โลกแบน

  • by

โลกแบน

         เมื่อครั้งเป็นเด็กนักเรียนคุณครูสอนว่า “โลกกลม” จนพวกเราจำได้ขึ้นใจและเมื่อได้ศึกษาวิชาภูมิศาสตร์ก็ยิ่งเข้าใจลักษณะทางกายภาพของโลก แต่การที่ตั้งประเด็นว่า “โลกแบน” นี้ก็ไม่ได้ขัดแย้งกับทฤษฎีเดิมแต่อย่างใด เพราะเป็นการพูดถึงลักษณะของโลกในเชิงโลกาภิวัตน์ (Globalization) เพื่อให้เห็นภาพของโลกในยุคที่ข้อมูลข่าวสารสามารถสื่อสารเชื่อมต่อถึงกันได้อย่างรวดเร็วจากทุกมุมโลก จนราวกับว่า ทุกอย่างใกล้กันถึงกันเห็นกันหมดทั้งโลก

         การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ได้ส่งผลต่อทุกชีวิตบนโลก แม้แต่ชีวิตในวัดเราอาจจะนั่งอยู่กับที่ในวัดไม่ได้ออกไปไหน แต่เรากลับสามารถติดต่อศูนย์สาขาในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นที่โตเกียว นิวยอร์ก ลอนดอน ปารีส ลอสแองเจลิส ซิดนีย์ ฯลฯ ด้วยระบบโทรศัพท์ภายใน โดยกดเลขหมายเพียง 4 หลัก ก็สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ทั่วโลก

         บางครั้งขณะกำลังโทรศัพท์ติดต่อกับศูนย์สาขาต่างประเทศอยู่ ก็ได้ยินเสียงของพระเดชพระคุณหลวงพ่อ¹ที่กำลังออกอากาศทาง DMC² แว่วเข้ามาในโทรศัพท์เทียบกับเสียงที่ฟังอยู่ที่วัด ก็ตรงกัน เป็นเสียงเดียวกัน จนมีความรู้สึกว่า คนที่เรากำลังคุยด้วยอยู่ไม่ไกลจากเราเลย นอกจากนี้ในการค้นคว้าข้อมูลต่างๆ ผู้ที่อยู่ในต่างประเทศก็สามารถทำได้ด้วยการเข้าระบบ LAN ของวัด ซึ่งระบบต่างๆ เหล่านี้ได้ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของวัดจนราวกับว่าศูนย์สาขาที่โตเกียว นิวยอร์ก แอลเอ ซิดนีย์ ฯลฯ นั้น ได้มีออฟฟิศตั้งอยู่ข้างๆ ออฟฟิศของเราในวัดนี้เอง ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีได้ทำให้ระยะทางทางภูมิศาสตร์ไม่เป็นอุปสรรคต่อการสื่อสารอีกต่อไป

         เมื่อมองกว้างไปถึงทั้งโลก การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีนี้ทำให้เกิดผลตามมาคือ คนเราสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลในโลกจำนวนมากมายมหาศาลได้โดยตรง ใครสนใจเรื่องใดก็สามารถไปค้นคว้าได้เลย ในสมัยก่อนหากอยากทราบข้อมูลเรื่องใด ต้องเขียนจดหมายไปถามหน่วยงานราชการต้นแหล่ง แล้วก็อาจต้องรอการตอบกลับสักเดือน สองเดือน สามเดือน หรืออาจจะหายเงียบไปเลย แต่ปัจจุบันนี้ เราสามารถเข้าไปค้นหาข้อมูลในเว็บไซต์ต่างๆ ได้เลย

         ดังนั้นเราสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลโดยตรงด้วยตัวเอง ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันเราก็สามารถเป็นผู้ให้ข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน ขึ้นอยู่กับว่าข้อมูลของเรามีพลังดึงดูดแค่ไหน ถ้าข้อมูลของเราเป็นข้อมูลที่ดีมีความน่าสนใจ จะมีผู้คนจากทั่วโลก มารับข้อมูลข่าวสารจากเรา เพราะเขาสามารถเข้าถึงข้อมูลของเราได้ถ้าเขาต้องการ

         เมื่อโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างนี้ ทั้งยังมีวิวัฒนาการอย่างรวดเร็ว ซึ่งนับวันมีแต่จะเร็วขึ้นๆ เราจึงควรที่จะมีหลักปฏิบัติเพื่อให้สามารถรับมือกับเรื่องของโลกแบนหรือโลกแห่งนวัตกรรมการสื่อสารเช่นนี้ได้

         ประการแรก เราต้องมีวินัยเรื่องเวลา เนื่องจากเราสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างไม่มีขีดจำกัด ถ้าเราไม่คุมเวลา ไม่ตั้งประเด็นให้ดีว่าเราจะค้นหาข้อมูลเรื่องใด ผลก็คือเมื่อเราเข้าไปในเว็บไซต์เพื่อหาข้อมูลเรื่องหนึ่งแต่พอไปเจออีกเรื่องที่น่าสนใจ เราก็จะเข้าไปดูแล้วก็ดูต่อไปเรื่อยๆ บางคนดูเพลินใช้เวลาหมดไปเป็นวันๆ เราจะรับข้อมูลเยอะแยะมากมาย จนข้อมูลเรื่องแรกๆ ที่เราต้องการจริงๆ อาจขาดตกบกพร่องหรืออาจจะถูกลืมไปได้ ยิ่งไปกว่านั้นบางคนอาจจะหลงเพลินไปในเรื่องที่ไร้สาระ เช่น ไปดูสื่อในอินเตอร์เน็ตที่เป็นสื่อประโลมโลก หมดเวลาไปเป็นวันเป็นเดือนก็มี เด็กบางคนติดเกมส์ออนไลน์เล่นทั้งวันทั้งคืนจนเกิดผลกระทบต่อการเรียนและสุขภาพ

         เพราะฉะนั้น เราจะต้องมีวินัยในตัวเอง คุมเวลาให้ได้ เราจะให้เวลาสำหรับเรื่องนี้วันละเท่าไร เช่นในเรื่องการค้นหาข้อมูล บางคนประกอบอาชีพที่จำเป็นต้องใช้ข้อมูลจำนวนมากอาจจะใช้เวลาประมาณ 2–3 ชั่วโมง ก็ต้องคุมเวลาให้ได้ตามนั้น ไม่เช่นนั้นจะถูกกระแสข้อมูลพัดท่วมจมหายไปโดยไม่สามารถคว้าสาระประโยชน์ กลับมีแต่ข้อมูลขยะเต็มไปหมด นี่เป็นเรื่องที่เราต้องระวังกันให้ดี

         เปรียบเหมือน การนั่งเกวียนในสมัยก่อน เกวียนค่อยๆ เคลื่อนที่ไป ลมก็พัดโชยมาเบาๆ คนก็นั่งไปแบบสบายๆ แต่ตอนนี้เหมือนกับเราขึ้นรถด่วน ขึ้นทางด่วน ข้อมูลวิ่งกันแบบชินคันเซ็น³ ชั่วโมงหนึ่งเป็นร้อยๆ กิโลเมตรฝ่าแรงลมที่ปะทะอย่างรุนแรง ถ้าตั้งหลักไม่ดีก็จะถูกลมพัดปลิวหายไปได้

         นอกจากนี้ข้อมูลที่ผ่านตัวเรามีทั้งที่เป็นเพชรนิลจินดาคือมีประโยชน์มาก มีทั้งข้อมูลที่เป็นเหมือนกรวดทรายไม่ค่อยเป็นประโยชน์เท่าไรนัก และข้อมูลที่เป็นเหมือนขยะมูลฝอยสิ่งปฏิกูลก็มีอยู่ไม่น้อย สิ่งเหล่านี้ถ้าเราไม่คัดกรองให้ดีจะทำให้ใจของเราเปรอะเปื้อน เสียทั้งเวลาและคุณภาพของใจ เรียกว่ามีแต่ติดลบอย่างเดียว

         ประการที่สอง เราต้องรู้จักวิธีใช้ประโยชน์จากข้อมูล ในการเข้าถึงข้อมูล ควรคิดก่อนว่าขณะนี้เราต้องการข้อมูลเรื่องอะไรจะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริงไหม แล้วก็เจาะเรื่องนั้นให้ได้ อย่าเฉไปเรื่องอื่น เพราะจะทำให้เราลืมประเด็นเดิมที่ต้องการ จับหลักให้แม่น มีสติอยู่ตลอดเวลา เมื่อเจอข้อมูลต่างๆ ที่น่าสนใจ ให้คิดต่อว่า เราจะนำมาใช้ประโยชน์ในการทำงานจริงๆ ได้อย่างไร ถ้าคิดไปถึงขั้นตอนการนำมาใช้ประโยชน์ เราจะเลือกหยิบเลือกศึกษารวบรวมข้อมูลมาได้อย่างแม่นยำ ตรงตามวัตถุประสงค์

         ขณะเดียวกัน อย่าเป็นเพียงผู้ที่รับรู้ข้อมูลเท่านั้น แต่เราจะต้องรู้จักใช้โอกาสที่มาถึงด้วย สังเกตดูคนที่ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่คนที่รู้ข้อมูลมากที่สุด แต่เป็นคนที่รู้จักใช้ประโยชน์จากข้อมูลมากที่สุด ยกตัวอย่างเช่นบางคนนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ทั้งวันอ่านนั่นอ่านนี่ ใครพูดอะไรก็รู้เรื่องไปหมด แต่เรื่องเหล่านั้นกลับไม่มีประโยชน์ต่อหน้าที่การงานของเขาเลย แต่บางคนอาจจะใช้เวลาในการหาข้อมูลเพียงครึ่งชั่วโมงหรือหนึ่งชั่วโมงต่อวัน แต่ว่าด้วยใจที่นิ่ง หลักที่แม่น พอเห็นข้อมูลก็รู้ว่าส่วนไหนสามารถนำไปใช้ได้อย่างไร ข้อมูลเพียงเรื่องเดียวที่เขาหยิบจับไปใช้จะมีสาระและเป็นประโยชน์กับตัวเขา มากกว่าคนที่จมอยู่กับข้อมูลเป็นร้อยเป็นพันเรื่อง แต่ไม่รู้จะนำข้อมูลไหนไปใช้ได้อย่างไร

         ตัวอย่างหนึ่งที่เราคุ้นชื่อกันดีคือ Googleปัจจุบันนี้ผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์ต่างรู้จัก Google กันเป็นอย่างดีทั้งที่ Google เพิ่งเกิดมาได้แค่ประมาณสิบปีนี้เอง จากนักศึกษาปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด 2 คน ที่เกิดความคิดขึ้นมาว่า ข้อมูลในอินเตอร์เน็ตมีมหาศาล การค้นข้อมูลต้องใช้เวลานานมาก ถ้าสร้างโปรแกรมที่เรียกว่า Search engine มาช่วยในการค้นข้อมูลได้คงจะดี ใครต้องการข้อมูลเรื่องใดเพียงแค่พิมพ์คำที่ต้องการรู้เข้าไป โปรแกรมจะช่วยค้นหาว่าข้อมูลนั้นอยู่ตรงไหนบ้าง เริ่มจากความคิดสร้างสรรค์มองประเด็นถูกต้องและใช้โอกาสได้ถูกต้อง ผ่านเวลามาเพียงแค่ 10 ปี ขณะนี้บริษัท Google กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าหุ้นตามราคาตลาดหลักทรัพย์นับแสนล้านเหรียญหรือประมาณ 4 ล้านล้านบาท นับว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ เพราะรู้จักหาประโยชน์จากโอกาสและข้อมูล

youtube-logo

อีกตัวอย่างหนึ่งคือผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ You Tube เว็บไซต์นี้เพิ่งเกิดขึ้นมาประมาณ 3 ปี เท่านั้นเอง เริ่มต้นจากการที่เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตได้พัฒนาจากอินเตอร์เน็ตธรรมดา มาเป็นบรอร์ดแบนด์คืออินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ทำให้สามารถดูวิดีโอทางอินเตอร์เน็ตได้ เขาจึงเกิดความคิดในการตั้งเว็บไซต์ขึ้นมาแล้วนำเอาวิดีโอที่น่าสนใจมารวมกันไว้ให้คนเข้ามาดู

         ช่วงแรกเว็บไซต์นี้มีวิดีโอแค่ 50 เรื่อง ผู้สร้างเองก็กลุ้มใจว่าจะไปหาวิดีโอมาจากไหน ต่อมาคิดได้จึงประกาศออกไปว่า ใครมีวิดีโอน่าสนใจอยากจะเผยแพร่ให้นำมาใส่ไว้ในเว็บไซต์นี้ได้ แล้วเขาก็ทำหน้าที่จัดหมวดหมู่ ให้คนสามารถเข้ามาเลือกดูได้ง่าย

         เมื่อจับถูกทางเวลาผ่านไปแค่ปีเศษจากวิดีโอ 50 เรื่อง ได้เพิ่มเป็นประมาณ 100 ล้านเรื่อง และเพิ่มขึ้นทุกวัน วันหนึ่งเป็นแสนเป็นล้านเรื่อง เว็บไซต์เป็นที่นิยมมากจนกระทั่ง Google มาขอซื้อไปหลังจากก่อตั้งเว็บไซต์ได้ปีเศษในราคาประมาณ 1.65 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 50,000 ล้านบาท) จากพนักงานกินเงินเดือนคนหนึ่ง เพียงแค่ปีกว่าก็สามารถสร้างธุรกิจได้สินทรัพย์เพิ่มขึ้นถึง 50,000 ล้านบาทได้

         เรื่องราวที่หยิบยกมานี้ ไม่ได้มุ่งหมายให้ทุกคนทำตาม เป็นเพียงตัวอย่างว่า เราอย่าคิดเพียงแต่จะเป็นผู้บริโภค เป็นเพียงคนที่จมอยู่ในข้อมูล แต่ให้อยู่ในฐานะผู้สร้างสรรค์คิดว่าเราจะใช้ข้อมูลใช้โอกาสที่มาถึงอย่างไร เราจะมีมุมมองที่กว้างขึ้น และสามารถใช้ประโยชน์จากโลกที่เปลี่ยนไปได้อย่างเต็มที่

         ประการที่สาม ช่วยกันให้ข้อมูลที่ดี ต้องคิดด้วยว่าเราจะให้ข้อมูลที่ดีกับโลกได้อย่างไร อย่าคิดแต่เรื่องผลประโยชน์ทางธุรกิจเพียงอย่างเดียว เมื่อข้อมูลบนโลกอินเตอร์เน็ตมีทั้งที่เป็นเพชรนิลจินดาและขยะอย่างที่กล่าวไปแล้ว ทำอย่างไรเราจึงจะเพิ่มส่วนที่เป็นเพชรนิลจินดาให้มากขึ้น และลดส่วนที่เป็นขยะให้น้อยลง

         ปัจจุบันนี้ ในเว็บไซต์ของไทยเราเอง โดยเฉพาะเว็บไซต์ข่าว ก็จะมีที่ให้แสดงความคิดเห็น หรือบางคนก็ไปตั้งกระทู้ไว้ในเว็บบอร์ดบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื่องที่ว่าร้ายโจมตีกัน โดยใช้ถ้อยคำที่หยาบคายบ้าง สิ่งเหล่านี้ไม่เป็นสาระเลย เสียทั้งเวลา อารมณ์และคุณภาพของใจ

         การใช้ถ้อยคำหยาบคายว่าร้ายกัน แม้ไม่เจอหน้าค่าตากัน ก็ทำให้ใจหยาบตามกันไปได้ คนพิมพ์คำหยาบวันหนึ่งเป็นสิบเป็นร้อยคำใจจะหยาบกระด้าง หลับก็ไม่เป็นสุข ยิ่งถ้าทำทุกวันด้วยแล้วก็จะเป็นคนก้าวร้าว ชีวิตจะไม่มีความสุขพลอยทำให้ครอบครัว เพื่อนฝูงไม่มีความสุขไปด้วย คนที่ได้อ่าน อ่านแล้วใจก็หมอง ใจก็หยาบ ไม่เกิดประโยชน์ ดังนั้นการจะแสดงความคิดเห็นอะไรขอให้เป็นไปในเชิงสร้างสรรค์ มีสาระและประโยชน์ ไม่ใช่แสดงความคิดเห็นในเชิงว่าร้ายโจมตีกัน

         ขณะเดียวกันใครมีความสามารถที่จะให้ข้อมูลที่ดีมีประโยชน์ ก็ต้องช่วยกันเผยแพร่ความรู้ ข้อคิดดีๆ เหล่านั้น ทางวัดเองก็พยายามอย่างเต็มที่ได้ใช้สื่อสร้างสรรค์ต่างๆ ให้ความรู้ธรรมะโดยผ่านทางเทคโนโลยี เช่น ดาวธรรมเผยแพร่ผ่านทางเทคโนโลยีทีวีดาวเทียม เว็บไซต์ dmc.tv ผ่านเทคโนโลยีบรอร์ดแบนด์ เป็นต้น

         พวกเราทุกคนจะมีส่วนในการเพิ่มข้อมูลที่ดีให้กับโลก เพื่อนำพาโลกให้ไปสู่หนทางที่ถูกต้อง เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาเหล่านี้ จะทำให้การนำธรรมะไปสู่โลกทำได้ง่ายและมีประสิทธิภาพขึ้น ถ้าเป็นสมัยก่อนการเผยแผ่ธรรมะให้กับชาวต่างชาติ เราจะต้องดั้นด้นเดินทางไปถึงต่างประเทศ หรือเขาจะต้องเดินทางมาหาเราถึงที่จึงจะทำได้ แต่ตอนนี้เราเผยแผ่ธรรมะผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่มีเว็บไซต์และอินเตอร์เน็ตเป็นต้น ถ้าเราตั้งใจทำให้ดี มีเนื้อหาที่น่าประทับใจแปลเป็นภาษาต่างๆ ในที่สุดจะมีคนจากทั่วทุกมุมโลกสนใจศึกษา บางคนอาจจะลงทุนเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาหาเรา แล้วลงมือศึกษาธรรมะกันอย่างจริงจัง นี่ก็เป็นวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่มีประสิทธิภาพอีกแบบหนึ่ง

         การสร้างวัดในต่างประเทศหลายแห่งก็เป็นผลมาจากดาวธรรม เมื่อญาติโยมได้ดูดาวธรรมก็เกิดศรัทธารวมตัวรวมกลุ่มกันแล้วขอให้ทางวัดส่งพระไปช่วยสร้างวัด ถ้าเป็นสมัยก่อนเราจะสร้างวัดที่ไหนก็ส่งพระไป แล้วค่อยๆ ชวนญาติโยมมาปฏิบัติธรรม พอญาติโยมมามากขึ้นจึงค่อยชวนสร้างเป็นวัด ปัจจุบันนี้กลับตาลปัตร ญาติโยมมีศรัทธาเพราะได้ดูดาวธรรมหรือ dmc.tv มาก่อนแล้ว พอมีความพร้อมก็รวมกลุ่มกันแล้วจึงมาขอให้ทางวัดส่งพระไปช่วยสร้างวัด นี่คืออานิสงส์หรือประโยชน์ของเทคโนโลยีอย่างหนึ่งบนพื้นฐานของการใช้ให้ถูกต้องนั่นเอง

         นอกจากนี้ยังมีชาวต่างชาติในภูมิภาคต่างๆ รวมถึงตะวันออกกลาง เช่น อิหร่าน เมื่อได้รับชมธรรมะจากดาวธรรมหรือเว็บไซต์ dmc.tv แล้วรู้สึกประทับใจ ขอมาศึกษาธรรมะที่วัดพระธรรมกายก็มีจำนวนไม่น้อย

         นับได้ว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ ได้เปิดหนทางที่กว้างขวางให้พวกเราได้ช่วยกันเผยแผ่ธรรมะ มอบสิ่งดีๆ ให้กับโลกได้ เช่นการทำเว็บบล็อก ซึ่งคล้ายกับเว็บไซต์แต่สะดวกกว่า เพราะไม่ต้องจดทะเบียน เพียงเราไปอยู่ในเว็บไซต์ใหญ่ที่ให้บริการเว็บบล็อก ก็สามารถสร้างบล็อกของตัวเองได้ เหมือนกับเขียนไดอารี่(Diary) ถ้าเราทำได้ดีก็จะมีคนสนใจมาอ่าน บางเว็บบล็อก มีคนมาอ่านนับแสนคนต่อวัน ถ้าเราทำเว็บบล็อก ของเราให้ดีมีเสน่ห์ดึงดูดใจ ข้อมูลบทความต่างๆ ทำให้ดีเกลาให้คม เว็บบล็อก ของเราจะมีคนเข้ามาอ่านวันละเป็นแสนคนได้เช่นกัน ความคิดของเราจะสื่อไปถึงคนนับแสนและมีอิทธิพลต่อความคิดของเขา เท่ากับเราได้มอบสิ่งดีๆ ให้กับผู้คนมากมาย

         ศักยภาพของคนเราสามารถเพิ่มพูนได้อย่างไม่มีขีดจำกัด อยู่ที่เราตั้งใจพัฒนาตัวเองแค่ไหนบางคนใช้ศักยภาพในตัวเองแค่หนึ่งส่วนแต่บางคนนำมาใช้ถึงล้านส่วน อยู่ที่ความตั้งใจของเรา ดังนั้นพวกเราชาวพุทธทุกคนช่วยกันคิดดูเถิดว่าจะใช้โอกาสที่มาถึงนี้ให้เป็นประโยชน์ต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้อย่างไร

         ในภาวะที่เทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ข้อมูลข่าวสารเกิดขึ้นมามากมายมหาศาลเช่นนี้ คงไม่มียุคใดเลยที่สติและสมาธิจะมีความจำเป็นต่อเราและผู้คนในโลกมากขนาดนี้ แค่ประโยชน์ขั้นต้นของสมาธิคือการทำใจให้สงบ ก็มีความจำเป็นอย่างมหาศาลสำหรับคนในยุคนี้แล้ว เพราะ “หยุด” นี่แหละจะเป็นตัวสำเร็จ ผู้ที่มีใจนิ่ง จะสามารถมองเห็นความเปลี่ยนแปลง มองข้อมูลรอบตัวได้อย่างกระจ่าง และสามารถปฏิบัติตามหลัก 3 ข้อ คือ คุมเรื่องเวลา หาประโยชน์จากข้อมูล และนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่โลกได้ตามที่ตั้งใจ

เพราะฉะนั้น ยิ่งภายนอกเปลี่ยนแปลงเร็วเพียงใด ใจของเราจะต้องนิ่ง เพิ่มชั่วโมงหยุด ชั่วโมงนิ่งให้สมดุลกันเพียงนั้นด้วย เพื่อจะได้บรรลุหลักการและความตั้งใจดังกล่าว

—————————————————————————————————-
¹ พระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์ เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย
² DMC (Dhamma Media Channel) เป็นสื่อเพื่อการศึกษาธรรมะ
ทางไกลผ่านดาวเทียมเรียกอีกอย่างว่า “ดาวธรรม”
³ ชินคันเซ็น (shinkansen) เป็นเครือข่ายของรถไฟความเร็วสูงในญี่ปุ่น
ในรางปกติสามารถเร่งความเร็วสูงสุดได้ถึง 443 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และเมื่อวิ่งด้วยรางรถไฟแม่เหล็ก (แม็คเลฟ) จะสามารถเร่งความเร็วได้ถึง 581 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเป็นความเร็วสถิติโลก

————————————————————————————————————————————-
ที่มา : หนังสือ “ทันโลกทันธรรม” โดย พระมหาดร.สมชาย ฐานวุฑฺโฒ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *