วันพ่อแห่งชาติ

ความเป็นมาของวันพ่อแห่งชาติ


วันพ่อแห่งชาติ จัดให้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2523 โดยคุณหญิงเนื้อทิพย์ เสมรสุต นายกสมาคมผู้อาสาสมัครและช่วยการศึกษา หลักการและเหตุผลที่มีการจัดตั้งวันพ่อขึ้น เนื่องจากพ่อเป็นบุคคลผู้มีพระคุณและมีบทบาทสำคัญต่อครอบครัวและสังคม สมควรที่ผู้เป็นลูกจะเคารพเทิดทูนและตอบแทนพระคุณด้วยความกตัญญู และสังคมควรที่จะยกย่องให้เกียรติ รำลึกถึงผู้เป็นพ่อ จึงถือเอาวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเป็น “วันพ่อแห่งชาติ” เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในฐานะพ่อแห่งชาติ อีกทั้งทรงเป็นพ่อตัวอย่างของปวงชนชาวไทย ที่เปี่ยมล้มด้วยเมตตากรุณา ทรงบำเพ็ญคุณานุประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน ทรงพระมหากรุณา ทะนุบำรุง ขจัดทุกข์ผดุงสุขพสกนิกรทั่วหน้า พระองค์ทรงเป็นพ่อแห่งชาติที่อาณาประชาราช เทิดทูนด้วยความจงรักภักดี สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และยึดมั่นในการเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท ในการทะนุบำรุงชาติบ้านเมืองให้วัฒนาถาวรสืบไป ซึ่งมีวัตถุประสงค์ของวันพ่อ 4 ประการ

1. เพื่อเทิดทูนพระเกียรติคุณของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
2. เพื่อเทิดทูนพระคุณของพ่อ และยกย่องบทบาทของพ่อที่มีต่อครอบครัวและสังคม
3. เพื่อให้ลูกได้แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อ
4. เพื่อให้ผู้เป็นพ่อสำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบของตน

จากอดีตถึงปัจจุบัน บทบาทของพ่อเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน

จริงๆ หน้าที่หลักของพ่อไม่เคยเปลี่ยน สิ่งแวดล้อมสภาวะสังคมอาจจะเปลี่ยนไปบ้าง หน้าที่การงานอาจเปลี่ยนไปบ้าง นั่นเป็นเรื่องที่เราถือว่าเป็นส่วนขอบนอก แต่หน้าที่จริงๆ ของพ่อยังเหมือนเดิมทุกประการ ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสรุปไว้ 5 อย่าง ว่าหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่มีต่อลูก คือ

1. กันลูกจากความชั่ว
2. ปลูกฝังลูกไว้ในทางที่ดี
3. ให้ลูกได้รับการศึกษาเล่าเรียน
4. ให้ลูกได้แต่งงานกันคนดี
5. มอบทรัพย์มรดกให้เมื่อถึงกาลอันควร

หน้าที่หลักของพ่อที่มีต่อลูก 5 อย่างนี้ ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ทุกยุคทุกสมัย แต่ว่าสิ่งที่คนมองข้ามไปจาก 5 ข้อนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับความดีความชั่ว ซึ่งมีอยู่ 2 ข้อ คือ 1.กันลูกจากความชั่ว 2.ปลูกฝังลูกไว้ในทางที่ดี

กันลูกจากความชั่ว ก็เหมือนกับว่าเอาวัชพืชออก ถ้าไม่ปลูกพืชจริงๆ ลงไป เดี๋ยววัชพืชก็จะขึ้นมาใหม่ เพราะฉะนั้นต้องเอาวัชพืชออก แล้วปลูกฝังความดีลงไป ซึ่งตรงนี้จะได้ เกิดจากคุณพ่อคุณแม่เป็นต้นแบบที่สำคัญที่สุด แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้ามากขึ้น มีสิ่งที่มาดึงเวลาคุณพ่อ คุณแม่ ลูก ออกจากกันมากมาย จนกระทั่งเหลือเวลาที่จะคุยกันนิดเดียว อย่างผลสำรวจที่เราเห็น ปรากฏว่า เยาวชน 1 ใน 4 คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ 24 เปอร์เซ็นต์ บอกว่าเดือนหนึ่งได้คุยกับคุณพ่อครั้งหนึ่ง หรือน้อยกว่านั้น นั่นหมายถึง เดือนหนึ่งคุยกันอย่างมากครั้งหนึ่ง หรือบางทีไม่ได้คุยกันเลยสักครั้งเดียว อยู่ด้วยกันเดือนหนึ่งไม่ได้คุยกันเลยสักครั้ง อะไรจะเกิดขึ้น ถ้าเป็นสมัยในอดีต วันหนึ่งคุยกันเกิน 10 ครั้ง แต่นี่เดือนหนึ่งคุยกันแค่ 1 ครั้ง หรือน้อยกว่านั้น นี่ไม่ถูกแล้ว

ผู้นำครอบครัวบางครั้งประพฤติปฏิบัติตนไม่เหมาะสม ทำให้ลูกมองว่าพ่อเป็นตัวปัญหา ควรจะมีการแก้ปัญหานี้อย่างไร ผู้เป็นพ่อจะเลิกพฤติกรรมนี้อย่างไรได้บ้าง



ตรงนี้ก็มีผลสำรวจมา มี 2 ประเด็นที่น่าสนใจ มีคำถามว่า สิ่งที่ลูกอยากจะขอบคุณพ่อในวันพ่อมากที่สุดคืออะไร สอบถามเยาวชนทั้งหมดพบว่า 40 กว่าเปอร์เซ็นต์บอกว่า คุณพ่อเป็นต้นแบบที่ดี อยากจะขอบคุณคุณพ่อมากเลย แต่ว่ามีอีก 22 เปอร์เซ็นต์บอกว่า คุณพ่อคือตัวปัญหาในบ้าน ทั้งขี้เมา ก้าวร้าว ตบตีคุณแม่ ตบตีลูก ดุด่าแบบไม่มีเหตุผล เราเห็น 2 ภาพนี้มันสุดโต่งเลยนะ ฟ้ากับดินเลย ด้านบวก บอกคุณพ่อดีมาก เป็นแบบอย่าง 40 กว่าเปอร์เซ็นต์ แต่ 22 เปอร์เซ็นต์ บอกคุณพ่อคือตัวปัญหา ถ้าย้อนกลับมาดู หน้าที่ของพ่อคือ กันลูกจากความชั่ว แล้วปลูกฝังลูกไว้ในทางที่ดี เพราะฉะนั้นพ่อเป็นตัวปัญหาไม่ได้ เราจะเป็นหลักให้กับลูก เราเองต้องเป็นหลักให้กับตัวเราเองก่อน ถ้าเป็นไม้เลื้อยจะเป็นหลักให้ไม้อื่นไม่ได้ ไม้ที่จะเป็นไม้หลักแล้วให้ต้นกล้าเกาะได้ ตัวเองต้องมีความแข็งแกร่ง ยืนหยัดได้มั่นคงในหลักของคุณธรรม อย่างนี้ถึงจะใช้ได้

ถามว่า พ่อกับลูกเดือนหนึ่งไม่ได้คุยกัน เกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น คือเป็นว่า จุดสนใจร่วมหายไป ประเด็นในการสนทนา หัวข้อสนทนา สนใจคนละอย่าง เด็กไปอย่าง พ่อแม่ไปอย่าง ไปคนละทาง และพอนานๆ เจอกันที ไม่ค่อยได้คุยกัน พอเห็นลูกก็อยากจะคุย เช่น เห็นลูกกำลังอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ อยากจะไปทักลูก แต่ไม่รู้จะพูดอะไรดี ไปดีกว่า ลูกเจอคุณพ่อจะคุยอะไรดี ไม่รู้เหมือนกัน ไปดีกว่า คืออยากจะแสดงความรัก อยากจะพูดคุย แต่ไม่รู้จะคุยอะไร ก็กลายเป็นเหมือนคนแปลกหน้า

วิธีการแก้ไขมีอยู่ คือ ธรรมะ เด็กสนใจอย่าง ผู้ใหญ่สนใจอย่าง อาจจะรู้สึกว่ามีช่วงว่างระหว่างวัย แต่ความจริงคือจับธรรมะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อไร มันข้ามพ้นกาลเวลา จะเป็นเด็ก 3 ขวบ 5 ขวบ 10 ขวบ จนถึงผู้เฒ่าอายุร้อยหนึ่ง ก็สามารถคุยเรื่องธรรมะกันได้ แค่ว่าศึกษาธรรมะร่วมกัน เข้าดู DMC ดูรายการฝันในฝัน รายการต่างๆ แล้วมานั่งคุยกันเรื่องธรรมะ พออย่างนี้ ช่องว่างระหว่างวัยหายไปเลย ถ้าเกิดเป็นเรื่องเทคโนโลยีอาชีพการงาน เด็กมาคุยเรื่องฟิสิกส์ คุณพ่อบอกไม่รู้เรื่อง สมัยพ่อวิชานี้ไม่มี

ยากไหมถ้าจะให้พ่อลูกคุยธรรมะร่วมกัน



ง่ายที่คิด ติดที่ทำ แต่สำเร็จด้วยความพยายาม คือว่า ถ้าคิดว่าง่ายก็ง่าย แต่ถึงคราวจะทำ มันจะติด จะทำอย่างไรดี แต่สำเร็จด้วยความพยายาม ถ้าเอาจริงก็จบเลย โดยสรุปอาตมาว่าไม่ยาก ถ้ารู้อย่างนี้ ง่ายนิดเดียว ถ้าบ้านเรามี DMC ถ้าไม่มีก็ติดจานดาวธรรม บางทีมีอยู่แล้วแต่ไม่ได้เปิดดู เปิดดูเถอะ โดยเริ่มต้น เราเปิดดูก่อน และชวนลูกมาดู ชวนทุกคนในครอบครัวมาดู เดี๋ยวก็มีประเด็นคุย หลวงพ่อท่านสอนอย่างนี้นะ แล้วลูกว่าไง บางทีไม่ทันถาม ลูกพูดเอง เพราะว่าถ้าเกิดอยู่ๆ เจอกันให้มานั่งคุยกันเลย บางทีไม่รู้จะคุยอะไร แต่ถ้ามีกิจกรรมร่วม คือ มานั่งดูธรรมะด้วยกัน พอดูสักพักก็จะมีประเด็น เดี๋ยวลูกก็จะพูดขึ้นมา เดี๋ยวพ่อพูดขึ้นมา พ่อพูดลูกเสริม ลูกพูดพ่อเสริม เสริมไปเสริมมา ก็มีหัวข้อในการคุย ความรู้สึกว่าห่างเหินก็จะหายไป ความแปลกหน้า ขัดเขิน ค่อยๆ หายไป ละลายไปเลย ประสานเป็นเนื้อเดียวกันทั้งบ้านเลย


ปัญหาเรื่องการดูทีวี คุณพ่อชอบกีฬา คุณแม่ชอบละคร ลูกชอบการ์ตูน จะทำอย่างไรให้สนใจเรื่องธรรมะพร้อมๆ กัน



รายการธรรมะนี้แหละ ซึ่งหลวงพ่อพยายามทำให้ดูง่าย สบาย เพราะรู้ว่าทุกคนเคร่งเครียดทั้งการเรียนการงานมาเยอะแยะ ให้ศึกษาธรรมะแบบสบายๆ แต่มีสาระทุกคำพูด พูดเหมือนพูดขำๆ ทำให้ทุกคนสบายใจ มีเพลงประกอบบ้าง มีนั่นมีนี่บ้าง ทำให้ศึกษาธรรมะแบบไม่น่าเบื่อ แต่จริงๆ มีสาระทุกถ้อยคำ มีความลึกซึ้งทุกถ้อยคำ ให้สังเกตข้ามหลุดพ้นจากกรอบภายนอกที่ท่านพูดแบบสบายๆ เถอะ เราจะพบสาระของชีวิตอยู่ในนั้นมากมาย ศึกษาติดตามไปแล้ว ให้มั่นใจว่า นี่แหละคือการกันลูกจากความชั่ว แล้วปลูกฝังลูกไว้ในทางที่ดีที่ยอดเยี่ยมมาก เราไม่ต้องมานั่งเหนื่อยสอนเอง หลวงพ่อสอนให้เสร็จแล้ว เราแค่ชวนลูกมานั่งดูเท่านั้นเอง แล้วเสริมๆ บ้างนิดหน่อย เท่านี้ก็สบายเลย


ปัญหาลูกชายกับคุณพ่อที่ทะเลาะกัน ถึงขั้นไม่คุยกัน เมื่อคุณพ่อจากไป ลูกชายมาเสียใจภายหลัง จะมีคำแนะนำอย่างไร


ผู้ชายความรู้สึกเกี่ยวกับศักดิ์ศรี จะแรงกว่าผู้หญิง ศักดิ์ศรีลูกผู้ชายที่เขาว่ากัน ความจริงคำว่า ศรี มาจากคำว่า ศิริ คือความดี ปัจจุบันใช้คำว่า ศักดิ์ศรี ส่วนเรื่องที่ว่า โรงเรียนนั้นหมิ่นศักดิ์ศรี ยกพวกตีกัน นี่คือศักดิ์ศรีในทางที่ผิด มันคล้ายๆ เป็นตัวทิฏฐิ ผู้ชายจะมากกว่าผู้หญิงหน่อย ปัญหาเรื่องนี้ลูกสาวจะเบากว่า แต่ถ้าเกิดกับลูกชายปรับเข้าหากันไม่ลงตัว ตอนเด็กๆ ยอม เพราะยังเล็ก แต่พอโตเป็นหนุ่ม บางทีชักไม่ยอม คุณพ่อมาแบบไม่มีเหตุผล บางทีไม่ยอม พอแรงๆ มา ดูเหมือนลูกจะยอม พอถึงจุดหนึ่งมันระเบิด มีการเถียงคุณพ่อบ้าง อะไรต่างๆ พอคุณพ่อลงไม้ลงมือ รับไม่ได้ หรือบางทีคุณพ่อทำอะไรบางอย่างไม่มีเหตุไม่มีผล รับไม่ได้ กลายเป็นปมอยู่ในใจ คือใจหนึ่งรักคุณพ่อ ลูกทุกคนรักพ่อหมดแหละ รักพ่อก็รัก แต่ขณะเดียวกันเหมือนกับว่า ทำไมคุณพ่อทำแบบนั้น มันเป็นปมอยู่ในใจ ที่พอไม่คลาย อยู่ในบ้านเหมือนคนแปลกหน้า แล้วพ่อจะพูดอะไร ลูกก็เหมือนกับว่า มีการสู้ในใจระหว่างความรักกับความหมางเมิน เหมือนกับว่าทำไมพ่อทำอย่างนั้น ทำไมถึงทำอย่างนั้น พ่อก็รู้ว่าลูกรักตัวเองและก็มีอย่างนั้นอยู่ แต่พ่อก็ไม่รู้จะทำอย่างไร


อยากจะบอกว่า อย่าแบกทุกข์ไว้กับตัว ทั้งคุณพ่อและคุณลูก ทั้งสองฝ่าย แค่เอาตัวทิฏฐิออกไป เพราะมันไม่ใช่ศักดิ์ศรี บางคนเข้าใจว่าเป็นศักดิ์ศรี จริงๆ ไม่ใช่ศักดิ์ศรี มันต้องมีศักดิ์ และมีศรี คือ ศิริ คือต้องมีความดี แต่ถ้าจับอยู่อย่างนั้น เป็นทิฏฐิ ซึ่งไม่ดี มีทิฏฐิมานะ ความถือตัว ไม่ใช่สิ่งที่ดี


ให้เป็นคนที่กล้าที่จะเอ่ยคำว่า “ขอโทษ” กล้าฟังคนอื่นเขาพูดอะไรเกี่ยวกับตัวเรา ไม่ใช่ว่าใครจะมาวิจารณ์ด้านลบตัวเองไม่ได้ ทนรับฟังไม่ได้ ไม่ใช่เลย ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตาม ฟังแล้วไตร่ตรอง จริงหรือเปล่า ถ้าเป็นจริง หรือจริงไม่หมด มีส่วนจริงอยู่บ้าง ที่เขาพูดวิจารณ์เรามา รับฟังแล้วขอบคุณ ที่อุตส่าห์แนะนำมา แม้บางทีเป็นเด็กแนะผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ก็กล้าที่จะฟัง ถ้าอย่างนี้เยี่ยมเลย และถ้าเราทำอะไรผิดไป กล้าที่จะบอกว่า พ่อผิดไปแล้ว พ่อขอโทษ ลองคิดดู ลูกกำลังตั้งปม พ่อเดินมาบอกว่า พ่อผิดไปจริงๆ พ่อขอโทษนะลูก อะไรจะเกิดขึ้น ปมมันละลายหายไปไหนก็ไม่รู้ กอดคุณพ่อรักคุณพ่อที่สุดในโลก เท่านั้นเอง ที่เคยเป็นกำแพงขวางกั้นมันจะหายไปไหนก็ไม่รู้ แล้วเราจะพบว่าเรามีความสุข ความสุขใจจะเกิดขึ้น ความอบอุ่นจะเกิดขึ้น และคนที่กล้าที่จะยอมรับฟังคำวิจารณ์ด้านลบจากคนอื่น ให้คบเถอะ เขาจะไม่มีต่ำลงเลย มีแต่จะสูงขึ้น


ถ้าหากเราเป็นผู้ใหญ่ไปแนะกับผู้น้อยแล้วเขามีท่าทีรับฟัง พยายามปรับปรุง และขอบคุณเรา เราดูเลย เด็กคนนี้มีแวว น่าสนับสนุน คนนี้เอาดีได้ ตั้งใจปรับปรุงตัว ถ้าเป็นเพื่อนฝูง รู้สึกว่าเพื่อนคนนี้น่าคบ ถ้าเราเด็กกว่าเจอผู้ใหญ่อย่างนี้ แทบจะอยากเข้าไปกราบเลย เพราะรู้ว่า แม้ท่านอาจจะมีข้อบกพร่องบางอย่างที่เราเห็นบ้าง แต่ที่ท่านโดดเด่นมากคือคุณธรรมของท่าน เป็นเหมือนภูผาที่ไม่หวั่นไหวด้วยแรงลม ใครที่เป็นอย่างนี้ ไม่มีตกต่ำลง ไม่ต้องไปกลัวว่าเราไปยอมรับข้อบกพร่อง เราก็เหมือนกับว่า แย่ รับไม่ได้ ไม่ใช่ มีแต่จะสูงขึ้นๆ และก็สูงขึ้น นี่คือความเป็นคนว่าง่าย ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้นั่นเอง รับฟังคำแนะนำ คำตักเตือนจากทุกๆ คนได้ มาปรับปรุงแก้ไข ถือว่าผู้ชี้โทษ คือผู้ชี้ขุมทรัพย์ให้ เขาอุตส่าห์มาเสี่ยงเตือนเรา แสดงว่าเขาต้องรักเรา ถ้าเขาไม่รักเรา เราทำอะไรผิด เรื่องอะไรเขาจะมาเตือน คนไปเตือนคนอื่นเขา มีแต่เสมอตัวกับขาดทุน เขาไม่โกรธถือว่าเสมอตัว ถ้าโกรธขึ้นมาขาดทุนเลย ถ้าไม่รักเราจริงเขาไม่เตือนเราหรอก เห็นใครเตือนเรา ให้นึกขอบคุณเขาก่อนว่า ผู้ชี้โทษคือผู้ชี้ขุมทรัพย์ให้ แม้ว่าที่เขาเตือนมาบางทีไม่ได้ถูกร้อยเปอร์เซ็นต์ มันมีผสมๆ กัน เขาอาจรู้ข้อมูลไม่หมด ยังต้องขอบคุณเขา

เด็กที่เชื่อเพื่อน เชื่อคนนอกบ้าน ทั้งๆ ที่คนในบ้านมีความปรารถนาดี กลับไม่ค่อยเชื่อ ควรทำอย่างไร



อยู่ที่ว่าเขารับฟัง หรือเขาคุ้นกับใคร รับฟังใครมากกว่า ถ้าหากว่า คุณพ่อคุณแม่ให้เวลากับลูก โดยมีจุดร่วมคือธรรมะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นเมื่อเขาคุ้นเคยกับคุณพ่อคุณแม่ เขาจะไปไหน ในเมื่อเขารู้สึกว่า ยังไงคุณพ่ออยู่กับเขาอยู่แล้ว เป็นพวกเขาอยู่แล้ว มีอะไรขึ้นมา ก็มาเล่าให้คุณพ่อฟัง เจออะไรมา ต้องเล่าให้คุณแม่ฟัง เพราะมั่นใจว่าคุณพ่อคุณแม่เป็นกำแพงให้เขาพิงได้ เป็นที่มั่นที่เขาพึ่งพิงได้ทุกเมื่อทุกอย่าง และเขาอุ่นใจวางใจ ถ้าอย่างนี้ เขาจะฟังพ่อแม่มากที่สุด แล้วพ่อแม่ก็ต้องเข้าใจลูก ไม่ใช่ว่าบังคับให้ลูกต้องอย่างนั้นอย่างนี้


ต้องแยกให้ออกว่า ความถูก ความควร ถูกกับผิด ดีกับชั่ว ควรไม่ควร นี่เรื่องหนึ่ง ชอบไม่ชอบนี้อีกเรื่องหนึ่ง ถ้าเรื่องดี-ชั่ว ถูก-ผิด บุญ-บาป ต้องสอนลูก สิ่งนี้บาป สิ่งนี้ไม่ดี อย่าไปทำ ลูกจะไปติดยาบ้า จะไปเกเร เหล้าบุหรี่ อย่าลูก ข้อนั้นต้องห้าม โดยที่ว่าถ้าเราเองมีน้ำหนักในใจลูกดี ด้วยความคุ้นเคย ด้วยความที่ลูกยอมรับ พูดปั๊บลูกก็โอเคอยู่แล้ว บางทีไม่ทันพูด ลูกไม่ยอมทำ เพื่อนชวนก็ไม่ยอมทำ


อาตมาเคยเจอเพื่อนที่เรียนหนังสือมาด้วยกัน มีคนมาชวนไปเกเร เขาบอกว่าไม่ กลัวคุณพ่อคุณแม่จะเสียใจ นี่คือสิ่งที่มีอยู่ในสังคม เพราะว่ารักคุณพ่อคุณแม่ อะไรที่รู้ว่าไม่ดี ไม่อยากทำ เพราะว่ากลัวว่าท่านรู้ท่านจะเสียใจ นี่พ่อมีน้ำหนักในใจลูก จะเป็นเสาหลักในใจลูกได้อย่างดี ไม่จำเป็นต้องเอ่ยสอนโดยตรง แต่เป็นตัวกระตุกให้ลูกได้คิดและยั้งตัวเองออกจากความชั่วได้ แต่ขณะเดียวกัน ถ้าเป็นเรื่องความชอบ เป็นเรื่องรสนิยม เราอย่าไปบังคับลูก ลูกต้องเรียนคณะนี้ ลูกต้องทำอย่างนั้น ลูกต้องทำอย่างนี้ ไปเจ้ากี้เจ้าการชีวิตเขาหมด ไม่มีใครชอบหรอก ถ้าเป็นอย่างนั้น น้ำหนักพ่อแม่ในใจลูกจะลดลง เราต้องแยกตรงนี้ให้ออก ดี-ชั่ว บุญ-บาป ถูก-ผิด กับชอบไม่ชอบ รสนิยม

ลูกที่เถียงพ่อแม่ จะมีผลเสียต่อเขาอย่างไรบ้าง



ถ้าหากเราไปเถียงคุณพ่อคุณแม่เมื่อไร แม้บางทีเราจะไม่เห็นด้วยกับท่าน แต่ก็รับฟังไว้ก่อน ถ้าไปเถียงเมื่อไร จะทำให้เราเองขาดความเคารพ พอขาดความเคารพ หลักใจที่จะยึดมันพร่องลงไปแล้ว เมื่อไรเถียง ความเคารพจะหาย อีกหน่อยเจออะไร ความรู้สึกว่าไม่ทำ กลัวคุณพ่อคุณแม่เสียใจ ข้อนี้จะหายไปเลย เหมือนเปิดประตูรับสิ่งไม่ดีๆ เข้ามาสู่ตัวเรา ความเสื่อมจะมาถึง เพราะฉะนั้นอย่างไรให้ถือว่าคุณพ่อคุณแม่เป็นเหมือนพระอรหันต์ในบ้าน ไม่ว่าเราจะเห็นด้วย ไม่เห็นด้วยที่ท่านพูดหรือไม่ก็ตาม อย่าไปเถียงท่าน อย่างมากก็นิ่งๆ แล้วสิริมงคลจะมาแก่ตัว

ลูกๆ ที่ไม่ได้อยู่กับคุณพ่อคุณแม่ แนวคิดในการที่เขาจะเอามาใช้ มีคำแนะนำอย่างไรบ้าง



เคยเจอบางคน ขนาดคุณพ่อคุณแม่จากไปแล้ว แต่ในกระเป๋าเสื้อยังมีรูปของท่านอยู่ แม้ท่านไม่อยู่ก็เหมือนอยู่ ไม่ใช่ว่าท่านอยู่ทำให้ท่านดีใจว่าเราดี แต่ว่าเราต้องรักษาชื่อเสียงวงตระกูล เราจะต้องทำบุญทำกุศลเอาบุญให้ท่าน นึกอย่างนี้ คนอย่างนี้เอาดีได้ ไม่ว่าท่านอยู่บนโลกใบนี้หรือจากเราไปแล้ว ก็ยังระลึกนึกถึงท่านอยู่เสมอ เพราะหน้าที่ลูกที่มีต่อพ่อแม่ ท่านก็บอกเอาไว้แล้ว ถ้าสรุปย่อๆ คำที่เราคุ้น คือ กตัญญูกตเวที


กตัญญู คือ รู้คุณท่าน รู้ว่าท่านมีพระคุณกับเราอย่างไร กตเวที คือ ตอบแทนคุณท่าน ถ้ารู้คุณ คือ กตัญญู ถ้าการตอบแทนคุณ คือ กตเวที การตอบแทนคุณมี 2 ช่วง ถ้าท่านยังอยู่ เราก็ดูแลปรนนิบัติ ยกตัวอย่างของจีน เขาทำกันถึงขนาดนี้ ตัวเองยังเด็กอยู่แท้ๆ งานบ้านพอช่วยได้ ช่วย พอหน้าหนาว อากาศหนาว กลางคืนก่อนเวลาพ่อจะนอนสัก 15-20 นาที แอบขึ้นไปนอนบนเตียงพ่อ พอถึงเวลาพ่อจะนอนก็ลงจากเตียงให้พ่อขึ้นนอน เพื่อที่ว่าผ้าห่มจะได้ไม่เย็น ที่นอนจะได้ไม่เย็น ทำถึงขนาดนั้น เขาใส่ใจรายละเอียดขนาดนี้ สิ่งละอันพันละน้อย เล็กๆ น้อยๆ มันเป็นสิ่งมงคลแก่ตัวทั้งนั้น คนที่มีพ่อแม่อยู่ในหัวใจ มีแต่ความเจริญรุ่งเรือง และเมื่อท่านจากโลกนี้ไปแล้ว ให้ทำบุญอุทิศให้อย่างสม่ำเสมอๆ นั่นคือหน้าที่ของลูก ทำอย่างนี้ ชีวิตเราจะมีแต่ความสุขความเจริญ

ทำอย่างไร ให้เราเป็นคุณพ่อดีเด่นในใจของลูก


หลักคือว่า ตั้งใจฝึกตัวเองให้ดี ให้เป็นแบบอย่างให้ลูกให้ได้ ไม่ว่างานจะยุ่งเท่าไรก็ตาม ต้องแบ่งเวลาให้กับลูก มีกิจกรรมร่วม ลูกจะได้เห็นเราเป็นแบบอย่าง และเราเองก็เห็นลูก มีอะไรจะแนะก็ค่อยๆ แนะได้ แต่ถ้านานๆ เจอที เห็นอะไรไม่ดี ใส่โป้งไปเลย บางทีลูกรับไม่ทัน ถ้ามีโอกาสคุ้นกันอย่างที่ว่า อยู่ด้วยธรรมะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นจุดผูกใจร่วมกัน แล้วก็ค่อยๆ แนะ ค่อยๆ สอนอย่างนี้ไป จะเป็นการให้ที่นุ่มนวล เด็กจะรับได้ คุณพ่อจะเป็นฮีโร่ในหัวใจของลูก เราได้เปรียบอยู่แล้วเพราะเราเป็นพ่อ ลูกเองยังไงก็รักเราอยู่แล้ว มองเราเป็นแบบอย่างอยู่แล้ว แต่ว่าเราอย่าทำให้ภาพของฮีโร่ในใจลูกสลายไปเท่านั้น อย่าให้แตกโพละไป แต่ว่าให้งดงาม เพราะเด็กมากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ มองว่าพ่อเป็นฮีโร่อยู่แล้ว พยายามทำตัวให้เป็นฮีโร่ให้ได้เถอะ แล้วจะพบว่า 1.เราเองก็มีความสุขใจ 2.เห็นลูกเรารักเรา เคารพเรา แล้วดีขึ้นโดยเห็นเราเป็นแบบอย่าง เราก็ชื่นใจ และมีความสุข



เพราะฉะนั้น เราจะเป็นคุณพ่อตัวอย่างให้กับลูก และสังคมที่เราอยู่ รางวัลอาจไม่ได้รับจากใคร แต่เป็นรางวัลชีวิต คือความสุขใจชื่นใจทุกๆ วันที่ผ่านไป ผลงานที่ยิ่งใหญ่ของคนเป็นพ่อเป็นแม่ คือเห็นลูกเติบโตเป็นคนดีและประสบความสำเร็จในชีวิต ถ้าไม่อย่างนั้น ต่อให้เป็นเศรษฐีใหญ่เท่าไร มีตำแหน่งใหญ่โตแค่ไหน ถ้าลูกไปติดยา ไม่มีความสุข สู้ว่าสำเร็จในการงานพอประมาณ แต่ว่าสามารถสร้างลูก เลี้ยงลูกจนลูกได้ดี ไปถึงไหน ชื่นใจได้ว่า ลูกเราใช้ได้ ขอให้ลูกเจริญก้าวหน้ายิ่งกว่าพ่อ น้ำแข็งเกิดจากน้ำแต่เย็นกว่าน้ำ ให้ได้อย่างนั้น แล้วก็ชื่นใจ สุขใจ


วันพ่อปีนี้ ให้คุณพ่อทำหน้าที่ของคุณพ่อให้สมบูรณ์ แล้วลูกๆ ก็ตั้งใจทำหน้าที่ของลูกๆ ให้สมบูรณ์ แล้วให้ครอบครัวทุกคนร่มเย็นเป็นสุข มีความเจริญก้าวหน้ากัน ทั่วกัน



ที่มา : พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ (M.D.; Ph.D.) จากรายการข้อคิดรอบตัว ออกอากาศทางช่อง DMC

สมัครรับอีเมล์ข่าวสารจาก DOU
สมัครรับข้อมูลข่าวสารออนไลน์ กับ DOU ง่าย ๆ บนเว็บไซต์ แค่กรอกข้อมูลในแบบฟอร์มให้ครบถ้วน คุณจะไม่พลาดข่าวสารสำคัญ ๆ ที่ส่งตรงถึงอีเมล์ของคุณ