การเอาชนะความวิตกกังวล

  • by
  • 1 Comment

ความกังวล

ความวิตกกังวล เกิดจากการคิดสมมุติ ยกตัวอย่างเช่น คิดสมมุติว่า ถ้าเกิดธุรกิจการงานเราผิดพลาดล้มเหลวทรัพย์สินเงินทองของเราหมดไป ก็จะเกิดความวิตกกังวลว่า ชีวิตจะต้องลำบาก ลูกเต้าจะทำอย่างไร หรือคิดสมมุติว่า ถ้ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นชีวิตจะเป็นอย่างไร ถ้าโจรมาปล้นจะทำอย่างไร ถ้าสุขภาพไม่ดีเกิดป่วยเป็นมะเร็งจะทำอย่างไร ฯลฯ การคิดสมมุติไปในทางร้าย ก็จะเกิดเป็นความวิตกกังวล

ความกังวลกับความไม่ประมาทอาจจะดูคล้ายกัน แต่แท้จริงนั้นไม่เหมือนกัน ความไม่ประมาท คือ การมองไปข้างหน้า พิจารณาถึงความเป็นไปได้ต่างๆ แต่เป็นการคิดอย่างมีสติ แล้วไตร่ตรองด้วยปัญญา เมื่อไตร่ตรองพินิจพิจารณาทุกอย่างอย่างรอบคอบดีแล้วจึงตัดสินใจ เมื่อตัดสินใจไปแล้ว จะไม่กังวล จะมุ่งมั่นเดินหน้าต่อไปเพื่อทำให้สำเร็จตามนั้น ไม่ว่าจะมีความพร้อมมากน้อยเพียงใดก็ตาม แต่คนขี้กังวลจะคิดกลับไปกลับมาเหมือนเดินหน้าถอยหลังอยู่อย่างนั้น คือพอคิดจะทำอะไรก็จะมีความคิดแทรกขึ้นมาในทำนองว่า ถ้าไม่เป็นอย่างที่คิด ถ้าเกิดเหตุไม่คาดฝัน ถ้ามีผลกระทบเรื่องนั้นเรื่องนี้จะทำอย่างไร จะกังวลคิดวนไปวนมา นี่คือความวิตกกังวล ดังนั้นความไม่ประมาทกับความวิตกกังวลจึงไม่เหมือนกัน

ความวิตกกังวลทำให้เกิดความกลัวจนไม่กล้าที่จะทำอะไร เคยมีการทดลองกับลิง โดยธรรมชาติลิงจะมีความว่องไว สามารถกระโดดจากต้นไม้ต้นหนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่งได้อย่างคล่องแคล่ว เขาทำการทดลองดังนี้คือ นำต้นไม้คล้ายๆ ต้นไผ่ที่โยกได้ ลำต้นไม่แข็งมาก นำมาตั้งเรียงๆ กันหลายๆ ต้น เว้นระยะพอดีๆ ให้อยู่ในระยะที่ลิงกระโดดได้สบายๆ แต่พอลิงกระโดดจากต้นหนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่ง คนที่คุมอยู่ตรงโคนต้น ก็จะโยกต้นหลบ ลิงก็คว้าไม่ถึง ตกลงพื้น แม้จะไม่สูงนัก แต่ก็พอรู้สึกเจ็บบ้าง เมื่อลิงไต่ขึ้นไปใหม่ แล้วกระโดดอีก เขาก็โยกต้นไม้หลบ ลิงก็ตกลงมาอีก ปรากฏว่าผ่านไปแค่ 3 – 4 ครั้งเท่านั้น เจ้าลิงเกาะต้นไม้แน่นเลย มันไม่กล้ากระโดดแล้ว เพราะกลัวตก

เรื่องนี้ทำให้รู้ว่า ไม่ว่าคนหรือสัตว์ก็ตาม การที่จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้สำเร็จได้นั้น นอกจากจะต้องมีความสามารถแล้ว จะต้องมีความเชื่อมั่นด้วยว่าเราทำได้ เพราะถ้าหากขาดความเชื่อมั่น ก็เหมือนลิงที่ถูกแกล้ง จนเกิดความกลัว ทั้งที่ความคล่องแคล่วยังมีเหมือนเดิม แต่กลับไม่กล้ากระโดด เพราะกลัวตก นี่คือ ผลของความวิตกกังวล ซึ่งคอยบั่นทอนการดำเนินชีวิต

กายมหาบุรุษ

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงวางหลัก 5 ประการ เรียกว่า เวสารัชชกรณธรรม ธรรมที่ทำให้เกิดความกล้าหาญ เพื่อให้เราสามารถเอาชนะความวิตกกังวลให้ได้ดังนี้

ประการที่ 1 คือ ศรัทธา เราต้องมีศรัทธามีความเข้าใจในเรื่องของกฎแห่งกรรม เรื่องของโลกนี้โลกหน้า เรื่องของบุญบาป เพราะถ้าหากไม่เข้าใจเรื่องดังกล่าวนี้แล้ว ความคิดก็จะคับแคบ คิดได้แต่เรื่องสมมุติ ที่นำมาซึ่งความวิตกกังวล วนเวียนอยู่กับเรื่องเฉพาะหน้าในโลกนี้ ต่อให้เป็นมหาเศรษฐี ก็อาจกังวลว่า ถ้าจนลงจะทำอย่างไรดี ถ้าธุรกิจการค้าผิดพลาดขึ้นมาจะทำอย่างไร

ถ้ากรอบความคิดมีเพียงแค่ชาตินี้ ย่อมหาหลักประกันในชีวิตได้ยาก แต่ถ้าเข้าใจถึงโลกหน้า เรื่องบุญเรื่องบาป เรื่องกฎแห่งกรรมเมื่อไร ก็เหมือนกับว่า มีบริษัทประกันที่มีความมั่นคงอันดับหนึ่งในจักรวาลให้พึ่ง เป็นบริษัทประกันที่มีความเที่ยงตรง ให้ผลตอบแทนแน่นอน ละโลกไปแล้วยังตามให้หลักประกันได้อีก ไม่เฉพาะเรื่องทรัพย์เท่านั้น แต่รับประกันทุกสิ่งทุกอย่าง ให้ประสบความสุขตามที่พึงปรารถนาอีกด้วย

ขอยกตัวอย่างเรื่องของพระมหากัปปินะซึ่งก่อนออกบวชท่านเป็นกษัตริย์ ต่อมาเมื่อทราบว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นแล้วในโลก พระมหากัปปินะก็สละราชสมบัติแล้วออกบวชเป็นพระภิกษุ วันหนึ่งท่านเดินจงกรมอยู่ในป่า เดินไปพลางก็ อุทาน “สุขจริงหนอ สุขจริงหนอ” จนเพื่อนพระภิกษุแปลกใจ นึกว่าท่านติดสุข นึกถึงสุขในสมัยที่เป็นกษัตริย์อยู่ พากันมากราบทูลพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงทราบอยู่แล้วด้วยญาณทัสนะ แต่เพื่อให้เรื่องนี้เป็นแบบอย่างกำลังใจแก่ภิกษุที่ยังไม่บรรลุธรรม พระพุทธองค์จึงตรัสเรียกพระมหากัปปินะมาสอบถามในท่ามกลางที่ประชุมสงฆ์ว่าเหตุใดจึงอุทานเช่นนั้น

พระมหากัปปินะตอบว่า สมัยยังเป็นกษัตริย์อยู่นั้น มีคนแวดล้อม คอยดูแลรักษาความปลอดภัยสารพัด มีทหารรักษาชายแดน ทหารรักษากำแพงพระนคร ทหารรักษากำแพงวัง ทหารเฝ้าประตูปราสาทเป็นชั้นๆ เข้าไป จนถึงหน้าประตูห้องนอน แต่ก็หลับไม่สนิทเลย ผวาสะดุ้งกลัวคนจะมาลอบฆ่า กลัวโจรจะมาปล้นราชสมบัติ กลัวคนใกล้ชิดจะชิงบัลลังก์ กลัวข้าศึกจะยกมาตีเมือง กลัวจะมีปัญหาเกิดขึ้นในบ้านเมืองสารพัดอย่าง แต่พอสละราชสมบัติทั้งหลายเหล่านั้นมาอยู่คนเดียวในป่า มีผ้า 3 ผืน บิณฑบาตได้อาหารอย่างไรมาก็ฉันอย่างนั้น ไม่มีสมบัติใดๆ อยู่อย่างเรียบง่ายกลับปราศจากความกังวล มีแต่ความสุขภายในจากการปฏิบัติธรรม ความสุขนั้นท่วมท้น จนต้องอุทานขึ้นมาว่า “สุขจริงหนอ สุขจริงหนอ”

เหตุที่พระมหากัปปินะไม่มีความกังวล เป็นเพราะท่านทราบแล้วว่า สิ่งที่ท่านทำอยู่เป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงาม ทำให้เกิดบุญ แล้วบุญนี้จะเป็นคุณเครื่องนำมาซึ่งความสุขในภพชาติต่อไปได้ ยิ่งถ้าตัดกิเลสให้หมดไป นั่นคือ ความสุขอย่างยิ่ง ประโยชน์อย่างยิ่ง คือการเข้าสู่พระนิพพาน เป็นความสุขที่เหนือกว่าความสุขบนโลกนี้มากมายนัก ต่อให้ต้องตายไปในวันนั้นท่านก็ไม่มีความกังวล เพราะท่านรู้ว่า ท่านจะไปดี

ถ้าเรามั่นใจได้ว่า เมื่อเราจากโลกนี้ไปแล้ว เราจะไปสู่ภพภูมิที่ประเสริฐกว่า ดีกว่า ถ้ามั่นใจเต็มร้อย เราจะเป็นคนที่ไม่มีความกังวลในการทำความดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการให้ทาน รักษาศีล ทำสมาธิภาวนา เราจะพร้อมทุ่มเททั้งกายทั้งใจด้วยความเชื่อมั่น ไม่มีความกังวลใดๆ มาเหนี่ยวรั้งทั้งสิ้น เพราะคุณค่าของบุญจะเป็นหลักประกันแห่งชีวิต ว่าเราจะต้องพบสิ่งที่ดีงามแน่นอน การมีศรัทธา เข้าใจในเรื่องบุญบาป กฎแห่งกรรม โลกนี้โลกหน้า จึงทำให้เรามีความเชื่อมั่น มีความกล้าหาญในการทำความดี โดยปลอดจากความวิตกกังวลใดๆ ทั้งสิ้น เช่นนี้

ประการที่ 2 คือ ศีล การรักษาศีล จะทำให้เราเป็นผู้แกล้วกล้าอาจหาญในท่ามกลางที่ประชุมชน เพราะไม่มีความผิดบาปอันใดให้ต้องปกปิด ไม่มีความวิตกกังวลว่าใครจะมาล่วงรู้ข้อผิดพลาด เพราะมือที่ไม่มีบาดแผล ย่อมไม่กลัวยาพิษ เราต้องทำตัวให้เป็นคนไม่มีบาดแผล คือ รักษาศีลให้ดี สิ่งนี้จะเป็นเกราะคุ้มกันภัยให้กับชีวิต ไม่ให้บาปอกุศลมาตัดรอน เราจะดำเนินชีวิตด้วยความสุขสบายใจ โปร่งใจ ปลอดกังวล แต่เต็มเปี่ยมด้วยความเชื่อมั่น กล้าหาญ

ประการที่ 3 คือ พาหุสัจจะ การเป็นผู้ที่มีความรู้มาก จะทำให้เกิดความเชื่อมั่น ดังนั้นไม่ว่าเราจะทำเรื่องอะไร ก็ต้องศึกษาหาความรู้เรื่องนั้นให้แตกฉาน ให้มีความเชี่ยวชาญรู้จริง เมื่อเรารู้จริงแล้วเราก็จะเกิดความเชื่อมั่นและสามารถทำสิ่งนั้นให้สำเร็จได้

ประการที่ 4 คือ วิริยารัมภะ ความพากเพียรวิริยะอุตสาหะ หนักเอาเบาสู้ เป็นพลังสร้างความเชื่อมั่นได้ เมื่อมีปัญหาเกิดอุปสรรคขึ้นมา อย่าเสียเวลานั่งวิตกกังวลแต่ให้ไตร่ตรองดูปัญหาให้รอบคอบด้วยความไม่ประมาท แล้วจึงเดินหน้าสู้ต่อ อย่าอยู่เฉย เพราะถ้าอยู่เฉยเมื่อไรก็จะคิดวิตกกังวลหมกมุ่นอยู่กับเรื่องนั้นไม่รู้จบ ดังนั้นจงเดินหน้าทำงาน เพื่อแก้ปัญหาเรื่องนั้น หรืออาจทำงานเรื่องใหม่ที่สำคัญยิ่งขึ้นไปอีกด้วยก็ได้ เพราะคนเราหากทุ่มเทกับงานใดใจจะไปจดจ่ออยู่กับงาน แล้วความคิดก็จะเป็นไปในเชิงสร้างสรรค์ทำให้ก้าวไปข้างหน้า

มีตัวอย่างของนักธุรกิจที่ทำธุรกิจแล้วไม่เป็นไปตามคาด ขาดทุน แม้ทำธุรกิจใหม่ก็ขาดทุนอีก ถ้าหากเขามัวแต่นั่งวิตกกังวล ก็จะล้มเหลวทั้งชีวิต ตรงกันข้ามเมื่อเขาตัดความกังวลแล้ว เดินหน้าไตร่ตรองให้รอบคอบยิ่งขึ้น ศึกษาให้แตกฉานยิ่งขึ้น แล้วก็ทุ่มเทให้มากขึ้น ตั้งใจทำธุรกิจใหม่ ทั้งทำให้ใหญ่กว่าเดิม ผลสุดท้ายเมื่อธุรกิจใหม่ประสบความสำเร็จ กลับช่วยแก้ไขการขาดทุนของธุรกิจเดิมได้ทั้งหมด กลายเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ มีทรัพย์นับหมื่นนับแสนล้านบาท

ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหา อย่ามัวนั่งท้อแท้ นั่งกลุ้มใจ แต่ให้เดินหน้าทำงาน แม้ยังไม่รู้จะทำอะไร ก็ให้ทำงานบ้าน ปัดกวาดเช็ดถู อย่าอยู่เฉย เพราะเราจะถูกความคิดวิตกกังวลกัดกร่อนทำลาย การที่เราได้ทำงานพลังสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นมา ทำให้มองไปข้างหน้าเห็นโอกาสเห็นเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม ขอให้เราพากเพียรทุ่มเทให้เต็มที่ เพราะนี่คือการแก้ความวิตกกังวลได้อย่างยอดเยี่ยม แล้วความกล้าหาญเชื่อมั่นจะกลับคืนมาสู่ตัวเราด้วย

การเจริญสมาธิภาวนา

ประการที่ 5 คือ ปัญญา การเจริญสมาธิภาวนา ทำให้เกิดปัญญาในระดับภาวนามยปัญญา เพราะเมื่อใจเรานิ่งเป็นสมาธิ บุญก็หล่อเลี้ยงใจ พลังบุญจะหนุนส่งเป็นพลังใจ ให้เราสามารถเอาชนะความกังวลทั้งหลาย แล้วก็ปฏิบัติภารกิจทุกอย่างได้สำเร็จตามที่ตั้งใจทุกประการ

เมื่อเราปรารถนาความสำเร็จในชีวิตให้มีศรัทธา มีความเชื่อมั่นในเรื่องของบุญและบาป เข้าใจทั้งโลกนี้โลกหน้า รู้ถึงคุณค่าของบุญที่เราสร้าง ทาน ศีล ภาวนาที่เราทุ่มเทลงไปว่าจะเกิดประโยชน์กับตัวเราเองและหมู่คณะอย่างไร รู้ว่าการสร้างบุญคือการลงทุนที่คุ้มที่สุดในชีวิต เป็นหลักประกันข้ามภพข้ามชาติ ขณะเดียวกันเราต้องสำรวจข้อบกพร่องของตัวเราเองให้ดี ตั้งใจรักษาศีล แก้ไขจุดอ่อนของเราให้ได้ รวมทั้งตั้งใจแสวงหาความรู้ มีความพากเพียรอุตสาหะ อย่าทำอะไรแบบครึ่งๆ กลางๆ และต้องไม่ลืมที่จะทำสมาธิอย่างสม่ำเสมอ ถ้าทำได้เช่นนี้ เราจะเป็นคนที่เอาชนะความวิตกกังวลได้ เป็นคนที่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง มีความกล้าหาญ แม้มีปัญหาอุปสรรคเกิดขึ้น ก็สามารถแก้ไขได้ด้วยความรอบคอบ กล้าตัดสินใจก้าวเดินหน้าต่อไป

————————————————————————————————————————————-
ที่มา : หนังสือ “ทันโลกทันธรรม” โดย พระมหาดร.สมชาย ฐานวุฑฺโฒ

1 thought on “การเอาชนะความวิตกกังวล”

  1. Pingback: Tweets that mention วิธีเอาชนะความวิตกกังวล | มหาวิทยาลัยธรรมกาย แคลิฟอร์เนีย | เรียนพระพุทธศาสนา ในระบ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *