขาไปก็มาก

หากสามารถจัดระบบที่สนับสนุนให้พระนักศึกษาที่มีความรู้ ทางพระปริยัติธรรมออกไปทำงานในหัวเมือง โดยมีการประสานงานให้มีการสนับสนุนยกย่องให้กำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา สร้างแรงจูงใจในด้านต่างๆ ให้มากขึ้น ก็คงจะเป็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาไม่น้อย
ครั้งหนึ่งได้เคยพบพระอาจารย์รูปหนึ่งที่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี จบการศึกษานักธรรมเอก และเปรียญธรรมประโยค ชั้นต้น ได้ทุ่มเทสอนพระพุทธศาสนา แก่เยาวชนของชาติอย่างเต็มกำลัง รับเป็นครูสอนศีลธรรมถึง ๘ โรงเรียน ปัจจัยที่ได้มาจากกิจนิมนต์เกือบทั้งหมดก็ใช้ไปในการทำอุปกรณ์การสอนแก่เด็กๆ และทำมา ฃนานร่วมสิบปี เด็กทุกคนเคารพรักท่าน การเรียนวิชาศีลธรรมเป็นไปอย่างคึกคัก

ท่านบอกว่าที่ทำได้เพราะเจ้าอาวาส เจ้าคณะปกครองให้การสนับสนุน เป็นเรื่องที่น่ายินดีน่าอนุโมทนา สมควรที่จะเร่งขยาย งานในลักษณะนี้ให้กว้างขวางครอบคลุมไปทุกพื้นที่

ความขาดแคลนศาสนทายาท ปัญหาใหญ่ในอนาคตอันใกล้

พระภิกษุสงฆ์ที่บวชระยะยาวเป็นผู้สืบทอดอายุพระพุทธศาสนาในประเทศไทยปัจจุบัน ส่วนใหญ่มาจากผู้ที่บวชตั้งแต่อายุยังน้อย บรรพชาเป็นสามเณร ศึกษาพระปริยัติธรรม มีความซาบซึ้งในคำสอน เมื่อสำเร็จการศึกษาในชั้นต่างๆ แล้วก็ไม่ลาสิกขา บวชต่อเนื่องเรื่อยมา
แต่ปัจจุบันเมื่อทางราชการปรับการศึกษาภาคบังคับถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และมีนโยบายปรับจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย ในอนาคตอันใกล้ ผู้สำเร็จการศึกษาภาคบังคับนี้ก็จะมีอายุเกิน ๑๕ปี เป็นผู้ใหญ่พอจะไปทำงานยังที่ต่างๆ ได้ ผู้ที่จะมาบวชเป็นสามเณรก็จะลดน้อยลงอย่างมาก ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนศาสนทายาทอย่างมากในระยะยาว

มีบางท่านมองในอีกมุมหนึ่งว่า จะเป็นผลดีที่ทางคณะสงฆ์ จะได้ไม่ต้องทำหน้าที่สังคมสงเคราะห์อุปถัมภ์ให้การศึกษาแก่เด็กในชนบทที่ฐานะยากจนขาดโอกาสทางการศึกษาแล้วต้องมาบวชเป็นสามเณรอีกต่อไป ในทางตรงกันข้ามหากผู้มาบวชจะเป็นผู้มีศรัทธา จริงๆ ก็จะทำให้การอบรมเป็นไปได้อย่างเต็มที่ เมื่อเรียนจบแล้วโอกาสลาสิกขาก็จะน้อยลง

แต่ปัญหาใหญ่ก็คือว่า ทางคณะสงฆ์เองมีความพร้อมในการอบรมสั่งสอนประชาชน ทำให้ประชาชนเกิดศรัทธาออกบวชเป็นจำนวนมากพอที่จะรักษาวัด รักษาศีลธรรมของประชาชน และรักษาพระพุทธศาสนาให้มั่นคงได้แล้วหรือยัง?
หากดูตัวอย่างจากประเทศที่เป็นเมืองพุทธ มีการพัฒนาทาง เศรษฐกิจที่รุดหน้าไปก่อนไทยเรา และไม่มีประเพณีการบวชตั้งแต่ ยังเด็ก ปรากฏผลดังนี้
ประเทศไต้หวันมีพลเมือง ๒๑ ล้านคน เป็นชาวพุทธประมาณ ๘๐% ตกประมาณ ๑๖ ล้านคน มีนักบวชประมาณ ๑๐,๐๐๐ รูป และส่วนใหญ่ เป็นภิกษุณี สัดส่วนของนักบวชต่อพุทธศาสนิกชน คิดเป็น ๑ : ๑,๖๐๐

เกาหลีใต้มีประชากร ๔๕ ล้านคน เป็นชาวพุทธประมาณ ๒๐ ล้านคน มีภิกษุและภิกษุณีรวมประมาณ ๑๐,๐๐๐ รูป สัดส่วนของนักบวชต่อชาวพุทธ คิดเป็น ๑ : ๒,๐๐๐ (ในญี่ปุ่น พระภิกษุสงฆ์มีครอบครัวเกือบทั้งหมด เมื่อเจ้าอาวาสมรณภาพ พระลูกชายก็เป็นเจ้าอาวาสต่อ หากไม่มีลูกชายก็อาจเป็นพระลูกเขยหรือภรรยาเป็นเจ้าอาวาสแทน คนทั่วไปไม่มีสิทธิไปขอบวชตามวัดต่างๆ จึงไม่นับในกรณีนี้)

ปัจจุบันประเทศไทยมีพระภิกษุสามเณรประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ รูป มีประชากรประมาณ ๖๒ ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนพระภิกษุสามเณร ต่อชาวพุทธประมาณ ๑:๒๐๐ ขอให้ลองคิดดูว่า ในอนาคตหากจำนวนพระภิกษุสงฆ์ต่อพุทธศาสนิกชนไทยน้อยลงจนเหลือประมาณ ๑:๒,๐๐๐ พอๆ กับเกาหลี ไต้หวันแล้วละก็ ทั้งประเทศไทยจะมีพระภิกษุสงฆ์เหลือเพียงประมาณ ๓๐,๐๐๐ รูปซึ่งเท่ากับ ๑ ใน ๑๐ ของปัจจุบัน ซึ่งวัดในปัจจุบันอาจกลายเป็นวัดร้างถึง ๘๐-๙๐% เมื่อเป็นเช่นนั้นอะไรจะเกิดขึ้น?

การวางแผนสร้างศาสนทายาทที่มีทั้งปริมาณและคุณภาพ จึงเป็นภารกิจสำคัญที่รออยู่ในขณะนี้
——————————————————————————
ที่มา : หนังสือ “ลมหายใจเข้าออกของพระพุทธศาสนา ” โดย พระมหาดร.สมชาย ฐานวุฑฺโฒ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *