มุมมองในนิกายมหายาน

  • by

เขียนโดย : พระมหาวุฒิชัย วุฑฺฒิชโย

“ดูก่อนอานนท์ บางทีพวกเธอจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ปาพจน์มีพระศาสดาล่วงแล้ว พระศาสดาของพวกเราไม่มี ข้อนี้พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ธรรมก็ดี วินัยก็ดีอันใดอันเราแสดงแล้ว ได้บัญญัติไว้แล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้นจักเป็นศาสดาแห่งพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา”¹

หลักคำสอน คือพระธรรมและวินัยนี้ได้ถูกถ่ายทอดรุ่นแล้วรุ่นเล่าจากอาจารย์สู่ศิษย์ เป็นระยะเวลากว่า ๒,๕๐๐ ปี ในแต่ละช่วงที่เกิดการถ่ายทอด พระพุทธศาสนาก็เริ่มมีการแบ่งแยกแตกออกเป็นหลายแขนงหลายนิกาย ทั้งนี้ในส่วนของหลักคำสอนก็เริ่มมีการแตกต่างกันออกไปเล็กน้อย เกิดความเป็นรูปแบบเฉพาะของนิกายของตน จนมีนิกายที่เกิดขึ้นในพระพุทธศาสนามากมายหลายนิกาย ในปัจจุบันได้มีการนับเป็นนิกายใหญ่ๆได้ ๒ นิกาย คือ นิกายเถรวาท และนิกายมหายาน นิกายเถรวาทนั้นเป็นนิกายที่ยังคงศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ไม่เปลี่ยนแปลง แต่นิกายมหายานได้มีการปรับปรุงแก้ไขข้อปฏิบัติ และหลักคำสอนในบางข้อ

บ่อเกิดของมหายาน²

ทั้งนี้ผู้เขียนได้ศึกษาก็พบว่า บ่อเกิดของมหายานนั้นมีหลักฐานที่มาคือ หลังจากพุทธศตวรรษที่ ๕ ไปแล้ว ได้เกิดมีขบวนการใหม่ในพุทธศาสนาขึ้นในอินเดีย ซึ่งเรียกตนเองว่ามหายาน ขบวนการนี้เกิดจากวิวัฒนาการอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะจากคณะสงฆ์นิกายมหาสังฆิกะ ผสมกับชาวพุทธคฤหัสถ์กลุ่มหนึ่ง ที่มีความเห็นพ้องกันว่าจะต้องปรับปรุงวิธีการเผยแผ่พุทธศาสนาเสียใหม่ มิฉะนั้นฐานะของชาวพุทธศาสนาก็จะทรุดโทรมลง ชาวพุทธคณะนี้จึงร่วมมือกันสร้างลัทธิมหายานขึ้น เพื่อฟื้นฟูพุทธศาสนา เพราะในเวลานั้นศาสนาพราหมณ์เจริญขึ้นหน้ามาก ลัทธิมหายานเป็นคู่แข่งอย่างสำคัญของพราหมณ์ คณาจารย์ฝ่ายมหายานได้ปรับปรุงเพิ่มเติมคติธรรมในพุทธศาสนาขึ้นหลายประการ เพื่อต่อสู้กับอิทธิพลของพราหมณ์ เพื่อทำให้พุทธศาสนาเข้าถึงหมู่ชนสามัญทั่วไป จะเห็นได้ว่า มหายาน เกิดขึ้นมาจากความปรารถนาดี ของคณาจารย์ผู้ต้องการปักหลักพระพุทธศาสนา และต้องการสืบทอดพระพุทธศาสนาไปให้ยาวนาน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *