กิร ดังได้สดับมา
ชายคนหนึ่งเดินทางจากกรุงเทพฯ เพื่อไปตากอากาศริมทะเลแถวบางแสน ผ่านหมู่บ้านอ่างศิลาที่มีโรงงานแกะสลักหินอยู่จำนวนมาก จึงแวะรถหน้าโรงงานแห่งหนึ่งซึ่งเป็นโรงงานใหญ่และมีคนงานจำนวนมากกำลังสลักหินกันอยู่ เข้าไปในโรงงานเดินชมรูปสลักหินที่วางเรียงรายอยู่ เดินเรื่อยไปจนถึงบริเวณที่ช่างกำลังสลักหินกันอยู่จึงเข้าไปถามช่างคนหนึ่ง ซึ่งใช้ค้อนตอกสลักหินด้วยท่าทางขึงขังหน้านิ่วคิ้วขมวด เหงื่อท่วมตัวว่า “นี่น้อง ทำอะไรน่ะ”
ช่างคนนั้นตอบโดยไม่เงยหน้าด้วยทีท่าไม่พอใจว่า “ก็กำลังสลักหินอยู่ ไม่เห็นหรือไง ไม่น่าถาม”
เขารีบเดินหนีไป ขืนอยู่ตรงนั้นอาจโดนช่างคนนั้นสลักตัวแทนหินก็ได้
พบคนต่อมาก็ทำงานเหงื่อท่วมตัว กำลังสลักหินอยู่เหมือนกัน จึงถามเหมือนคนแรกว่า
“น้องๆ ทำอะไรอยู่น่ะ”
“อ๋อ..กำลังทำมาหากินอยู่” เขาเงยหน้าตอบแบบไม่แยแส ไม่ยินดียินร้าย
เดินไปอีกหน่อยเห็นชายกลางคนง่วนอยู่กับสลักหิน เหงื่อท่วมตัว แต่สีหน้ายิ้มแย้มแบบมีความสุข จึงถามว่า
“พี่ ๆ กำลังทำอะไรน่ะ” เขาเงยหน้าตอบอย่างยิ้มแย้มและภาคภูมิใจว่า
“ผมกำลังสร้างโบสถ์ครับ วัดในชลบุรีนี่แหละมาว่าจ้างโรงงานให้สลักสิงโตเชิงบันไดโบสถ์ ผมงี้ชื่นใจจริง ๆ ได้มีโอกาสฝากฝีมือไว้ แถมได้บุญด้วย” เรื่องก็จบแค่นี้
เรื่องนี้สื่อความให้เห็นว่า
ในการทำงานทุกอย่างย่อมต้องเหน็ดเหนื่อยเหมือนกันหมด แต่ถ้ามีอารมณ์ในขณะทำงานต่างกัน ผลที่ออกมาก็จะต่างกันชนิดหน้ามือเป็นหลงมือเลยทีเดียว กล่าวคือในขณะทำงานนั้นหากจิตใจมุ่งไปในทางบุญกุศล ในทางที่เป็นศิลปะ ก็จะได้ความสุขจากการทำงาน ทำงานอย่างเพลิดเพลิน เเละได้ผลงานที่ประณีตวิจิตรงดงามเพราะทำงานด้วยจิตที่วิจิตร ผลงานที่ออกมาย่อมทำให้เกิดความสุขเเละความภาคภูมิใจตลอดชีวิตเมื่อนึกถึง ตรงกันข้ามหากว่าทำงานด้วยคิดแต่เพียงจะรับค่าจ้างท่าเดียว ไม่คิดถึงเรื่องผลงาน ผลงานจะเป็นอย่างไรก็ช่าง ขอให้เสร็จ ๆ ไปเป็นใช้ได้ ก็จะทำงานด้วยอารมณ์บูดตลอดเวลา เมื่อทำงานด้วยจิตที่มีอารมณ์บูดเสียก็จะเหนื่อยเร็ว อยากให้งานเสร็จหรือให้เวลาหมดไปเร็ว ๆ ทั้งจะไม่มีความสุขในการทำงานนั้นเลย ในการทำงานทุกอย่างนั้นถ้าปรับความคิดให้ชอบงานที่ทำ คิดถึงผลงานมากกว่าผลเงินและสนุกกับการทำงานได้ ย่อมจะเหนื่อยน้อยลงหรือไม่เหนื่อยเลย
——————————————————————————————————–
หนังสือ กิร ดังได้สดับมา โดย พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต)