เป้าหมายของชีวิต

  • by

         การจะทำงานสิ่งใดจะให้สำเร็จได้ ก็ต้องมีการตั้งเป้าไว้ก่อนว่าจะทำสิ่งใดแล้วจึงหาวิธีการเพื่อจะทำสิ่งนั้นให้สำเร็จ การเดินทางไปที่ใดก็จะต้องมีการตั้งจุดหมายไว้ก่อนว่าจะเดินทางไป ณ ที่ใด เพื่อจะได้เดินทางไปถึงจุดหมาย โดยไม่หลงทิศทาง เช่นเดียวกันชีวิตของมนุษย์เมื่อเกิดมาแล้ว ก็จะต้องรู้ว่าเป้าหมายของชีวิตของเราคืออะไร แล้วจึงหาวิธีการเดินทางไปเพื่อให้ถึงเป้าหมายนั้น

         เป้าหมายของคนทุกคนแบ่งได้เป็น ๓ ระดับ เป้าหมายแรก คือ เป้าหมายบนดิน ได้แก่การตั้งเป้าหมายชีวิตเพื่อประโยชน์ในชาตินี้ เป็นการตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องตั้งตัวตั้งฐานะให้ได้ ด้วยการประกอบอาชีพที่สุจริต ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดศีลธรรม จะเป็นอาชีพอะไรก็ตามแต่ความถนัดของแต่ละบุคคล จะเป็นนักธุรกิจ แพทย์ วิศวกร ชาวนา ชาวไร่ หรืออื่นๆ ได้ทั้งนั้น ขอแต่เพียงให้เป็นอาชีพสุจริตก็แล้วกัน เป้าหมายขั้นที่สอง คือ เป้าหมายบนฟ้า ได้แก่การตั้งเป้าหมายชีวิตเพื่อประโยชน์ในชาติหน้า เป็นการตั้งเป้าหมายชีวิตไว้ว่า นอกจากจะพยายามตั้งฐานะของตนให้ได้แล้ว ก็จะตั้งใจสร้างบุญกุศลอย่างเต็มที่ในทุกๆ โอกาสที่อำนวยให้เพื่อสะสมเป็นทุนเป็นเสบียงในภพชาติต่อไป เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายตายแล้วไม่สูญ ตราบใดที่ยังไม่หมดกิเลส ก็ยังต้องเกิดใหม่อีกอยู่ร่ำไป เป้าหมายขั้นที่สาม คือเป้าหมายเหนือฟ้า เพื่อเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ได้แก่ การปราบกิเลสให้หมดสิ้นแล้วเข้านิพพานตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเหล่าพระอรหันต์ทั้งหลาย จะได้มีแต่ความสุขอันเป็นอมตะตลอดไป ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป

         เป้าหมายทั้ง ๓ ระดับมีความสำคัญต่อชีวิต บุคคลที่ได้รู้และเข้าใจเป้าหมายทั้ง ๓ ประการ จะหาแนวทางที่จะเดินไปให้ถึงเป้าหมายนั้นได้ แต่ปกติของคนในโลกนี้มักจะรู้แต่เพียงการตั้งเป้าหมายในขั้นต้น คือเป้าหมายบนดินว่าตัวเองจะต้องเป็นอะไร จะต้องทำอะไร แต่ลืมที่จะรู้ว่าจริงๆ แล้ว ทุกๆ ชีวิตยังมีเป้าหมายอีก ๒ ขั้นที่ต้องรู้ และจะต้องไปให้ถึง เพราะชีวิตทุกๆ ชีวิตไม่ได้เกิดเพียงชาตินี้ชาติเดียว แต่จะต้องเวียนตายเวียนเกิดนับภพนับชาติไม่ถ้วน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้เรียกเส้นทางของชีวิตนี้ว่า วัฎฎสงสาร ซึ่งเป็นหนทางที่ยาวไกล หาเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดไม่ได้ ถ้าทุกคนเห็นได้ดังนี้เราก็จะเห็นว่าแนวทางที่เราจะต้องเดินแล้วคือ ในชาตินี้นอกจากเราจะต้องตั้งฐานะให้ได้ ทำชีวิตในชาตินี้ให้ประสบกับความสุขความสำเร็จในชีวิตแล้ว เราทุกคนจะต้องรู้จักสร้างคุณค่าให้แก่ชีวิต ด้วยการตั้งใจทำความดี ประกอบการบุญการกุศลอย่างเต็มที่ เพื่อสั่งสมบุญกุศลติดตัวไปข้ามภพข้ามชาติ และเป็นการป้องกันเราให้พ้นจากเส้นทางของอบายภูมิ อันเป็นเส้นทางหนึ่งในวัฎฎสงสารที่ทุกคนอาจพลาดพลั้งตกไปอยู่ได้ และจะต้องได้รับความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส

         วิธีการที่ดีที่สุดที่จะทำให้เราได้ไปถึงเป้าหมายทั้งบนดิน บนฟ้าและเหนือฟ้าได้นั้น คือการปฏิบัติตามหลักของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปฏิบัติตามหลักไตรสิกขา ประการแรกคือศีล อันเป็นข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมในทางความประพฤติทั้งทางกายและวาจา ไม่ว่าจะเป็นศีล ๕ ศีล ๘ สำหรับคฤหัสถ์ ศีล ๑๐ สำหรับสามเณร หรือ ศีล ๒๒๗ สำหรับพระภิกษุ บุคคลที่มีศีลก็จะมีแต่ความสุขในชีวิตและสังคม เป็นทางมาของโภคทรัพย์ และศีลย่อมนำไปคนไปสู่สุคติ ไปถึงฝั่งแห่งพระนิพพาน ประการที่สองคือ สมาธิ อันเป็นข้อปฏิบัติสำหรับการฝึกอบรมจิตใจเพื่อให้จิตใจควรแก่การงาน เพื่อทำให้กิเลสในใจลดน้อยลง และทำให้ได้ตั้งอยู่ในคุณธรรมเบื้องสูงยิ่งๆ ขึ้นไปจึงถึงบรรลุมรรคผลนิพพาน อย่างเช่นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตั้งใจฝึกฝนตนเองนับภพนับชาติไม่ถ้วนด้วยการประพฤติปฏิบัติธรรม และปฏิบัติสมาธิจนบรรลุเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในชาติสุดท้าย ประการสุดท้ายคือ ปัญญา อันเป็นข้อปฏิบัติสำหรับฝึกหัดอบรมปัญญาให้เกิดความรู้แจ้งอย่างสูง คือการได้รู้เห็นในโลกและชีวิตตามความเป็นจริง ในระดับทั่วไปเช่นความรู้ในเรื่องการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ในระดับทิฏฐิ เช่น การเข้าใจในเรื่องบุญบาป นรกสวรรค์ กฏแห่งกรรม การเวียนว่ายตายเกิด ฯลฯ ถ้าเราทำทั้ง ๓ ประการนี้ได้อย่างครบถ้วน การมีชีวิตเพื่อเป้าหมายในชาตินี้ แม้เป้าหมายในชาติหน้า และในที่สุด ก็จะเป็นไปได้สมความตั้งใจ

         เมื่อเรารู้เป้าหมายชีวิตของเราเช่นนี้แล้ว เราก็ต้องรีบแก้ไขตนเอง ตั้งเป้าหมายชีวิตไว้ให้มั่นคงไม่ประมาทในการสร้างความดี หมั่นให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ชำระกาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์ เพื่อจำกัดกิเลสให้หมดจะได้พ้นทุกข์เข้านิพพาน ได้รับความสุขอันเป็นอมตะตามอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังมีคำที่เคยกล่าวไว้ว่า จงอย่าประมาท เร่งเดินตามรอยบาทพระบรมศาสดา ถึงจะทำประโยชน์ให้คนอื่นมากมาย ก็ไม่ควรละทิ้งจุดหมายปลายทางของตน เมื่อรู้ว่าอะไรคือจุดหมายปลายทางแล้ว ก็ควรใส่ใจขวนขวายไป
——————————————————————
ผู้เขียน : พระมหาวุฒิชัย วุฑฺฒิชโย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *