จากการศึกษาประวัติศาสตร์ชนชาติยิว รวมทั้งบันทึกต่างๆ ของชาวยิว เราจะพบว่าชาวยิวเป็นชนชาติที่น่าสนใจมากทีเดียว ที่ในด้านหนึ่งนั้นชาวยิวต้องเผชิญกับโศกนาฏกรรมอย่างหนัก ต้องพลัดพรากจากถิ่นฐาน ระเหเร่ร่อนไปในดินแดนของประเทศต่างๆ เป็นเวลาถึง 2000 กว่าปี ที่น่าเศร้าไปกว่านั้นก็คือ เมื่อไปอยู่ที่ใดก็มักจะถูกรังเกียจเดียดฉันท์ถูกขับไล่ ต้องอพยพเร่ร่อนไปอยู่เรื่อยๆ
ในบางยุคสมัย ก็ถูกทำร้ายอย่างสาหัส ถึงขนาดทำลายล้างเผ่าพันธุ์เลยทีเดียว ดังโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่ชาวยิวถูกนาซี ฮิตเลอร์ ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไปประมาณ 6 ล้านคน ชาวยิวทั่วโลกจึงรวมตัวกัน รวมพลังจนสามารถตั้งประเทศอิสราเอลขึ้นมาเป็นประเทศอิสระได้ใหม่อีกครั้งหนึ่ง ชาวยิวได้ยืนหยัดต่อสู้กับชาวอาหรับที่เป็นศัตรูรอบด้าน ทั้งที่ประชากรชาวอาหรับที่ต้องทำสงครามกันนั้นมีจำนวนมากกว่าประชากรชาวยิวหลายสิบเท่าตัว แต่ยิวก็สู้จนได้ชัยชนะ จึงเป็นเรื่องชวนคิดว่าอะไรเป็นจุดด้อยที่ทำให้ชาวยิวต้องเผชิญกับปัญหามาโดยตลอด และอะไรเป็นจุดเด่น เป็นแรงขับเคลื่อนให้ชาวยิวมีความเฉลียวฉลาดจนสามารถรักษาเผ่าพันธุ์ไว้ได้ สร้างประเทศใหม่ได้สำเร็จ
ในการทำงานให้ประสบความสำเร็จไม่ว่าจะเป็นงานทางโลกหรืองานทางธรรม พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ให้หลักแห่งความสำเร็จไว้นั่นคือ อิทธิบาท 4 อันประกอบด้วย
1.) ฉันทะ ความรัก ความพอใจที่จะทำงานนั้น
2.) วิริยะ ความพากเพียรอุตสาหะ
3.) จิตตะ ความเอาใจใส่ มีใจจดจ่อ ไม่วอกแวก
4.) วิมังสา ความเข้าใจในงาน ในสิ่งที่จะทำ
ความสำเร็จของชาวยิวก็เช่นกัน เป็นผลมาจากการทำงานที่สอดคล้องกับหลักอิทธิบาท 4 นี้
ฉันทะ ความรักความพอใจในการทำงาน เกิดขึ้นเพราะเห็นประโยชน์ที่จะได้รับจากการทำงานนั้นตัวอย่างเช่น อาชีพการงานที่ได้รับเงินเดือนสูงๆ ก็จะมีคนพากันไปสมัครงานนั้นเป็นจำนวนมาก แม้บางครั้งเป็นงานที่เหนื่อยยากลำบาก แต่ถ้ามีผลตอบแทนสูง ก็ยินดีที่จะทำ นี่คือประโยชน์ที่เห็นกันทั่วๆ ไป
นอกจากนี้ ความพอใจในการทำงาน ยังอาจเกิดขึ้นได้ จากการที่เล็งเห็นโทษภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้นหากไม่ทำงานนั้นๆ จึงเกิดเป็นแรงขับเคลื่อนด้วยความกลัว พยายามจะดิ้นรนขวนขวายทำงานนั้นๆ เพื่อความปลอดภัยของชีวิต ตัวอย่างเช่น คนที่อพยพไปประเทศอื่น ถ้าไม่สู้ไม่ดิ้นรน ไม่อดทนก็คงเอาตัวไม่รอด ผลก็คือต้องสู้ พอได้สู้ก็สู้ได้ เป็นการเค้นเอาศักยภาพของตัวเองออกมาใช้อย่างเต็มที่ จนบางครั้งสามารถสร้างความสำเร็จได้อย่างน่าอัศจรรย์
ชาวยิวก็เช่นกัน เมื่อไม่มีประเทศให้อยู่ ต้องระเหเร่ร่อนไป จึงเป็นแรงกดดันให้เขาต้องสู้ สู้แล้วก็ยังต้องคอยระแวงระวังอีกว่าจะถูกขับไล่ไปอีก ด้วยวิถีชีวิตที่ไม่แน่นอนเช่นนี้ชาวยิวจึงต้องเลือกอาชีพที่สามารถเคลื่อนย้ายอพยพได้อย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นอาชีพทางการเกษตร จึงถูกตัดทิ้งไปโดยปริยาย ต้องประกอบอาชีพ เช่น ค้าขายอัญมณี เพราะจะไปไหนก็ไปได้สะดวก ทรัพย์สมบัติหอบติดตัวไปได้ง่ายหรืออาชีพที่ใช้วิชาความรู้ที่ติดอยู่กับตัว จะไปไหนวิชาก็ติดไปด้วย และด้วยเหตุที่ถูกเขารังเกียจเป็นพื้นฐาน ก็เป็นเรื่องจำเป็นที่ชาวยิวต้องเลือกเอาวิธีการทำให้ตนเป็นที่ต้องการไม่ว่าเขาจะชอบตนหรือไม่ เช่นการฝึกตัวเองให้เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐกิจ ด้านการค้า ซึ่งชาวยิวก็ทำได้ดีจริงๆ มีฝีมือเป็นที่ปรากฏมาจนปัจจุบัน
แม้ว่าเจ้าผู้ครองนคร หรือกษัตริย์ของประเทศต่างๆ ในยุโรป จะไม่ค่อยชอบชาวยิวนัก แต่ถ้าอยากให้เศรษฐกิจในประเทศดีขึ้น จำเป็นต้องรับชาวยิวเข้ามา เพราะเครือข่ายชาวยิวนั้นไม่ว่าจะเข้าไปในดินแดนใด ก็ทำให้เศรษฐกิจการค้าประเทศนั้นสะพัดเฟื่องฟู สามารถวางรากฐานทางด้านการเงิน การคลัง การค้า ไว้ได้อย่างดี เศรษฐกิจในประเทศนั้นๆ ก็จะดีขึ้น แต่เมื่อดีไปได้สักพักหนึ่ง ผู้ปกครองประเทศเห็นว่าชาวยิวหมดความจำเป็น เขาก็จะหาเรื่องวางกติกากฎเกณฑ์บีบบังคับสารพัด จนชาวยิวก็ต้องอพยพเร่ร่อนไปอีก แม้ชาวยิวจะเข้าหากษัตริย์หรือผู้มีอำนาจเสมอ แต่เมื่อกษัตริย์องค์นั้นหมดอำนาจลง ถ้าหากผู้นำคนใหม่หรือกษัตริย์องค์ใหม่ที่ขึ้นมา ไม่ชอบชาวยิวชาวยิวก็จำเป็นต้องอพยพไปที่อื่นอีกเป็นเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ชาวยิวจึงต้องสร้างวิชาติดตัวให้เชี่ยวชาญ ถึงขนาดที่ว่าท่านไม่ชอบเราไม่ป็นไร แต่ท่านจำเป็นต้องพึ่งเราก็แล้วกัน ชาวยิวต้องทำให้ได้ถึงขนาดนั้น ถึงจะเอาตัวรอดได้ นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ชาวยิวมีชีวิตที่ต้องดิ้นรนต่อสู้ ต้องตื่นตัวพัฒนาตนตลอดเวลา
ในยามที่บ้านเมืองมีการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบบประชาธิปไตย วิชากฎหมายมีความสำคัญมากเพราะเป็นกติกาของสังคมที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม ชาวยิวก็ต้องหันมาจับเรื่องกฎหมายเพิ่มขึ้นมา โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ชาวยิวไม่เพียงแต่เชี่ยวชาญเรื่องเศรษฐกิจ การเงิน การศึกษา แต่ยังเชี่ยวชาญเรื่องกฎหมาย ยิ่งไปกว่านั้นในยุคปัจจุบันที่เป็นยุคของการสื่อสาร ชาวยิวก็ให้ความสำคัญเรื่องสื่อเป็นนายทุนครอบครองสื่อที่มีอิทธิพลชี้นำมติมหาชนในอเมริกาได้ แม้ชาวยิวจะมีจำนวนไม่มาก แต่หากเกิดสงครามยิว-อาหรับเมื่อไร มติมหาชนในอเมริกาก็จะหนุนชาวยิวเสมอ เพราะชาวยิวในอเมริกาซึ่งมีอยู่หลายล้านคน ได้วางแผนการล่วงหน้าเอาไว้อย่างดี มียุทธศาสตร์ของตัวเองอย่างดี ทำให้ควบคุมความเป็นไปต่างๆ ที่จะมีอิทธิพลต่อความดำรงอยู่หรือล่มสลายของประเทศตัวเองได้ เพราะชาวยิวรู้ดีว่า ถ้าสู้ไม่ได้ ตายแน่นอน ทางรอดทางเดียวก็คือ ต้องสู้ตาย
เมื่อมีความกลัวเป็นแรงขับเคลื่อนเช่นนี้ ฉันทะจึงเกิดขึ้นอย่างมหาศาล เมื่อมีฉันทะ ความวิริยะอุตสาหะก็จะเกิดตามมาทันที ส่วนจิตตะหรือความมีใจจดจ่อ เอาใจใส่ขวนขวายอย่างต่อเนื่องก็จะตามมา และข้อสุดท้าย วิมังสา ความเข้าใจในการทำงานย่อมเกิดขึ้นจากการทุ่มเทศึกษา พัฒนาตัวเอง เค้นศักยภาพของตนออกมาใช้อย่างเต็มที่ จะหยิบจับเรื่องใดก็ต้องพยายามพัฒนาตนให้เก่งที่สุดในเรื่องนั้น ตามหลักที่ว่า “ใครไม่ชอบเราไม่เป็นไร ในเมื่อเราเก่งที่สุด เชี่ยวชาญที่สุด อย่างไรเขาก็ต้องพึ่งเรา” นั่นคือ ยุทธศาสตร์ของชาวยิว นี่คือ ผู้ถูกสถานการณ์บังคับให้ต้องดิ้นรนต่อสู้มาตลอด 2000 กว่าปี ชาวยิวจึงปลูกฝัง การต่อสู้อย่างเป็นระบบเช่นนี้ สู่รุ่นลูกรุ่นหลานจนทำให้ปัจจุบันมีชาวยิวที่มีความสามารถอยู่จำนวนมาก ในโลกนี้
เราทุกคนก็สามารถฝึกฝนตนเองให้เก่งได้เช่นกัน โดยเริ่มต้นที่การสร้างแรงจูงใจให้กับตัวเอง คือ สร้างฉันทะขึ้นมาให้ได้ก่อน อาจจะไม่ใช่จากความกลัวหรือเพื่อเอาตัวรอด เหมือนเช่นชาวยิวแต่ทว่าเป็นแรงจูงใจทางบวก ซึ่งต้องอาศัยความตั้งใจมากหน่อย.เพราะคนโดยทั่วไปที่ชีวิตไม่มีแรงกดดันอะไรมาก บางทีก็อดคิดไม่ได้ว่า ชีวิตเราก็สุขสบายดี มีข้าวกิน ไม่เห็นจะต้องไปดิ้นรนขวนขวายทำอะไรมากมายนักหนา แต่สำหรับพวกเราที่ได้ศึกษาปฏิบัติธรรม รู้เป้าหมายชีวิตแล้ว จึงจำเป็นจะต้องมองให้ไกลๆ ว่า ชีวิตเรามิใช่มีเพียงชาตินี้เท่านั้น ยังมีชีวิตหลังความตาย ยังมีภพชาติให้ต้องเวียนว่ายตายเกิด เพื่อเป็นหลักประกันว่าละจากโลกนี้ไปแล้วเราจะไปดี เราจึงต้องทุ่มเทฝึกตัวเองเต็มที่ สร้างบุญสร้างกุศลให้เต็มที่ นี่คือแรงจูงใจด้านบวก
นอกจากนี้ เราไม่รู้หรอกว่า ภพชาติอดีตเราทำกรรมมาอย่างไร ถ้าไม่ขวนขวายฝึกตนทำความดีเต็มที่แล้ว ก็ไม่มีสิ่งใดเป็นหลักประกันได้ว่า เราจะได้ไปสุคติแน่นอน ฉะนั้นเกิดมาเป็นคนทั้งทีมันต้องเอาดีให้ได้ เราต้องพัฒนาตัวเองให้เต็มที่ ไม่ใช่เพราะอยากเป็นใหญ่เป็นโตอะไร แต่เพื่อให้เราสามารถพัฒนาศักยภาพตัวเองให้เต็มที่ แล้วนำศักยภาพนั้นไปทำความดี แท้จริงแล้วตำแหน่งหน้าที่การงาน ทรัพย์สินเงินทอง ล้วนมีไว้เพื่อสร้างบุญสร้างกุศล สร้างบารมีเหมือนพระบรมโพธิสัตว์ ถ้าคิดอย่างนี้ มีแรงจูงใจทางบวกอย่างนี้ สวมหัวใจพระบรมโพธิสัตว์อย่างนี้แล้วล่ะก็ ความวิริยะอุตสาหะจะเกิดขึ้นทันที แม้ต้องสร้างบารมีข้ามภพข้ามชาติ ยาวนานถึง 20 อสงไขยกับแสนมหากัปเราก็สู้ เราจะขยันไม่ไช่แค่ชาตินี้ชาติเดียว แต่จะขยันต่อเนื่องไม่รู้จบถึง 20 อสงไขยกับแสนมหากัป เราก็ยังสู้ได้ เราจะมีใจจดจ่อไม่วอกแวกไม่ละทิ้งกลางคันเลย
เมื่อเราทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความตั้งใจและเข้าใจ เราจะเกิดการตั้งเป้าหมายลงมือทำและพัฒนาตัวเองตลอดเวลา เหมือนการยิงปืนที่ต้องเล็ง ยิงและปรับศูนย์ เมื่อไม่เข้าเป้าต้องเล็ง ยิง ปรับศูนย์ใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนในที่สุดก็เข้าเป้าได้สำเร็จ ทุกคนสามารถทำได้โดยต้องจับหัวใจตรงนี้ให้ได้ เราจะต้องสร้างฉันทะสร้างแรงจูงใจตัวเราเองขึ้นมาก่อน มองประโยชน์ให้เห็นชัดๆ ตอกย้ำลงไป วิริยะ จิตตะ วิมังสา ก็จะตามมาเป็นกระบวนการเป็นขั้นเป็นตอน เมื่อมีฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา อย่างครบถ้วนต่อเนื่องอย่างนี้แล้ว เราจะได้ดีแน่นอน ประสบความสำเร็จแน่นอน
สำหรับคำถามที่ว่า เหตุใดชาวยิวจึงไม่ค่อยเป็นที่รัก เหตุใดจึงถูกขับไล่ ทำลายล้างอยู่ตลอดมานั้น มีความเป็นไปได้ว่าเมื่อคนเราพัฒนาศักยภาพตัวเองขึ้นมา จนมีความเก่งกาจ ก็มักจะภูมิใจในตัวเอง ประกอบกับชนชาวยิวได้รับการปลูกฝังมาว่าพวกเขาเป็นชนชาติที่พระเจ้าเลือกสรรแล้ว ชนชาติอื่นในโลกนี้ล้วนสู้เขาไม่ได้ พวกเขาดีที่สุด ตรงนี้เองที่ทำให้เกิดความภาคภูมิใจและทระนงมองผู้อื่นว่าด้อยกว่าตน จึงนำไปสู่ความไม่พอใจ ความขัดแย้งและการต่อต้านจากชนชาติอื่นเสมอมา
เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ที่มีความเชื่อว่าตัวเองเหนือกว่าผู้อื่น ยิ่งใหญ่กว่าผู้อื่น แต่กลับถูกผู้อื่นบีบบังคับ รังแก ต้องคอยอพยพหลบหนีอยู่เรื่อยๆ ชีวิตจึงเต็มไปด้วยความกดดัน ความหวาดระแวง จนบดบังความมีน้ำใจไปบ้าง เพราะต้องเอาตัวเองให้รอดก่อน เมื่อเป็นเช่นนี้ ความเสียสละและการให้ทานจึงพลอยลดหย่อนไป ทำให้ไม่ใคร่จะเป็นที่รักนัก ถูกหาว่าตระหนี่ถี่เหนียวบ้าง ถึงขนาดนำชื่อชนชาติมาใช้ว่าคนที่มีอัธยาศัยเช่นนี้ว่า “ยิว”กันเลย นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาเป็นวงจรลบ
ใครก็ตามถ้าหากไม่ยกตนข่มท่าน แต่เปิดใจกว้างยอมรับผู้อื่น มีน้ำใจไมตรีต่อผู้อื่น เรียกว่า ทั้งเก่งด้วยทั้งดีด้วย อย่างนี้ก็จะสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างสงบสุข ประสบความสำเร็จและเป็นที่ยอมรับของทุกคน เราจึงต้องศึกษาพิจารณาให้ถ่องแท้ว่าจะนำหลักธรรมของพระพุทธศาสนามาใช้อย่างไร เพื่อเป็นทั้งคนเก่งและดี เพื่อที่ทุกๆ ชีวิตจะได้อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข
————————————————————————————————————————————-
ที่มา : หนังสือ “ทันโลกทันธรรม” โดย พระมหาดร.สมชาย ฐานวุฑฺโฒ