การสื่อสารไร้สายในสมัยพุทธกาล ตอนที่ 1

  • by

         เคยสงสัยกันบ้างไหมว่า เหตุใดการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาลจึงสามารถขยายไปได้อย่างกว้างขวาง คิดเป็นพื้นที่กว้างใหญ่กว่าพื้นที่ประเทศไทยปัจจุบันเสียอีก คณะสงฆ์ก็มีจำนวนมากมายกระจายอยู่ทั่วแผ่นดิน ทั้งที่ในยุคนั้นไม่มีเครื่องมือสื่อสารอะไรเลยไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์ วิทยุ โทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต แฟ๊กซ์ก็ไม่มีทั้งสิ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ในยามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมคำสอนในที่ต่างๆ คณะสงฆ์ที่อยู่กันคนละแห่งจะรับรู้ได้อย่างไร ? เพราะในยุคนั้นยังไม่มีการเก็บบันทึกพระไตรปิฎกเลย พระไตรปิฎกมาบังเกิดขึ้นหลังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พระอรหันตสาวก 500 รูป จึงทำการสังคายนา ประมวลคำสอนทั้งหมดของพระพุทธองค์เรียบเรียงเป็นพระไตรปิฎก

         ในครั้งพุทธกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเทศนาสั่งสอนเรื่องต่างๆ แก่พระภิกษุสงฆ์อยู่เสมอ เมื่อมีเหตุเกิดขึ้น พระองค์ก็จะทรงบัญญัติพระวินัยห้ามพระภิกษุกระทำเรื่องนั้นๆ โดยกำหนดขึ้นมาทีละข้อ จนรวมเป็น 227 ข้อ อันเป็นศีลของพระภิกษุมาจนปัจจุบัน ในครั้งนั้นพระภิกษุสงฆ์ที่อยู่ตามที่ต่างๆ จะทราบได้อย่างไร ว่าพระพุทธองค์ทรงบัญญัติพระวินัยข้อใหม่ขึ้นแล้ว เช่นในเบื้องต้นอาจจะมีอยู่ 10 ข้อ พอถัดมา อีก 6 เดือน อาจจะมีเพิ่มขึ้นมาอีก 5 ข้อกลายเป็น 15 ข้อ เป็นต้น ถ้าพระภิกษุในแต่ละท้องที่ รับทราบข้อมูลไม่เท่ากันก็จะทำให้สงฆ์แต่ละที่รักษาพระวินัยไม่เท่ากัน ถ้ามีพระวินัยไม่เท่ากันแล้วเอกภาพของสงฆ์จะมีได้อย่างไร และเมื่อถึงคราวลงพระปาติโมกข์หากท่องปาติโมกข์ไม่เท่ากันแล้วผลจะเป็นอย่างไร การคณะสงฆ์คงจะสับสนวุ่นวายเป็นอย่างมาก แต่ทำไมในความเป็นจริงคณะสงฆ์ในครั้งพุทธกาลมีความเป็นเอกภาพอย่างน่าอัศจรรย์ ทั้งยังสามารถรักษาความเป็นเอกภาพได้ต่อเนื่องยาวนานนับเป็นร้อยๆ ปี ยากที่จะมีองค์กรใดทำได้เช่นนี้ พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงใช้วิธีการอย่างไรจึงเป็นสิ่งที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง

         แท้จริงแล้วนี่คือการสื่อสารไร้สาย เป็นแบบ Wireless ไม่ต้องใช้สายเลย แต่มีประสิทธิภาพสูงมากกระจายคำสอนไปทั่วทั้งแผ่นดินได้ ถามว่าพระองค์ทรงทำอย่างไร จากหลักฐานในพระไตรปิฎกพบว่า ในพรรษาที่ 1 หลังจากตรัสรู้ธรรม พระพุทธองค์ทรงจำพรรษาอยู่ที่เดียวกับชฏิล 3 พี่น้อง คือ อุรุเวลกัสสปะ นทีกัสสปะและคยากัสสปะ ทรงโปรดชฎิล 3 พี่น้องจนกระทั่งสำเร็จ ยอมมาบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาพร้อมบริวารรวม 1,003 รูป

         พรรษาต่อมา ก็ทรงจาริกไปโปรดสรรพสัตว์ทั้งหลายในที่ต่างๆ มากมาย แต่ใน 25 พรรษาท้าย พระองค์จำพรรษาอยู่ที่เมืองๆ เดียว คือเมืองสาวัตถีโดยพักอยู่ที่เชตวันมหาวิหาร 19 พรรษาและที่บุพพารามที่นางวิสาขาสร้างถวายอีก 6 พรรษา ทั้ง 2 วัดนี้ อยู่ในเมืองๆ เดียวกันจึงนับได้ว่าพระพุทธองค์ทรงจำพรรษาที่เมืองสาวัตถีติดต่อกัน 25 พรรษา จากนั้นในพรรษาสุดท้ายคือพรรษาที่ 45 นั้น พระพุทธองค์ได้เสด็จจาริกไปจำพรรษาที่ชานเมืองเวสาลี ก่อนจะเสด็จปรินิพพานที่เมืองกุสินารา

         ในช่วงเวลา 19 พรรษาที่พระพุทธองค์ทรงพักอยู่ที่เชตวันมหาวิหาร ซึ่งเป็นวัดที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างถวาย โดยใช้ทรัพย์ไปถึง 54 โกฏิกหาปณะหรือ 540 ล้านกหาปณะนั่นเอง ในยุคนั้น 1 กหาปณะมีค่ามากกว่าเงินดอลลาร์ในปัจจุบันเสียอีก จึงนับว่าท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีได้ใช้ทรัพย์ไปเป็นจำนวนมหาศาล การสร้างเชตวันมหาวิหารเพียงแค่การซื้อที่ดินเพื่อสร้างวัด ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ได้สำรวจดูทั้งเมืองพบว่าสวนของเจ้าเชตซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์นั้นมีความเหมาะสมที่สุด เพราะสถานที่สงบร่มรื่นไม่ใกล้ไม่ไกลเกินไปท่านเศรษฐีจึงไปขอซื้อจากเจ้าเชต เจ้าเชตไม่อยากขายจึงบอกว่า ถ้าอยากจะซื้อก็เอาเงินมาปูให้เต็มแผ่นดิน นั่นคือราคาที่ดิน อนาถบิณฑิกเศรษฐีไม่ต่อรองสักคำ กลับให้คนขนเงินมาเรียงให้เต็มแผ่นดิน จนในที่สุดเจ้าเชตเห็นถึงความศรัทธาตั้งใจจริง จึงขอร่วมบุญด้วย ซึ่งในขณะนั้นที่ดินทั้งผืนมีเงินปูเรียงจนเกือบเต็มแล้ว เหลือตรงซุ้มประตูอยู่หน่อยเดียวเท่านั้น เจ้าเชตทั้งขอร่วมบุญในส่วนนั้นทั้งตั้งเงื่อนไขว่า เมื่อสร้างวัดเสร็จแล้วให้ใช้ชื่อของตนเป็นชื่อวัด ท่านเศรษฐีก็ยอมเพราะท่านทำบุญโดยไม่หวังเอาหน้า การที่เจ้าเชตมาขอร่วมบุญด้วยก็ถือเป็นเรื่องดี เพราะจะได้มีส่วนในบุญร่วมกัน นอกจากนี้เจ้าเชตเองเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงมีอำนาจ ถ้ามีชื่อในการสร้างวัดครั้งนี้ การเผยแผ่พระพุทธศาสนาก็คงเป็นไปได้สะดวกมากขึ้น วัดนั้นจึงได้ชื่อว่า “เชตวัน” ซึ่งแปลว่า ป่าของเจ้าเชต นั่นเอง

         เชตวันมหาวิหารที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีได้ทุ่มเทสร้างนี้ ได้กลายมาเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในครั้งพุทธกาล เมื่อศึกษาดูในพระไตรปิฎก พบว่าเชตวันมหาวิหารนี้ได้รับการออกแบบก่อสร้างให้สามารถรองรับพระภิกษุได้เป็นเรือนหมื่น พระอาคันตุกะมาพักได้นับพันรูป สาธุชน ญาติโยมทั้งหลายมาฟังธรรมเป็นหมื่นเป็นแสนก็รองรับได้

————————————————————————————————————————————-
ที่มา : หนังสือ “ทันโลกทันธรรม” โดย พระมหาดร.สมชาย ฐานวุฑฺโฒ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *