จุดเปลี่ยน พระริเวอร์ ภทฺทโก

  • by

จุดเปลี่ยน พระริเวอร์ ภทฺทโก
พระริเวอร์ ภทฺทโก

ข้ามน้ำ ข้ามทะเล และข้ามมาเจอจุดเปลี่ยนในประเทศไทย
พระริเวอร์ ภทฺทโก พระภิกษุชาวอังกฤษ
อบรมธรรมทายาทนานาชาติ พ.ศ. ๒๕๔๙
อายุ ๓๓ ปี พรรษา ๓ : University of Wales Swansea BSC Philosophy

Crossing the ocean of suffering in a search for the truth of life
ข้ามทะเลแห่งความทุกข์ เพื่อแสวงหาความจริงของชีวิต

“ไม่ทราบว่าพระฝรั่งองค์นั้น เป็นชาวอะไร?”
“ชาวอังกฤษ พูดภาษาไทยได้ดี เขียนเรื่องราวเป็นภาษาไทยได้ดีด้วย”
และนี่คือสิ่งที่พระริเวอร์อยากบอกคนไทย
“อาตมา พระริเวอร์ ภทฺทโก พระภิกษุพรรษา ๓ บวชอยู่ที่วัดพระธรรมกายในโครงการอบรมพระธรรมทายาทนานาชาติ ปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ตอนนั้นอายุได้ ๓๓ ปี

         ในวัยเด็กอาตมาไม่ได้นับถือศาสนาใดๆ เลย เช่นเดียวกับครอบครัวอื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องปกติในประเทศอังกฤษ ที่อังกฤษเรานับถือวิทยาศาสตร์มากกว่าศาสนาคริสต์ จึงทำให้อาตมาศึกษาสาขาคอมพิวเตอร์ และตั้งใจว่าจะมีอาชีพเป็นโปรแกรมเมอร์ ไม่ได้คิดว่าจะมาเป็นพระ

พระเป็นใคร คืออะไร ถ้าอยู่ที่อังกฤษเป็นไปได้ที่จะไม่เคยเห็นพระมาก่อน แต่สำหรับเมืองไทย เป็นไปไม่ได้เลยที่คนไทยทุกคนจะไม่เห็นพระ ยกเว้นคนตาบอด การเห็นพระหรือสมณะสำหรับคนไทยจึงเป็นมงคลอย่างยิ่ง

อาตมาเองสงสัยเหลือเกินว่า คนไทยเห็นพระอยู่เกือบทุกวัน ทำไมไม่รู้สึกอยากบวชบ้าง

         อาตมาเริ่มสนใจนั่งสมาธิตั้งแต่เรียนในมหาวิทยาลัย แต่เป็นความสนใจในรูปแบบของชาวตะวันตก คือสนใจสมาธิแบบต้องใช้จินตนาการ ซึ่งส่วนใหญ่เพื่อการผ่อนคลาย เช่น นึกภาพว่าอยู่ในสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ แล้วใจก็สบาย เป็นต้น

         วันหนึ่ง ขณะที่นั่งสมาธิอยู่ ได้มีประสบการณ์รู้สึกว่าใจขยายออกมาจากตัว ขยายออกไปรอบห้อง รอบเมือง รอบประเทศ นอกโลก จักรวาล อย่างไม่มีที่สิ้นสุด เกิดสำนึกว่า…
มีหลายอย่างที่วิทยาศาสตร์อธิบายไม่ได้
และวิทยาศาสตร์เองก็ตอบผิดหลายอย่าง
เกี่ยวกับจิตใจ โดยเฉพาะคำว่า “ใจ”
แท้จริงใจไม่ใช่สมองและไม่ใช่ร่างกาย

ด้วยเหตุนี้ ความเชื่อในเรื่องวิทยาศาสตร์และความสนใจจากประสบการณ์ตรงของอาตมา จึงเริ่มเปลี่ยนจากที่คิดว่าจะมีอาชีพเป็นโปรแกรมเมอร์ก็หายไป นี่คือจุดเริ่มต้นแห่งการแสวงหาความจริงของชีวิต อาตมาเลิกเรียนคอมพิวเตอร์ และใช้เวลา ๑ ปีเต็ม เพื่ออ่านหนังสือค้นคว้าแทบทุกเล่มจากห้องสมุดประชาชน เกี่ยวกับศาสนาทั้งหลาย ทั้งจิตวิทยา ปรัชญาตะวันออก เมื่อศึกษาเองได้ ๑ ปี จึงหันกลับไปศึกษาปรัชญาอีก ๔ ปี เพื่อจะหาโอกาสศึกษาปรัชญาตะวันออก แต่ในหลักสูตรที่เรียนไม่มีสอนปรัชญาตะวันออก อาตมาจึงแสวงหาความรู้เรื่องปรัชญาตะวันออกด้วยตนเอง เช่น ปรัชญาโยคาจารย์ พุทธแบบเต๋า ชี่กง และโยคะ

         อาตมาได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับเซนจากญี่ปุ่น วัชรญาณจากธิเบต และอยากศึกษาพุทธแบบเถรวาท แต่ที่ประเทศอังกฤษไม่ค่อยมีหนังสือพุทธเถรวาท
ที่สำคัญ คือ อาตมาศึกษาด้วยการอ่านเท่านั้น แต่ไม่มีครู ฉะนั้นอาตมาจึงคิดว่า เราต้องเป็นครูให้ตนเองด้วยการไตร่ตรองพิจารณาคำสอนที่ได้อ่านและเกิดแรงบันดาลใจ
หลังจากสำเร็จการศึกษาได้ ๒ ปี อาตมาสูญเสียครอบครัว และหันไปหาสิ่งที่ดีให้กับตนเองด้วยการท่องเที่ยวรอบโลก เพื่อแสวงหาครู หรือหมู่คณะ ไปทั้งที่สหรัฐอเมริกา และเดินทางจากฝั่งทะเลตะวันออก ข้ามทวีปไปฝั่งทะเลตะวันตก ไปชมพีระมิดของชาวมายัน เมื่อเดินทางไปมากเข้าๆ จึงคิดได้ว่า ซากปรักหักพังเหล่านี้ เป็นแค่ซากที่เคยเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ตายไปแล้ว แต่เราควรหาหมู่คณะด้านศาสนาที่มีชีวิต อาตมาใช้เวลาอีกประมาณปีครึ่งจึงได้เจอวัดใหญ่ โดยมีเพื่อนคนหนึ่งที่กำลังเดินทางรอบโลกอีเมล์มาว่า เวลานี้เธออยู่ที่ประเทศไทย อยู่ที่กรุงเทพฯ เธอชวนไปเมืองไทย อาตมาตกลงมาเมืองไทย และตัดสินใจไปเที่ยวที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ อาตมามีโอกาสไปฝึกสมาธิที่สวนโมกข์ ๑๐ วัน ได้หัดฝึกสมาธิแบบชี่กง ใจเริ่มสงบมากขึ้นและเกิดความอยากทำใจให้หยุดนิ่ง ความรู้สึกอยากบำเพ็ญเนกขัมมะก็ค่อยๆ เกิดขึ้น

         อาตมายังฝึกสมาธิด้วยตัวเอง และไปอีกหลายที่ในประเทศไทย จนกระทั่งมีหญิงชาวอเมริกันคนหนึ่งบอกว่าในเมืองไทยมีวัดใหญ่ วัดนี้มีผู้คนมานั่งสมาธินับแสน มาปฏิบัติธรรมร่วมกัน วิธีปฏิบัติใช้การกำหนดดวงแก้ว อาตมาแปลกใจว่ามาอยู่เมืองไทยได้หนึ่งปีแล้ว แต่ยังไม่รู้จักวัดใหญ่ที่ว่านี้ จึงตัดสินใจจะลองไปดูว่าเป็นอย่างไร

         อาตมาตัดสินใจนั่งรถไฟและตรงดิ่งไปที่วัดใหญ่แห่งนี้ แล้วก็ได้นั่งสมาธิกับคนนับหมื่นๆ คนในวันอาทิตย์ต้นเดือน บรรยากาศเงียบสงบ อาตมาพบประสบการณ์ภายในด้วยตัวเอง ดวงแก้วผุดขึ้นมาจากศูนย์กลางกายเป็นสายอย่างรวดเร็ว ความรู้สึกเปี่ยมไปด้วยความเมตตาที่มีพลัง มีความสุขอย่างยิ่งในตอนนั้น

จุดเปลี่ยน พระริเวอร์ ภทฺทโก
พระริเวอร์ ภทฺทโก

จากนั้น จึงได้สมัครเข้าโครงการของวัดใหญ่ คือ โครงการ “The Middle Way รุ่นที่ ๒” ซึ่งเป็นคอร์สนั่งสมาธิประมาณ ๑๕ วัน ที่จังหวัดเชียงใหม่ สิ่งที่ประทับใจมากที่สุด คือ ความยิ่งใหญ่ของทีมงานของวัด ความเรียบร้อยและวินัยของพระอาจารย์ทุกรูป

         เมื่อวัดมีโครงการอุปสมบทหมู่พระต่างชาติ อาตมาจึงตัดสินใจบวชในโครงการอุปสมบทหมู่พระนานาชาติ แล้วตั้งใจบวชต่อเนื่อง จนเกิดมีความคิดอุปมาว่า หากเราจะปลูกต้นไม้ในกระถางสักต้นหนึ่งให้เติบใหญ่ กระถางนั้นต้องใหญ่ตามไปด้วย จึงจะทำให้ต้นไม่ใหญ่ได้ ดังนั้นอาตมาจึงไม่อยากเป็นพระใหญ่ ในวัดเล็ก แต่พึงพอใจที่จะเป็นพระเล็กในวัดใหญ่ ซึ่งในที่สุดก็จะสามารถเติบโตเป็นพระแท้ที่โลกต้องการ และสามารถเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้คนรู้ความจริงไปทั่วโลกได้

         การอบรมธรรมทายาทและอุปสมบทที่ผ่านมา อาตมาได้พบกับครูที่ดี สถานที่อบรมที่ดี มีหลักสูตรการอบรมพระให้เป็นพระที่ดี เพียบพร้อมไปด้วยปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ และผู้ที่บวชก็จะเข้าใจถึงคุณค่าของใจที่สงบ คุณค่าของความเป็นสมณะที่แท้ได้”

————————————————————————————————————————————-
ที่มา : หนังสือ “จุดเปลี่ยน”
รูป : เว็บ DMC.TV

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *