อัจฉริยะสร้างได้

  • by
  • 1 Comment

ไอน์สไตน์
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ฉลาดที่สุดในโลกในรอบ 100 ปี

คำว่า “อัจฉริยะ” หมายถึง ผู้ที่มีความรู้ความสามารถทางด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายๆ ด้านเหนือกว่าระดับปรกติ

บุคคลใดเก่งกาจ มีความสามารถในทางใดเป็นพิเศษ ก็จะได้รับการยกย่องให้เกียรติเป็นอัจฉริยะ สำหรับในพระพุทธศาสนาก็มีความเป็นอัจฉริยะอยู่มากมายหลายแบบเช่นกัน ซึ่งเราเรียกว่า “เอตทัคคะ” หรือผู้เป็นเลิศในด้านต่างๆ เช่น พระสารีบุตรเป็นเอตทัคคะทางด้านมีปัญญามาก พระมหาโมคคัลลานะเป็นเอตทัคคะทางด้านมีฤทธิ์มาก พระอนุรุทธะเป็นเอตทัคคะทางด้านมีตาทิพย์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาอีกมากมาย ที่เป็นเลิศในด้านต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเกิดขึ้นจากการสร้างและฝึกฝนตัวเองกันทั้งสิ้น เป็นการสั่งสมจากอดีตชาติต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันชาติ

การฝึกฝนตนเองให้เป็นอัจฉริยะนั้น แม้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ โดยยึดหลัก 3 ประการคือ

ประการแรก ต้องมีความมุ่งมั่นปรารถนา อยากที่จะเป็นเลิศในด้านนั้นๆ อย่างแท้จริง ไม่ใช่ว่าวันนี้อยากเป็น พรุ่งนี้เลิกแล้ว แบบนี้ยังไม่ใช่ เพราะความปรารถนาที่แท้จริงนั้นจะต้องมั่นคง และมีพลังมากพอที่จะทำให้เราเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ได้ อย่างนี้จึงจะมีสิทธิ์ ซึ่งในพระพุทธศาสนาของเรา เอตทัคคะส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการที่ได้เห็นบุคคลต้นแบบในสมัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ เช่น

ได้เห็นว่ามีพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ได้รับการยกย่องจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าเป็นเลิศ เช่น ด้านการแสดงธรรม เมื่อเห็นแล้วก็อยากจะเป็นอย่างนั้นบ้าง เกิดแรงบันดาลใจ จึงตั้งจิตอธิษฐานว่า ด้วยบุญกุศลทั้งหลายที่ข้าพเจ้าได้กระทำมาขอให้ได้เป็นเลิศทางด้านการแสดงธรรมในสมัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งในอนาคตกาลเถิด จากนั้นก็ตั้งใจฝึกฝนอบรมตนเองข้ามภพข้ามชาติ ยาวนานนับแสนกัปเลยทีเดียว สุดท้ายก็สำเร็จสมปรารถนา

ในยุคนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราได้พบเจอบุคคลที่มีความสามารถโดดเด่น จนเกิดความรู้สึกประทับใจ อยากจะเป็นอย่างเขาเหลือเกิน พร้อมจะตั้งใจทุ่มเทฝึกฝนตัวเอง พร้อมจะเอาจริงเอาจังทำให้ได้ เช่นนี้เรียกว่าเกิดแรงบันดาลใจ

ประการที่สอง การฝึกตัวเองอย่างทุ่มเท ฝึกอย่างจริงจังจะทำให้เราสามารถพัฒนาศักยภาพตัวเองขึ้นมาได้ ตัวอย่างเช่น ดิสราเอลี ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่งของประเทศอังกฤษ มีผลงานโดดเด่นมาก และเป็นผู้ที่มีวาทศิลป์ สามารถสะกดผู้ฟังได้ด้วยประเด็นที่แม่นยำเฉียบแหลม แต่เชื่อไหมว่าตั้งแต่เด็กจนโต ดิสราเอลีเป็นคนพูดติดอ่าง ซึ่งทำให้เขาอึดอัดใจมากเพราะเขาอยากเล่นการเมือง อยากจะเป็นผู้นำประเทศ แต่คนพูดติดอ่างอย่างนี้จะเป็นได้อย่างไร ดิสราเอลีจึงไปเก็บตัวอยู่ในถ้ำ เพื่อจะฝึกสติแก้ไขการพูดติดอ่างให้ได้ เขาเอาดาบแขวนไว้รอบตัว เพื่อบังคับตัวเองให้ยืนนิ่ง เพราะถ้าขยับตัวก็จะถูกคมดาบบาดเอา เรียกว่าต้องตั้งสติให้ดี ต้องนิ่ง ทั้งใจและกาย เมื่อนิ่งแล้วจึงค่อยพูดออกมา ในที่สุดเขาก็สามารถเอาชนะการพูดติดอ่างได้ กลายเป็นผู้ที่มีวาทศิลป์เป็นเลิศ

เรื่องราวของดิสราเอลี ที่พัฒนาตนเองจากคนพูดติดอ่างมาเป็นผู้นำประเทศที่มีวาทศิลป์เป็นเลิศได้ เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าอัจฉริยะสร้างได้แน่นอน เราเองก็มีสิทธิ์จะทำได้ ถ้าเราเอาจริง

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ “อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein)” ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ฉลาดที่สุดในโลกในรอบ 100 ปี ที่ผ่านมา แต่เชื่อไหมว่าตอนเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาไอน์สไตน์เคยถูกให้ออกจากโรงเรียน เพราะครูเห็นว่าไอน์สไตน์หัวทึบ ไม่สามารถเล่าเรียนได้แต่โชคดีที่แม่ของเขามีความเข้าใจในตัวเขา จึงค่อยๆ สอนไอน์สไตน์ จนกระทั่งเขาสามารถเรียนได้ และกลายเป็นอัจฉริยะของโลกในที่สุด

คุณสมบัติอย่างหนึ่งของไอน์สไตน์ ที่เสริมให้เขาเป็นอัจฉริยะได้ก็คือ เวลาเขาคิดเรื่องอะไร ใจเขาจะจดจ่ออยู่เพียงเรื่องเดียว มีคราวหนึ่งไอน์สไตน์ซึ่งเป็นนักฟิสิกส์ชั้นหนึ่งแล้วในขณะนั้น ได้มีธุระไปเสียภาษีที่อำเภอ ขณะกำลังยืนต่อแถวรอคิวอยู่นั้น ใจเขาก็คิดถึงเรื่องโจทย์ฟิสิกส์ไป พอมาถึงคิวของเขา เสมียนก็ถามว่าคุณชื่ออะไร ปรากฏว่าไอน์สไตน์งง! ตอบไม่ได้ เพราะใจกำลังจดจ่อกับโจทย์ฟิสิกส์อยู่นั่นเอง เขาจึงถูกให้ไปต่อท้ายแถวเข้าคิวใหม่ ซึ่งไอน์สไตน์ก็ต้องยอมไปเพราะนึกไม่ออกว่าตัวเองชื่ออะไรจริงๆ นี่คือสิ่งบ่งบอกว่า เมื่อไอน์สไตน์คิดเรื่องอะไร เขาจะทุ่มไปทั้งตัวทั้งใจอยู่กับสิ่งที่เขาคิด ขนาดให้นึกชื่อตัวเอง กะทันหันยังนึกไม่ออกเลย

ความเป็นอัจฉริยะนั้นสร้างได้ แต่ที่คนส่วนใหญ่ไปไม่ถึงจุดนั้นก็เพราะยังไม่ได้ทุ่มจริง ยังไม่ได้เอาจริง มัวแต่ทำเรื่องนี้นิดทำเรื่องนั้นหน่อย กระโดดไปกระโดดมา ถ้าเราอยากจะค้นพบสิ่งที่สำคัญ อยากจะเป็นอัจฉริยะอย่างไอน์สไตน์ เราก็ต้องมีใจจดจ่อมีสมาธิตั้งมั่นในสิ่งที่เราทำ แล้วเราจะดึงเอาศักยภาพในตัวมาใช้ได้อย่างเต็มที่

ถ้าเราสังเกตดูเด็กทารกเกิดใหม่ นัยน์ตาเขาจะลืมโพลง เห็นตาแป๋วสดใส เพราะเขาอยากรู้อยากเห็นสิ่งรอบตัวไปหมดทุกอย่าง เขาจะพยายามสังเกต ฟังเสียง มองริมฝีปากคนที่พูดกับเขา แล้วค่อยๆ จับความหมายของเสียงและถ้อยคำต่างๆ จนรู้ว่า อ๋อ!. นี่คือคำเรียก “แม่” นี่คือคำเรียก”พ่อ”ค่อยๆ เรียนรู้ทุกอย่างไป เพียงไม่นานเด็กก็รู้ภาษา สามารถพูดได้ ในเวลาเพียงแค่ 1-2 ปีเท่านั้น ในขณะที่การเรียนภาษาของคนที่โตแล้ว บางทีไปเข้าโรงเรียนภาษาตั้งหลายปีก็ยังพูดไม่คล่องเลย การที่เด็กเล็กๆ เรียนรู้ภาษาได้เร็วมาก เป็นเพราะว่าเขามีความตื่นตัวพร้อมจะเรียนรู้ทุกอย่างนั่นเอง

ตัวเราเองก็เช่นกัน ถ้าใจของเรามีความพร้อมในการเรียนรู้ เราก็สามารถจะเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้มากมาย แต่เมื่อไรเราปิดใจตัวเอง คิดว่าเรารู้มากแล้ว อัตราการเรียนรู้และการฝึกของเราจะลดลงไปทันที ฉะนั้นขอให้รักษาสภาพใจของเราเองให้เหมือนเด็ก ตื่นตัว เปิดใจ พร้อมจะเรียนรู้ตลอดเวลา

หลักประการที่สาม ในการฝึกฝนตนเองให้เป็นอัจฉริยะนั้น เราต้องไม่ดูถูกดูหมิ่นใคร จะขอยกตัวอย่างในครั้งพุทธกาล มีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อว่า “จุลปันถก” ท่านมีพระพี่ชายเป็นพระอรหันต์ชื่อ “มหาปันถก” พระพี่ชายของท่านตั้งใจจะฝึกสอนท่านให้เป็นพระอรหันต์เช่นกัน ปรากฏว่าแค่สอนคาถาบทเดียวซึ่งมีอยู่เพียง 4 บาท บาทหนึ่งก็มีความยาวเพียงครึ่งบรรทัด เวลาผ่านไป 4 เดือนพระจุลปันถกก็ยังไม่สามารถท่องคาถาได้แม้แต่เพียงบาทเดียว เมื่อพระพี่ชายเห็นว่าพระจุลปันถกหัวทึบเกินไป คงไม่มีวาสนาในการบวชท่านจึงบอกให้พระน้องชายลาสิกขาไปเสีย

พระจุลปันถกจำต้องทำตามคำของพระพี่ชายด้วยความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ แต่ขณะที่ท่านกำลังจะไปลาสิกขานั่นเอง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นจึงตรัสถามว่า “เธอจะไปไหน” พระจุลปันถกกราบทูลว่า “จะมาลาสิกขาพระเจ้าข้า” พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสบอกว่า “ไม่ต้องแล้ว” พร้อมทั้งประทานผ้าขาวให้ผืนหนึ่ง ตรัสบอกให้พระจุลปันถกถือผ้าขาวนี้แล้วก็ลูบไปพร้อมกับภาวนาไปด้วยว่า “ระโชหะระณัง ระโชหะระณัง” แปลว่า “นำธุลีออก นำธุลีออก” เมื่อไม่ต้องลาสิกขาอีกทั้งได้รับความเมตตาจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเช่นนี้

พระจุลปันถกก็ดีใจ เอาผ้าขาวมาลูบๆ พร้อมทั้งเจริญภาวนาอย่างมีความสุข จนเวลาผ่านไปหลายชั่วโมง ผ้าขาวก็เริ่มหมองเกิดรอยเปื้อนจากเหงื่อไคล พระจุลปันถกพิจารณาดูผ้าที่เคยขาวบริสุทธิ์ เมื่อถูกมือของท่านจับต้อง ก็กลับกลายเป็นผ้าหมอง เปรอะเปื้อน ท่านจึงเกิดความเข้าใจกระจ่างว่าร่างกายเป็นสิ่งที่ไม่สะอาด เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

เมื่อใจเริ่มคลายจากความยึดมั่นถือมั่น ก็เป็นสมาธิตั้งมั่นมั่นคงขึ้นตามลำดับ จากนั้นเจริญวิปัสสนากรรมฐาน จนสุดท้ายหมดกิเลสบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณ 4 คือแตกฉานในอรรถ ในธรรม ในนิรุตติคือเรื่องของภาษา และในปฏิภาณการแสดงธรรม พรั่งพร้อมทุกประการ ท่านยังได้รับการยกย่องจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าเป็นเลิศทางด้านมโนมยิทธิคือมีฤทธิ์ทางใจ

เหตุที่พระจุลปันถก ใช้เวลาเล่าเรียนฝึกฝนถึง 4 เดือน แต่กลับท่องคาถาไม่ได้แม้แต่บาทเดียว เป็นเพราะในอดีตชาติเมื่อครั้งที่ท่านเป็นพระภิกษุที่ฉลาดมาก ท่านเห็นเพื่อนพระภิกษุรูปหนึ่งพยายามจะร่ำเรียนพระพุทธวจนะ แต่แล้วก็จำไม่ได้เพราะปัญญาทึบ ท่านเลยหัวเราะเยาะเพื่อนว่าโง่ วิบากกรรมนั้นเอง ทำให้ชาตินี้ท่านปัญญาทึบ คาถาบาทเดียวใช้เวลาถึง 4 เดือน ก็ท่องจำไม่ได้ ต้องเป็นทุกข์อยู่นาน จนกระทั่งได้ปฏิบัติธรรมตามคำแนะนำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงสามารถแทงตลอด ทำลายกิเลสทั้งปวงลงได้ วิบากกรรมนั้นจึงหมดไป กลายเป็นพระอรหันต์ที่พรั่งพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณ 4 ครบถ้วนบริบูรณ์ แล้วก็เป็นเลิศทางด้านมโนมยิทธิ

เพราะฉะนั้นถ้าเห็นใครเขาด้อยกว่าเรา อย่าดูถูกดูหมิ่นเขาเป็นอันขาด จะเกิดเป็นวิบากกรรม เกิดตั้งแต่เริ่มคิด ยิ่งถ้าพูดออกไปวิบากกรรมยิ่งหนักขึ้น ถ้าเราดูหมิ่นคนอื่น ภาพของคนๆ นั้นจะปรากฏขึ้นในใจของเราเอง ยิ่งดูหมิ่นมากยิ่งตอกย้ำ แล้วสิ่งนั้นจะกลายเป็นผังของเราเอง ฉะนั้นอย่าไปดูถูกดูหมิ่นใครไม่ว่าเรื่องใด เห็นใครพูดติดอ่างหรือเขาทำอะไรได้ไม่ดีก็อย่าไปดูถูกดูหมิ่นเขาเป็นอันขาด วางใจเรานิ่งๆ เฉยๆ เพราะว่าตัวเราเองก็มีข้อบกพร่องมากมายที่จะต้องฝึกตัวเองให้ดีขึ้นเช่นกัน ให้ดูแต่เพียงว่า คนอื่นเขามีดีอะไร แล้วชื่นชมอนุโมทนาและน้อมนำมาเป็นแบบอย่าง เราจะได้ฝึกตัวเองให้ดีขึ้นในทุกๆ ด้าน ถ้าทำได้อย่างนี้เราจะเป็นที่รวมของความดีความสามารถ ประหนึ่งมหาสมุทรเป็นที่รวมของน้ำ ฉันนั้น

ความเป็นเลิศ ความเป็นอัจฉริยะนั้น เป็นเรื่องของสมองซึ่งเกี่ยวเนื่องกับใจ สมองเป็นเหมือนเครื่องมือของใจ ใจเป็นตัวควบคุมและใช้งานสมอง ดังคำว่า “ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว” สมองเป็นส่วนหนึ่งของกายจึงเป็นบ่าวไปด้วย ถ้าจะเปรียบแล้วสมองก็เหมือนกับคอมพิวเตอร์ ส่วนใจคือ User เป็นผู้ใช้ผู้สั่งงาน คอยกำกับดูแลทุกอย่าง และสมองเป็นเครื่องมือที่พัฒนาตัวเองได้ ใช้ทำอะไรบ่อยๆ ก็จะสามารถพัฒนาตัวเองให้มีประสิทธิภาพในการทำงานนั้นๆ ได้ดีขึ้น

แต่หลักจริงๆ นั้นอยู่ที่ใจ ถ้าเราหมั่นฝึกฝนอบรมจิตใจของเราให้ดีงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราได้ปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง อันเป็นการฝึกฝนใจให้มีพลัง ให้ผ่องใส สิ่งเหล่านี้คือคุณภาพของใจที่จะติดตัวเราไปข้ามภพข้ามชาติได้ เป็นสมบัติที่สั่งสมไว้ในใจนับล้านชาติ อสงไขยชาติก็ยังเก็บไว้ในใจดวงนี้ได้

เมื่อทราบอย่างนี้แล้ว ก็ขอให้เราเชื่อมั่นว่า ไม่ว่าเราจะเกิดมามีสมองและใจเป็นอย่างไร ทุกคนล้วนฝึกฝน พัฒนาให้ดีขึ้นได้ โดยใช้ศักยภาพของสมองและใจเราที่มีอยู่นี้เป็นต้นทุน ขอเพียงเราได้ฝึกฝนใช้สิ่งที่มีอยู่เต็มที่ แค่นี้ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จในชีวิต แม้แต่ความเป็นอัจฉริยะในด้านต่างๆ เราก็สามารถพัฒนาไปถึงได้ ถ้าเรามีความมุ่งมั่นปรารถนาในสิ่งนั้นอย่างแท้จริง

ฉะนั้นอย่าไปกังวลเลยว่าตัวเรานั้นแก้ไขอะไรไม่ได้ เอาไว้ค่อยแก้ไขในชาติหน้าก็แล้วกัน อย่าไปคิดอย่างนั้น เพราะเราทุกคนยังมีสิ่งดีๆ อีกมากมายที่ยังไม่ได้นำออกมาใช้ ตอนนี้เรายังใช้ได้ไม่ถึง 10%เท่านั้นเอง แต่เราสามารถพัฒนาศักยภาพในตัวของเราได้ โดยยึดหลักทั้ง 3 ประการนี้คือ

1.) มีความมุ่งมั่นปรารถนาจริงๆ

2.) ฝึกตัวเองอย่างทุ่มเท มีใจจดจ่ออย่างต่อเนื่อง เอาจริงเอาจัง

3.) ไม่ดูถูกดูหมิ่นใคร มองเห็นข้อดีของผู้อื่นและศึกษาเรื่องราวของคนดีที่ประสบความสำเร็จในชีวิต เพื่อเป็นแบบอย่างในใจเรา

ถ้าเรายึดหลัก 3 ประการนี้ เราจะเป็นอัจฉริยะไม่ใช่แค่ด้านเดียว แต่จะเป็นอัจฉริยะรอบด้านทีเดียว

————————————————————————————————————————————-
ที่มา : หนังสือ “ทันโลกทันธรรม” โดย พระมหาดร.สมชาย ฐานวุฑฺโฒ

1 thought on “อัจฉริยะสร้างได้”

  1. Pingback: Tweets that mention อัจฉริยะสร้างได้ | มหาวิทยาลัยธรรมกาย แคลิฟอร์เนีย | เรียนพระพุทธศาสนา ในระบบการศึก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *