การสื่อสารไร้สายในสมัยพุทธกาล ตอนที่ 2

  • by

         ในพระไตรปิฎกยังบันทึกว่า ในพระเชตวันมหาวิหารนี้ มีการจัดเขตที่พักให้พระภิกษุได้พักเป็นกลุ่มๆ ตามความถนัด เช่น ถ้าเป็นศิษย์สายพระอุบาลี ชำนาญพระวินัยพักอยู่ด้วยกันกลุ่มหนึ่ง ถ้าเป็นศิษย์สายพระอานนท์ ชำนาญพระสูตร พักอยู่ด้วยกันอีกกลุ่มหนึ่ง ถ้าเป็นผู้ที่สนใจเกี่ยวกับเรื่องการแสดงธรรม พระธรรมกถึกก็อยู่อีกกลุ่มหนึ่ง ถ้าเป็นผู้ที่สนใจเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมก็อยู่อีกกลุ่มหนึ่งในที่ๆสงบสงัดเป็นพิเศษ ถ้าเป็นผู้ที่สนใจเกี่ยวกับเรื่องการดูแลร่างกายให้แข็งแรง การออกกำลังกาย ก็อยู่อีกกลุ่มหนึ่ง แบ่งตามความถนัดความชอบ โดยผู้ที่ทำหน้าที่จัดเขตที่พักของพระภิกษุก็คือ พระทัพพมัลลบุตร ท่านเป็นพระอรหันต์ตั้งแต่อายุ 7 ขวบ หมดกิเลสแล้วเสร็จกิจแล้ว จึงอาสาพระสัมมาพุทธเจ้ารับบุญเป็นคนจัดที่พักให้พระ ท่านเป็นผู้มีฤทธิ์ เพียงยกนิ้วขึ้นเท่านั้น ก็เกิดแสงสว่างโพลง สามารถพาพระภิกษุไปยังที่พักได้ โดยไม่ต้องอาศัยแสงจากคบเพลิงใดๆ เลย

         ในพระไตรปิฎกบันทึกไว้ว่า เป็นธรรมเนียมสงฆ์ในครั้งพุทธกาล ว่าพอออกพรรษาแล้ว พระภิกษุที่จำพรรษาอยู่ในทิศต่างๆ ก็จะส่งตัวแทนไปเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใครที่มีความพร้อม สุขภาพแข็งแรงก็เป็นตัวแทนเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า จะเห็นได้ว่าธรรมเนียมถวายผ้าทอดกฐินก็เกิดจากการ ที่พระภิกษุเมืองปาไฐยรัฐ 30 รูป ออกพรรษาแล้วรอนแรมตากแดดตากฝนมาเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจนจีวรเปื่อยขาดไป พระองค์จึงอนุญาตให้รับผ้ากฐินได้ ก็มีที่มาจากเหตุนี้

         สงฆ์ตัวแทนเหล่านี้มากราบพระพุทธเจ้าแล้วก็นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระพุทธองค์ก็จะทรงทักทายปราศรัยด้วย พอเสร็จเรียบร้อยพระภิกษุเหล่านั้นก็ลาพระพุทธเจ้าไปพัก พระทัพพมัลลบุตรก็จะถามพระภิกษุแต่ละรูปว่าสนใจในเรื่องใด ก็จัดที่พักแยกกันไปตามความสนใจของท่าน

         พอเข้าที่พักแล้วพระภิกษุที่สนใจพระวินัยก็จะสอบถามพระภิกษุผู้เชี่ยวชาญพระวินัยสายพระอุบาลีว่าพรรษาที่ผ่านมาพระพุทธองค์ทรงบัญญัติพระวินัยเพิ่มเติมอะไรบ้าง เมื่อทราบข้อมูลแล้วก็จะรีบท่อง

         เพราะต้องจำด้วยมุขปาฐะ เนื่องจากสมัยนั้นไม่นิยมการเขียนตัวอักษรต้องใช้การท่องจำ ผู้ที่สนใจพระสูตรก็ไปสอบถามกับพระภิกษุสายพระอานนท์ว่า พระพุทธเจ้าเทศน์สอนอะไรบ้าง จากนั้นก็ท่องจำไว้ พอจำได้คล่องแคล่วแม่นยำดีแล้วก็มากราบทูลลาพระพุทธเจ้า ระหว่างทางที่กลับไปถิ่นของตนก็ไปพักตามวัดต่างๆ พักที่ไหนก็แจ้งแก่ที่ประชุมสงฆ์ ว่าข้าพเจ้าเพิ่งมาจากเชตวันมหาวิหาร บัดนี้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระธรรมวินัยเพิ่มเติมดังนี้ๆ พระภิกษุสงฆ์ที่พำนักในที่นั้นก็จะมาประชุมกัน เพื่อรับทราบข้อมูลและเพื่อจะนำไปถ่ายทอดต่อ เกิดการศึกษา ถ่ายทอดต่อกันไปเรื่อยๆ กระจายกันไปอย่างนี้ ทำให้สงฆ์ทั้งแผ่นดินรู้พระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ จึงกล่าวได้ว่าพระธรรมวินัยที่พระองค์ทรงบัญญัตินั้น มีเชตวันเป็นศูนย์กลาง เป็นขุมคลังความรู้ ทรงจำโดยพระภิกษุสงฆ์ที่แบ่งออกเป็นกลุ่มมีความชำนาญเฉพาะด้าน จากนั้นพระสงฆ์จากทุกสารทิศก็มาเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาศึกษาจดจำคำสอนแล้วนำกลับไปบอกต่อกระจายไปอย่างกว้างไกล

         นี่คือการสื่อสารไร้สาย ไม่ต้องใช้สายโทรศัพท์หรือเทคโนโลยีอะไรเลย พระภิกษุสงฆ์คือแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุด สามารถกระจายความรู้ได้อย่างกว้างขวาง ต้องการทราบเรื่องอะไรสอบถามเพิ่มเติมได้ ทำให้เกิดเอกภาพของพระธรรมวินัย เอกภาพของคำสอน และเอกภาพของคณะสงฆ์ จะเห็นได้ว่าเทคนิคการบริหารการปกครองคณะสงฆ์ของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นเยี่ยม

         เหตุที่เชตวันมหาวิหาร ที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างขึ้นได้รับความชื่นชมยกย่องอย่างมาก ไม่ใช่เป็นแต่เพียงว่าเกิดจากความศรัทธาที่มากล้นของผู้สร้างเพียงอย่างเดียว แต่หัวใจสำคัญก็คือ การที่เชตวันมหาวิหาร และบุพพารามได้กลายเป็นศูนย์กลางของการเผยแผ่พระพุทธศาสนา สร้างความเจริญรุ่งเรืองและความมั่นคงให้เกิดขึ้นกับพระพุทธศาสนาอย่างยิ่งดังกล่าว

         เมื่อศึกษาประวัติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ เราก็จะพบว่า ทุกพระองค์จะมีผู้ใจบุญที่คล้ายคลึงกับท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีนี้ มาเคารพศรัทธา และสร้างวัดใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในยุคนั้นๆ ทุกพระองค์ ในบางยุคการซื้อแผ่นดินเพื่อสร้างวัด ถึงกับต้องใช้ทองคำปูให้ทั่วพื้นที่ ตามที่เจ้าของที่ในยุคนั้นตั้งเงื่อนไข แต่ไม่ว่าจะอย่างไรมหาเศรษฐีผู้ใจบุญในยุคนั้นก็สามารถขนทองคำมาปูเรียงเต็มแผ่นดินเพื่อซื้อที่ดินสร้างวัดได้จนสำเร็จ

         จะเห็นได้ว่านี่คือเทคนิคที่เป็นสากลในการสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นกับพระพุทธศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ แม้การสร้างวัดใหญ่เช่นนี้ จะเป็นเรื่องที่ยากยิ่ง ต้องอาศัยใจที่ศรัทธาทุ่มเทจริงๆ แต่เมื่อสร้างสำเร็จแล้วจะมีประโยชน์อย่างยิ่งใหญ่มหาศาลในการสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นกับพระพุทธศาสนา นี่คือบทบาทของเชตวันมหาวิหารในครั้งพุทธกาล

         วัดในพุทธกาลจึงแบ่งได้เป็น 2 แบบคือ 1. วัดใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนา 2.วัดต่างๆ ที่กระจายอยู่ทั่วแผ่นดิน ถ้าเป็นวัดที่เป็นศูนย์กลางของหัวเมืองก็จะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ถ้าเป็นวัดประจำหมู่บ้าน ประจำตำบลก็มีขนาดลดหลั่นกันลงไป วัดที่รองรับประชาชนในหมู่บ้านก็ต้องสร้างขึ้นมาเป็นรูปแบบหนึ่ง ถ้าเป็นวัดประจำตำบลก็แบบหนึ่ง ประจำอำเภอก็แบบหนึ่ง ถ้าเป็นวัดประจำเมืองก็ต้องสร้างให้มีขนาดใหญ่เพราะมีพระเป็นจำนวนมากขึ้นมีพระมากขึ้น อีกทั้งพระภิกษุจากเชตวันก็สามารถมาพำนักเพื่อถ่ายทอดคำสอนให้กับพระที่วัดประจำเมืองนี้ได้ จากนั้นจึงถ่ายทอดคำสอนไปยังวัดประจำอำเภอ.ตำบล.หมู่บ้าน.ทำให้คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากระจายไปอย่างทั่วถึง โดยมีจุดเริ่มต้นที่เชตวันมหาวิหารอันเป็นศูนย์กลางของการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

         ฉะนั้น การที่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเอาเงินปูแผ่นดินเพื่อสร้างวัดจึงเป็นสิ่งที่แสนคุ้มค่า หันมาดูยุคของเราในปัจจุบัน เราจะทำอย่างไร จึงจะนำความรุ่งเรืองมาสู่พระพุทธศาสนาได้อีกครั้งหนึ่ง การที่พวกเราสวมหัวใจนักสร้างบารมี สวมหัวใจพระโพธิสัตว์ ทุ่มเทกันสุดชีวิต สร้างวัดพระธรรมกาย สร้างอุโบสถ สร้างสภาธรรมกายสากล สร้างทั้งมหาธรรมกายเจดีย์ สร้างทั้งลานธรรม สร้างทั้งมหารัตนวิหารคด สร้างอาคารปฏิบัติธรรม 60 ปี พระราชภาวนาวิสุทธิ์ สร้างมหาวิหารหลวงปู่ ฯลฯ จนใกล้จะเสร็จแล้ว ถ้าเสร็จเมื่อใดก็จะสามารถชุมนุมสงฆ์และประชาชนได้ครั้งหนึ่งนับล้านคน ซึ่งจะเป็นจุดพลิกผันสำคัญในการนำความรุ่งเรืองมาสู่พระพุทธศาสนาอีกครั้งหนึ่ง ถึงเวลานั้นคนทั้งโลกจะต้องประหลาดใจว่า เหตุใดพระภิกษุสงฆ์ และชาวพุทธนับล้านจึงมาปฎิบัติธรรมร่วมกันเช่นนี้ ภาพนี้จะทำให้เขาเกิดแรงบันดาลใจและมาศึกษาค้นคว้าเพื่อแสวงหาคำตอบ แล้วในที่สุดเขาก็จะพบคำตอบได้จากการศึกษาปฏิบัติธรรม เพราะในยามนี้ ชาวโลกกำลังตื่นตัวเรื่องพระพุทธศาสนาดังที่มีการสำรวจว่าเว็บไซต์ในอินเตอร์เน็ต เว็บหมวดหมู่ใดที่คนสนใจเข้าไปดูมากที่สุด โดยเรียงลำดับจาก 1 ถึง 10 ตามความนิยมถ้าดูตามกระแสโลกเว็บยอดนิยมก็น่าจะเป็นหมวดหมู่เกี่ยวกับเรื่องกีฬา เรื่องเกมคอมพิวเตอร์ เรื่องของข่าวสารบ้านเมือง หรือเว็บบันเทิงภาพยนตร์ต่างๆ ซึ่งผลที่ออกมาก็เป็นไปตามนั้น แต่หมวดที่คาดไม่ถึงว่าจะติดอันดับด้วยก็คือ หมวดพระพุทธศาสนาที่มีผลสำรวจว่าติด 1 ใน 10 เว็บไซต์ที่คนยุโรป อเมริกา ชอบไปค้นคว้ามากที่สุด จะเห็นได้ว่าในบ้านเมืองที่ไม่ใช่เมืองพุทธ คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอื่นแท้ๆ เขายังสนใจศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างมาก พยายามไปหาความรู้ด้วยตัวเองว่า พระพุทธศาสนาสอนอะไร

         นี่คือแนวโน้มของชาวโลก ที่เริ่มค้นหาว่า ความรู้ใดที่จะเป็นที่พึ่ง ที่ระลึก เป็นสรณะให้กับชีวิตได้ เมื่อรู้ว่าคำตอบมีอยู่ในพระพุทธศาสนา ชาวโลกจึงกำลังแสวงหาว่าจะไปศึกษาธรรมได้จากที่ไหน ถ้าเราสร้างศูนย์กลางธรรมกายของโลกเสร็จสมบูรณ์ ก็จะสามารถรองรับชาวโลกได้นับล้านคน ใครก็ตามที่แสวงหาความหมายของชีวิต เมื่อมาที่นี่จะได้พบคำตอบอย่างครบถ้วนกระจ่างใจ จะเกิดการรวมพลังชาวพุทธจากทั่วโลกครั้งยิ่งใหญ่ เพื่อสร้างสันติสุขที่แท้จริงให้บังเกิดขึ้น

         ขอให้ภูมิใจเถิด ในสิ่งที่เราได้ทุ่มเทสร้างขึ้นมา เพระนี่คือศาสนสถาน ที่จะนำความรุ่งเรืองมาสู่พระพุทธศาสนา ทั้งในยุคนี้และต่อๆไปเมื่อนึกถึงศาสนสถาน ที่ชาวพุทธเคยสร้างมาในอดีต เช่น บรมพุทโธในอินโดนีเซีย ก็เป็นหลักฐานสร้างความรุ่งเรืองให้กับพระพุทธศาสนาในอินโดนีเซียได้ดีในยุคหนึ่ง แต่น่าเสียดายที่ศาสนสถานที่สำคัญส่วนใหญ่จะมีเพียงองค์เจดีย์เท่านั้น แต่ในครั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดเราจึงต้องสร้างทั้งองค์เจดีย์ ลานธรรม มหารัตนวิหารคด สภาธรรมกายสากลซึ่งรองรับคนได้นับแสน อาคารปฏิบัติธรรม 60 ปี พระราชภาวนาวิสุทธิ์ มหาวิหารพระมงคลเทพมุนี รวมทั้งมีที่จอดรถ ที่รองรับคนได้นับล้านคน ทุกๆ ระบบต้องพร้อมมูล เพราะเราไม่ได้สร้างเอาไว้เพียงเพื่อเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ผู้คนมากราบไหว้บูชาเท่านั้น แต่สร้างไว้ให้ใช้ประโยชน์จึงสร้างอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ รองรับได้ทั้งการศึกษาปริยัติธรรมและธรรมปฏิบัติ เพื่อให้มหาธรรมกายเจดีย์เป็นศูนย์รวมจิตใจ รวมพระภิกษุสงฆ์ รวมประชาชนที่มาปฏิบัติธรรมร่วมกันได้ และมีระบบรองรับทุกอย่างพร้อมดังที่เห็นอยู่

         เมื่อทำได้ครบวงจรอย่างนี้ ศาสนสถานที่สร้างขึ้นจึงจะเป็นศูนย์กลางสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นกับพระพุทธศาสนาในยุคปัจจุบันได้อย่างแท้จริง อีกไม่นานเราจะปลื้มใจทุกๆ ครั้ง เมื่อเห็นผู้คนใส่ชุดขาวหลั่งไหลมาปฏิบัติธรรมนับแสน นับล้านคน ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน ทุกปีและตลอดไป ทุกครั้งที่มีผู้คนมาปฏิบัติธรรมที่ลานธรรม ได้อาศัยศาสนสถานที่เรามีส่วนสร้าง หรือมีผู้มากราบไหว้องค์เจดีย์ที่มีองค์

         พระประจำตัวของเราประดิษฐานอยู่ จิตเราจะปลื้มปีติตลอด แล้วความปลื้มปีตินี้ จะน้อมนำใจของเราให้นุ่มนวล สามารถเข้าถึงธรรมได้อย่างสะดวกสบาย เราจะได้ทั้งบุญหยาบ บุญละเอียด ละโลกไปแล้ว ก็ไปพักดุสิตบุรีวงบุญพิเศษสักพัก แล้วค่อยมาสร้างบารมีกันต่อไป ทุกคนจะมีโอกาสได้เป็นอย่างนี้เพราะอานิสงส์แห่งบุญที่ทำไว้

————————————————————————————————————————————-
ที่มา : หนังสือ “ทันโลกทันธรรม” โดย พระมหาดร.สมชาย ฐานวุฑฺโฒ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *