ชี้ขุมทรัพย์

  • by
  • 1 Comment

เรื่องโดย : พระมหาวุฒิชัย วุฑฺฒิชโย

         การดำรงชีวิตร่วมกันในสังคมที่มีผู้คนอยู่เป็นจำนวนมาก เรามักจะต้องประสบกับปัญหาของความกระทบกระทั่ง เพราะแต่ละคนต่างก็มีข้อดีและข้อเสียในตัว เนื่องจากแต่ละคนต่างก็มีที่มา มีสภาพแวดล้อม มีสภาพ การหล่อหลอมจากครอบครัวที่ต่างกัน การดำรงชีวิตที่จะให้มีความสุข จึงต้องมีการชี้แนะ และทำความเข้าใจกัน การชี้ขุมทรัพย์ นับว่าเป็นแนวทางที่สำคัญสำหรับการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

         การชี้ขุมทรัพย์ มีมาตั้งแต่ในครั้งสมัยพุทธกาล ที่พระภิกษุได้กระทำต่อกัน เรียกว่า พิธีปวารณา (แสวง อุดมศรี ๒๕๔๓: ๗๖) “เป็นพิธีที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้เข้าอยู่จำพรรษาแล้วทำการปวารณาด้วยเหตุ ๓ สถาน คือ ด้วยได้เห็น ด้วยได้ยิน ด้วยนึกสงสัย การปวารณานับเป็นวิธีที่เหมาะสม เพื่อว่ากล่าวซึ่งกันและกัน และเป็นวิธีการออกจากอาบัติของภิกษุ” คำว่า ชี้ขุมทรัพย์นี้ เป็นคำที่ใช้เปรียบเทียบถึงสิ่งที่เราชี้แนะบอกถึงข้อเสียของคนอื่นให้เขาได้ทราบ โดยมีจุดมุ่งหมายอนุเคราะห์ เพื่อที่จะเขาจะได้นำไปแก้ไขปรับปรุงตัวเอง คำว่าขุมทรัพย์นี้ ย่อมเป็นสิ่งที่มีคุณค่า เป็นที่ปรารถนาของผู้คนทั้งหลาย ผู้ได้ทรัพย์ย่อมมีความอิ่มเอิบเบิกบานใจ เช่นเดียวกัน นิสัยที่ดีๆ ก็นับว่าเป็นขุมทรัพย์ที่จะสามารถติดตัวเราไปได้ตลอด และอาจยังประโยชน์ที่ดีงามให้เกิดกับตนเองและผู้อื่นได้

         การชี้ขุมทรัพย์เป็นศิลปะที่ละเอียดอ่อน เพราะการจะชี้ขุมทรัพย์ได้จะต้องมีวิธีการที่ดีพอ เรียกว่า ต้องฉลาดทำ จึงจะทำให้สามารถชี้ขุมทรัพย์ได้ วิธีการที่ดี คือ เราต้องมีวิธีการบอกด้วยคำพูดที่พอเหมาะพอดี เป็นคุณทั้งแก่ตัวผู้พูดและผู้ฟัง โดยองค์ประกอบของการพูดชี้ขุมทรัพย์นั้น คำที่พูดต้องเป็นเรื่องจริง ไม่ใช่เพียงแค่รู้ผิวเผินและอนุมานเอา ต้องรู้และเห็นจนแน่ใจจึงจะบอก เมื่อจะบอกต้องใช้คำสุภาพ ต้องพูดแล้วก่อให้เกิดประโยชน์ ต้องพูดด้วยจิตเมตตาอนุเคราะห์ รวมทั้งต้องให้เหมะสมทั้งเวลาและโอกาส เหมาะสมในกาลเวลา คือ รู้ว่าเวลาไหนควรชี้ควรบอก เวลาไหนยังไม่ควร เช่น เราไปชี้ในขณะที่เขากำลังหงุดหงิดอยู่ แทนที่จะเป็นผลดีก็อาจจะทำให้เขาโกรธเราไป เหมาะสมสถานที่ คือ รู้ว่าในสถานที่เช่นไร เหตุการณ์แวดล้อมเช่นไร จึงสมควรที่จะพูด หากพูดออกไปแล้วจะมีผลดีหรือผลเสียอย่างไร เช่น มีความหวังดีอยากเตือนเพื่อนไม่ให้ดื่มเหล้า แต่ไปเตือนในขณะที่เพื่อนกำลังอยู่ในหมู่เพื่อนฝูงทำให้เขาเสียหน้า อย่างนี้นอกจากเขาจะไม่ฟังแล้ว เราอาจจะเจ็บตัวก็ได้

         การชี้ขุมทรัพย์ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่ใครก็จะสามารถทำได้ เพราะผู้ที่จะชี้ขุมทรัพย์ให้ผู้อื่นได้นั้น ตนเองก็จะต้องมีคุณสมบัติที่ดีพอก่อน ถึงจะทำให้การชี้ขุมทรัพย์นั้นศักดิ์สิทธิ์ และอาจทำให้ผู้ได้รับการชี้ขุมทรัพย์ทำตามได้ คุณสมบัตินั้นคือ ผู้ชี้ขุมทรัพย์จะต้องมีสัจจะ คือ จะทำอะไรก็ทำจริง จะพูดอะไรก็พูดจริง ไม่เหลาะแหละ ถ้าเป็นคนเหลาะแหละ ต่อหน้าพูดอย่างหลับหลังทำอีกอย่าง คำพูดที่เอ่ยอ้างไปนั้น ก็คงจะไม่มีคุณค่าน่าที่จะนำไปไปปฏิบัติตาม จะต้องมีทมะ คือ ต้องฝึกฝนตนเองให้ได้อย่างต่อเนื่อง จนเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ และมีคุณธรรม เกิดขึ้นในตน พูดง่ายๆ คือเป็นแบบอย่างให้ดูได้ จะต้องมีขันติ คือ ความอดทน อดทนที่จะพร่ำสอน และชี้แนะ รวมทั้งอดทนต่อการกระทบกระทั่งที่อาจจะเกิดขึ้น จากการเตือนโดยที่ผู้ได้รับการเตือนไม่ทราบเจตนาของเรา จะต้องมีจาคะ คือ เสียสละ เสียสละทั้งเรี่ยวแรง เวลา ที่จะต้องมาคอยบอกคอยเตือน และยังเสี่ยงต่อความไม่เข้าใจของผู้ได้รับการเตือน ทั้งๆ ที่อาจจะไม่จำเป็นที่เราจะต้องเข้าไปยุ่งก็ได้

         นอกเหนือจากการมีวิธีการที่ดี และผู้ชี้ขุมทรัพย์มีคุณสมบัติที่ดีพอแล้ว การชี้ขุมทรัพย์จะสัมฤทธิ์ผลได้ ก็ต้องขึ้นอยู่ที่ผู้ถูกชี้อีกด้วยว่าจะเชื่อและนำไปปฏิบัติหรือไม่ ผู้ถูกชี้ (พระโสภณคณาภรณ์ ๒๕๒๑ : ๔๘) ”เป็นคนว่ายาก ประกอบด้วยธรรมที่ทำให้เป็นคนว่ายาก เป็นผู้ไม่อดทน ไม่ยินดีรับคำพร่ำสอนโดยเคารพ” ย่อมไม่มีใครอยากชี้ขุมทรัพย์ แต่ผู้ที่เป็นคนว่าง่าย สอนง่าย ประกอบด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ ย่อมเป็นที่พอใจของคนทั่วไปที่จะชี้ขุมทรัพย์ให้ คือ (พระโสภณคณาภรณ์ ๒๕๒๑ : ๔๙) “ไม่มีความปรารถนาลามก ไม่ลุอำนาจแก่ความปรารถนาลามก ไม่ยกตน ไม่ขมคนอื่น ไม่มักโกรธ ไม่ถูกความโกรธครอบงำเป็นต้น จนถึงเป็นคนไม่ถือแต่ความเห็นของตน ถือรั้น ถอนยาก”

         การชี้ขุมทรัพย์นี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะเราทุกคนต่างก็มีข้อเสียที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขด้วยกันทั้งสิ้น หากเราทุกคนยอมรับที่จะแก้ไขในข้อเสีย ในข้อที่ตนบกพร่อง และกล้าที่จะตักเตือนซึ่งกันและกัน การดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันก็จะเป็นไปได้อย่างสงบสุข เพราะสังคมใดที่คนในสังคม มีศีลหรือความประพฤติเสมอกัน และมีทิฎฐิหรือความเห็นเสมอกัน การอยู่ร่วมกันของคนในสังคมนั้นย่อมเป็นไปเพื่อความผาสุก

บรรณานุกรม
————————————————————————————————————–
ศูนย์ฝึกอบรมบุคคลากร. พุทธศาสตร์. ปทุมธานี: สถาบันพัฒนาบุคคลากร วัดพระธรรมกาย, ๒๕๔๑.
สมชาย ฐานวุฑโฒ. มงคลชีวิต ฉบับ “ธรรมทายาท”. กรุงเทพฯ : ชมรมพุทธศาสตร์สากล ในอุปถัมภ์สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์, ๒๕๔๒.
โสภณคณาจารย์, พระ. พระสูตรในมัชฌิมนิกาย. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ : สภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา วัดบวรนิเวศวิหาร, ๒๕๒๑.
สุชีพ ปุญญานุภาพ. พระไตรปิฎก ฉบับสำหรับประชาชน. พิมพ์ครั้งที่ ๑๖. กรุงเทพฯ : มหามกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.

1 thought on “ชี้ขุมทรัพย์”

  1. Pingback: Tweets that mention ชี้ขุมทรัพย์ | มหาวิทยาลัยธรรมกาย แคลิฟอร์เนีย | เรียนพระพุทธศาสนา ในระบบการศึกษาทา

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *