ความยุติธรรมกับความสามัคคีทุ่มเทในการทำงาน

  • by

         ความยุติธรรม เป็นเรื่องสำคัญมาก ความลำบากไม่ได้ทำให้สังคมแตกแยกถ้าทุกคนยังรู้สึกว่าได้รับความเป็นธรรมอยู่ เช่นในยามสงคราม ต้องรบทัพจับศึก ข้าวปลาอาหารขาดแคลนทั้งยังต้องคอยระวังข้าศึกจะมาโจมตี ถ้าทุกคนรู้สึกว่าทั้งหมดล้วนลำบากเสมอหน้ากัน การทำเพื่อเป้าหมายร่วมกันคือ เพื่อกู้ชาติหรือเพื่ออุดมการณ์ใด เขาก็ยอมอดทนได้ แม้ต้องสู้รบยาวนานนับสิบปี ก็ยังทนตรากตรำร่วมกันด้วยความสามัคคีได้

         แต่เชื่อไหมว่า ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ผู้คนมีชีวิตที่สุขสบายขึ้น แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เท่าเทียมกัน บางคนอาจมีชีวิตที่สมบูรณ์พูนสุข ในขณะที่อีกหลายคนอาจได้รับความสุขสบายเพิ่มขึ้นเพียงน้อยนิด เมื่อเป็นเช่นนี้คนในสังคมนั้นจะทะเลาะกันทันที มีปัญหาทันที เพราะคนเราแม้จะมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่พอเหลือบไปทางซ้าย มองไปทางขวา เห็นคนอื่นมีชีวิตที่สุขสบายกว่า ก็จะรู้สึกคับข้องใจในความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น นำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้งในสังคม

         เรื่องราวของประเทศจีนเป็นตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด สังคมจีนในสมัยที่ประเทศยังเป็นคอมมิวนิสต์อย่างเต็มตัว เป็นระบบคอมมูน ทุกคนลำบาก แม้จะมีข้าวกิน แต่คุณภาพชีวิตก็ไม่ได้ดีอะไร ถึงเวลาก็เอาชามสังกะสีเก่าๆ ไปต่อคิวรับข้าวมาประทังชีวิต เสื้อผ้าก็สีน้ำเงินเหมือนกันหมด ตัดผมทรงเดียวกันทั้งประเทศ ลำบากเหมือนกันหมด แต่ก็อยู่ร่วมกันเป็นสังคมได้ ต่อมาจีนได้พัฒนาประเทศอย่างรวดเร็วต่อเนื่องมาเกือบ 30 ปีนับว่าเป็นประเทศที่โตเร็วที่สุดในโลกทีเดียว แต่ตอนนี้สิ่งที่ผู้นำจีนมีความเป็นห่วงมากที่สุดคือ ความสมานฉันท์ในประเทศ เกรงว่าจะเกิดการทะเลาะเบาะแว้ง แยกพวกแยกเหล่า เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ เพราะการพัฒนาประเทศที่ผ่านมานั้น แต่ละพื้นที่ก็พัฒนาไม่เท่ากัน เศรษฐกิจแถบชายฝั่งทะเลเจริญเร็วกว่า แถบตะวันตกเจริญช้ากว่าเพราะการขนส่ง การค้าขายไม่ค่อยคล่อง และในแต่ละพื้นที่ช่องว่างของรายได้ระหว่างคนรวยคนจนก็มีมาก ทั้งที่ถ้าเทียบกันแล้ว คนจนในประเทศจีนปัจจุบัน ก็ยังสบายกว่าเมื่อครั้งสมัยอยู่ในระบบคอมมูน แต่ที่เขาไม่พอใจ เป็นเพราะเห็นว่ามีคนอีกจำนวนมากที่สบายกว่าเขา มีโอกาสมากกว่าเขา สิ่งเหล่านี้จึงอาจนำไปสู่ความแตกแยกภายในประเทศได้ นี่คือสิ่งที่รัฐบาลจีนเป็นห่วงอย่างยิ่งในปัจจุบัน

         ปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมกันนี้ เคยมีตัวอย่างจากประสบการณ์จริง เช่น เมื่อครั้งที่ชวนญาติโยม ให้ร่วมกันบริจาคเสื้อผ้า เพื่อนำไปมอบให้ชาวชนบทที่ยากจน อาศัยอยู่บนภูเขาที่อากาศหนาวเย็น เสื้อผ้าที่รวบรวมมาได้ก็มีความหลากหลาย ทั้งแบบธรรมดา และแบบที่ประณีต เป็นของดีมีราคา แม้จะสามารถแจกจ่ายให้ได้ครบ
ทุกคน แต่ของที่มอบให้นั้นแตกต่างกัน บางคนก็ได้รับเสื้อผ้าดีๆ บางคนก็ได้รับเสื้อผ้าธรรมดาๆ ผลก็คือเกิดการทะเลาะกัน ทั้งที่แต่เดิมแม้จะอยู่อย่างขาดแคลนแต่ก็มีความสงบสุข เรื่องนี้จึงเป็นบทเรียนว่าในการทำกิจกรรมเช่นนี้ต้องคำนึงถึงความยุติธรรมเสมอภาคให้ดี

         ความไม่มีเหมือนๆ กัน ยังไม่เป็นปัญหาเท่าไร แต่ว่าถ้าเกิดมีเพิ่มขึ้นมาแล้วไม่เท่ากันไม่ยุติธรรม ย่อมสร้างปัญหาตามมาแน่นอน นี่คือความเกี่ยวพันกันระหว่างความยุติธรรมกับความสามัคคีของสังคม ตั้งแต่ระดับเล็กๆ ในครอบครัว ในหมู่บ้านไปจนถึงระดับประเทศ ระดับโลก ก็หลักการเดียวกันไม่ได้แตกต่างกันเลย

         นอกจากความยุติธรรมจะส่งผลถึงความสามัคคีแล้ว ยังส่งผลถึงอีกด้านหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ ความยินดีที่จะทุ่มเททำงาน ขอยกตัวอย่างที่ประเทศจีนอีกครั้งหนึ่ง ในช่วงที่อยู่ภายใต้ระบบคอมมิวนิสต์ เขาใช้ ระบบนารวม คือ ทรัพย์สินทุกอย่างมารวมเป็นส่วนกลาง แล้วทุกคนก็ไปทำงานในคอมมูนเป็นส่วนกลาง ผลผลิตที่เกิดขึ้นให้นำไปขายแล้วส่งให้รัฐบาล เมื่อได้ผลตอบแทนกลับมาก็เฉลี่ยในคอมมูนอย่างเสมอหน้า มีลูกหลานก็ส่งไปให้เจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่เลี้ยงดู เหมือนเป็นโรงเรียนรวม แบ่งงานกันทำแบ่งทุกอย่างในคอมมูนอย่างนี้ ดูเผินๆ ก็เหมือนว่าทุกคนก็เสมอภาคกันดี ทุกคนมีความเป็นอยู่เหมือนกันหมด แต่ถ้าพิจารณาดูให้ดี สิ่งนี้ก็คือ ความไม่เสมอภาคอย่างหนึ่งเหมือนกัน เพราะในคอมมูนนั้น ถามว่าแต่ละคน ขยันเท่ากันไหม ? คำตอบคือไม่เท่ากัน บางคนขยัน บางคนขี้เกียจ ถ้าถามว่าความรู้ความสามารถแต่ละคนเท่ากันไหม ก็ไม่เท่าอีกเช่นกัน ในเมื่อสติปัญญาและการทุ่มเททำงานไม่เท่ากัน แต่ผลที่ได้รับเหมือนกันทุกคน คนที่ขยัน คนที่ฉลาดก็รู้สึกว่า ไม่เป็นธรรม เกิดความคิดว่าเราทำงานได้มากกว่าแต่ได้รับผลตอบแทนเท่าคนที่ขี้เกียจ แล้วเราจะขยันไปทำไม ทำเท่าไรๆ ก็ได้เหมือนคนอื่น ผลก็คือเกิดการอู้งาน แรงจูงใจที่จะขยันก็ค่อยๆ หายไป กลายเป็นการทำงานแค่ พอให้ไม่เป็นความผิด ไม่ถูกลงโทษก็พอ

         เมื่อเติ้งเสี่ยวผิงปฏิรูปเศรษฐกิจ จึงเริ่มที่การเกษตรก่อน แม้จะยังไม่ได้ยกเลิกระบบนารวมทันทีทันใด เนื่องจากเรื่องนี้เกี่ยวพันกับคนจำนวนมาก ถ้าปรับตัวตามไม่ทันจะเกิดความวุ่นวาย แต่สิ่งที่ได้ปรับเปลี่ยนก็คือการให้ชาวนาแต่ละคนมีพื้นที่เล็กๆ เป็นของตนเอง ที่จะใช้ปลูกผักปลูกอะไรก็ได้และผลผลิตที่เกิดขึ้นสามารถนำไปขายเป็นรายรับของตัวเองได้ ไม่ต้องเข้าคอมมูน ปรากฏว่าทุกคนทุ่มเทดูแลพื้นที่ผืนเล็กๆ ของตนอย่างดีเยี่ยม เพราะรู้สึกว่าเป็นความยุติธรรม ที่ใครทำได้เท่าไรก็เป็นของคนนั้น ขยันมากก็ได้มาก ขยันน้อยก็ได้น้อย จนปรากฏว่าพื้นที่ผืนเล็กๆ เหล่านี้ ให้ผลผลิตทางการเกษตรที่มีมูลค่าแทบจะเลี้ยงคนทั้งประเทศได้เลยทีเดียวหลังจากพัฒนาระบบการเกษตรให้เจริญขึ้นแล้ว จีนก็ได้ขยายการพัฒนาไปในด้านต่างๆ อีกมากมาย

         เห็นได้ชัดเจนว่าความเป็นธรรมทำให้คนเกิดความวิริยะอุตสาหะเพิ่มขึ้นได้ เพราะรู้สึกว่าสิ่งที่ทุ่มเทไปนั้นคุ้มค่า ตรงกันข้ามกับความรู้สึกของคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ยิ่งถ้าเป็นคนที่ไม่รู้จักเรื่องบุญ เห็นเพียงประโยชน์ที่จะกลับมาในชาตินี้เท่านั้น หากรู้สึกว่างานที่ทำไม่ได้ให้ผลตอบแทนอย่างที่ควรจะได้ก็ย่อมไม่อยากทำงานนั้นๆ เพราะฉะนั้นถ้าหน่วยงาน บริษัทห้างร้านต่างๆ มีระบบประเมินประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากรอย่างเป็นธรรม มีการประเมินผลงานอย่างเป็นธรรม ก็จะสามารถสร้างแรงจูงใจให้บุคลากรทุ่มเทให้กับการทำงานได้อย่างดี

         ฉะนั้น ความยุติธรรมจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนทีเดียวโดยเฉพาะเมื่อเกี่ยวพันกับคนหมู่มาก ปัญหาของระบอบคอมมูนก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ไม่สามารถสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นได้กลับทำให้คนขาดแรงจูงใจในการทำงาน เพราะความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระบบคอมมูนในรัสเซียหรือจีน ต่างไม่สามารถนำพาประเทศให้เจริญก้าวหน้าได้ ต้องเอาระบบเศรษฐกิจการตลาดเข้ามา เพราะเปิดโอกาสให้แต่ละคนใช้ศักยภาพตัวเองได้เต็มที่ ทำเท่าไร ขยันเท่าไรมีความสามารถเท่าไร ก็ได้รับผลตามนั้น ซึ่งผลพวงที่ตามมาก็คือ เรื่องของมือใครยาวสาวได้สาวเอา ฉะนั้น รัฐจำเป็นจะต้องให้ความเป็นธรรมอีกด้านหนึ่ง คือ สวัสดิการสังคม คอยดูแลคนที่ด้อยโอกาสให้เขามีโอกาสได้รับสิ่งต่างๆ อย่างเป็นธรรมด้วยเช่นกัน เป็นการรักษาความสมดุลของสังคมอีกด้านหนึ่ง จึงมีหลายมุมมองที่ต้องพิจารณาเพื่อจะสร้างและรักษาความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในทุกมิติเพื่อให้สังคมของเราได้เจริญพัฒนาอย่างร่มเย็นเป็นสุข

————————————————————————————————————————————-
ที่มา : หนังสือ “ทันโลกทันธรรม” โดย พระมหาดร.สมชาย ฐานวุฑฺโฒ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *