บทวิเคราะห์ภาพยนตร์ เรื่อง กาเหว่าที่บางเพลง
(ส่วนหนึ่งของนักศึกษารายวิชาสังคมวิทยาพระพุทธศาสนา หลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต)
โดย ดร.รัฐรพี พิพัฒน์ธนวงศ์ และ งามตา ธนานันทสูตร
สังคมมนุษย์จะเกิดขึ้นได้ ต้องมีองค์ประกอบ 2 ประการ คือ จะต้องมีการรวมตัวของกลุ่มชน โดยมีการปฏิสัมพันธ์กันในทางสังคม (Social Relation) (ศรัณย์ เลิศรักษ์มงคล, 2554 : 14, อ้างจาก Hoult) และจะต้องเป็นกลุ่มที่มีความอิสระ ดำรงอยู่ได้โดยถาวร นอกจากนี้ สังคมมนุษย์ยังต้องมีการกำหนดบรรทัดฐานทางสังคม เพื่อกำหนดกรอบทางสังคม ให้สังคมนั้น ๆ อยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจในกฎเกณฑ์เดียวกัน โดยมีความเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนในสังคม ดังนั้น การที่กลุ่มคนจากสังคมหนึ่งจะเข้าไปมีส่วนร่วมหรือมีบทบาทกับอีกสังคมหนึ่งได้ จะต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับสังคมนั้น ๆ แต่หากไม่เลือกวิธีการปรับตัวแล้ว ก็จะต้องใช้การยึดครองด้วยกำลังหรืออำนาจแทน
จากภาพยนตร์เรื่องกาเหว่าที่บางเพลง เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมชนบท (Rural society) เรียกว่า “บางเพลง” ซึ่งแม้เป็นสังคมเล็ก ๆ มีความหนาแน่นของประชากรน้อย แต่ก็มีโครงสร้างทางสังคมค่อนข้างครบถ้วน และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่คล้ายคลึงกัน (สนธยา พลศรี, 2553 : 111) ในทฤษฎีสังคมวิทยาได้กล่าวถึงโครงสร้างทางสังคมไว้ 8 สถาบัน ประกอบด้วย สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา สถาบันการเมืองการปกครอง สถาบันศาสนา สถาบันเศรษฐกิจ สถาบันสื่อสารมวลชน และสถาบันนันทนาการ (สุพัตรา สุภาพ, 2539 : 64) ซึ่งสังคมของบางเพลงเองก็มีสถาบันทางสังคมดังกล่าวอย่างครบถ้วน คือ
1) สถาบันครอบครัว ได้แก่ ครอบครัวของคนในบางเพลง และเด็กกาเหว่า
2) สถาบันการศึกษา ได้แก่ โรงเรียน ครู
3) สถาบันศาสนา ได้แก่ วัด พระภิกษุ แม่ชี
4) สถาบันการเมืองการปกครอง ได้แก่ ตำรวจ
5) สถาบันสื่อสารมวลชน ได้แก่ ร้านกาแฟ ซึ่งเป็นสถานที่รวมในการพบปะพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนข่าวสารกันของคนในบางเพลง และนักชีววิทยาที่คอยสังเกตการณ์และถ่ายรูปเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในบางเพลง
6) สถาบันนันทนาการ ได้แก่ สนามกีฬาในโรงเรียน งานวัด เป็นต้น
สังคมของชาวบางเพลง เป็นลักษณะของสังคมเกษตรกรรม (Agrarian Society) (สนธยา พลศรี, 2553 : 109) เป็นสังคมท้องถิ่นขนาดเล็ก ๆ ดังเช่นชนบทของประเทศไทยทั่วไป โดยมีสถาบันของพระพุทธศาสนาเป็นสถาบันที่มีบทบาททางสังคมมาก เป็นที่ยึดเหนี่ยว เยียวยาจิตใจของคนในท้องถิ่นนั้นได้ยามเกิดความทุกข์ เห็นได้จากคำพูดของหลวงพ่อที่ว่า “เจ็บป่วยกายก็ต้องหาหมอรักษา ป่วยใจก็ต้องมาหาพระ” แสดงถึงความเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ และยังมีบทบาทเป็นผู้นำในด้านความคิดที่จะใช้แก้ไขปัญหาเมื่อถึงคราวสังคมมีภัยอีกด้วย
เปรียบเทียบกับอีกสังคมหนึ่ง คือสังคมเดิมของกลุ่มมนุษย์ต่างดาวก่อนที่จะมาครอบครองและขยายเผ่าพันธุ์ในบางเพลง เนื่องจากพวกมนุษย์ต่างดาวมีการพัฒนาด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีไปอย่างมาก จึงประสบปัญหาจากการขยายเผ่าพันธุ์มากจนไม่สามารถควบคุมได้ ในขณะที่ทรัพยากรมีจำนวนจำกัด จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ของชาวมนุษย์ต่างดาวและต้องหาแหล่งที่อยู่ใหม่ เรียกว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงทางด้านประชากร (population change) ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม (social change) (สุพัตรา สุภาพ, 2539 : 124)
ซึ่งมนุษย์ต่างดาวนี้มีวัฒนธรรมและความเชื่อที่แตกต่างกับสังคมบางเพลงโดยสิ้นเชิง ดังนั้น หากคนกลุ่มนี้จะเข้ามาอยู่ในสังคมบางเพลงได้จะต้องใช้วิธีการ 2 อย่าง คือ ปรับตัวอย่างกลมกลืนเข้ากับสังคมบางเพลง เป็นการผสมผสานทางวัฒนธรรม (Acculturation) หรืออีกวิธีหนึ่งก็คือ การเผยแพร่วัฒนธรรมของตนโดยใช้อำนาจยึดครอง และนำเอาบรรทัดฐานและวัฒนธรรมทางสังคมของตนเข้าไปบังคับคนในบางเพลง หรืออธิบายอย่างง่าย ก็คือการยัดเยียดให้อีกสังคมหนึ่งยอมรับวัฒนธรรมของตน (สุพัตรา สุภาพ, 2539 : 38) เปรียบได้กับกรณีของชาวตะวันตกที่ใช้กำลังทางทหารยึดอำนาจการปกครองจากประเทศอื่นๆ แล้วนำวัฒนธรรมของตนเข้าไปเผยแพร่ หรือการที่ชาวต่างประเทศใช้ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี และสื่อภาพยนตร์ โฆษณา เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่วัฒนธรรมของตนเข้ามาในสังคมไทยอย่างรวดเร็ว เช่น วัฒนธรรมการแต่งกายของดารา นักร้องเกาหลี รถยนต์หรูหรา การใช้ของแบรนด์เนม เป็นต้น จนทำให้วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี รวมถึงภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทยที่ดีและเหมาะสมกับคนไทยอยู่แล้ว ได้ถูกลืม และเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ถดถอยลงอย่างเห็นได้ชัด
แต่ยังมีข้อสังเกตเรื่องความแตกต่างประการหนึ่งระหว่างสังคมไทยกับบางเพลง คือ สังคมไทยรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาเองโดยสมัครใจ เพราะขาดการไตร่ตรองอย่างรอบคอบ ลืมมองข้อดีของวัฒนธรรมไทยที่ดีอยู่แล้ว จนเกิดปัญหาสังคมอย่างมากมายตามมา เช่น การแต่งกายที่ไม่เหมาะสมทำให้เกิดปัญหาอาชญากรรม ค่านิยมการอยู่ก่อนแต่ง ตั้งครรภ์เมื่อยังไม่พร้อมทำให้เกิดปัญหาทำแท้งเถื่อนตามมา นับว่าเป็นปัญหาของศีลธรรมที่เสื่อมถอย ซึ่งตรงข้ามกับในกรณีของบางเพลง ที่กลุ่มต่างดาวมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาบังคับให้คนบางเพลงยอมรับ เห็นได้ชัดจากการทำให้หญิงสาวที่ยังไม่มีครอบครัวในบางเพลงตั้งครรภ์ ส่งผลให้เกิดปัญหาครอบครัวขึ้นอย่างรุนแรงโดยเฉียบพลัน เพราะผู้หญิงไทยแต่เดิมจะต้องรักนวลสงวนตัว หญิงสาวไม่ควรเสียตัวก่อนแต่งงาน (คูณ โทขันธ์, 2545 : 177) การตั้งครรภ์โดยไม่มีครอบครัวของหญิงสาวบางเพลงจึงเป็นจุดที่ขัดแย้งกับวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างมาก
ดังนั้น เมื่อวัฒนธรรมของกลุ่มต่างดาวเผยแพร่เข้าสู่บางเพลง โดยการใช้อำนาจเข้าบังคับดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ทำให้สังคมบางเพลงต้องรีบแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน จึงเกิดการรวมตัวของกลุ่มผู้นำในสังคมเพื่อแก้ปัญหา ได้แก่ พระภิกษุ กลุ่มตำรวจ และครู โดยกลุ่มที่มีบทบาทอย่างมากในครั้งนี้ คือ สถาบันศาสนา ซึ่งแตกต่างจากสังคมไทยในปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับสถาบันการปกครองในการที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม ทำให้สถาบันศาสนาถูกลดบทบาทลง เป็นเพียงแค่สถาบันที่ช่วยฟื้นฟูทางจิตใจของผู้คนในสังคมเท่านั้น จึงไม่ได้ให้ความสำคัญกับการนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเข้ามาแก้ไขปัญหาสังคมอย่างจริงจัง ทั้ง ๆ ที่คนในสังคมไทยส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา การใช้อำนาจทางการการเมือง และทางทหารเข้ามาแก้ไขปัญหาบ้านเมือง ผลที่เกิดขึ้นก็คือ เกิดความแตกแยกออกเป็นหลายฝ่ายของผู้คนในสังคม ส่งผลให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาในวงกว้าง เพราะผู้ที่ใช้อำนาจในการปกครองไม่มีศีลธรรม ปล่อยให้กิเลสครอบงำจิตใจ ตัดสินเอนเอียงเข้าพวกพ้องตน นับว่าเป็นความล้มเหลวของสังคมไทยที่ใช้อำนาจการปกครองทางการเมืองและการทหารเข้าแก้ไขปัญหาแทนที่จะใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาประสานความแตกแยกนี้
หากสังคมไทยเอาหลักธรรมของพระพุทธศาสนาเข้ามาแก้ไข ก็จะเกิดความสามัคคีขึ้นในสังคม ซึ่งในเรื่องนี้ชาวบางเพลงที่พบกับปัญหาการตั้งครรภ์ไปทั่วเมือง ก็รับเอาคำตัดสินของหลวงพ่อ ที่มาจากการใช้ปัญญาวิเคราะห์ หรือ โยนิโสมนสิการ[1] ว่าการตั้งครรภ์ที่เกิดขึ้นไม่น่าจะใช่ฝีมือของมนุษย์ ทำให้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นลดความรุนแรงลงอย่างรวดเร็ว
แต่ปัญหาที่สงบลงยังไม่หมดไปในทันที และเริ่มส่งผลกระทบอีกครั้งอย่างรุนแรง เมื่อกลุ่มเด็กต่างดาวโตขึ้นพร้อม ๆ กัน เกิดเป็นกองทัพต่างดาว โดยมีเป้าหมายเพื่อแพร่เผ่าพันธุ์และยึดครองดินแดน ซึ่งมีตัวละครในเรื่อง คือ “สมพร” เป็นผู้นำหลัก
เด็กต่างดาวกลุ่มนี้ เน้นเรื่องเป้าหมายของความสำเร็จคือการยึดครองบางเพลง
เป็นตัวตั้ง จนเกิดพฤติกรรมแหวกแนว (innovation) คือ ทำวิธีใดก็ตามให้บรรลุวัตถุประสงค์ โดยไม่คำนึงถึงกฎหมายและแบบแผนใด ๆ เน้นวัตถุนิยมมาก (สุพัตรา สุภาพ, 2539 : 135) โดยตามท้องเรื่อง พวกเขาใช้ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญในการยึดครอง ด้วยเห็นว่าตนมีความรู้ทางวิทยาการที่เหนือกว่า และยังสามารถเรียนรู้ได้รวดเร็วกว่าเด็กบางเพลงเป็นอย่างมาก คือ การเห็นว่าวัฒนธรรมของตนดีกว่าผู้อื่น (Ethno centrism) (สุพัตรา สุภาพ, 2539 : 42) ในทางพุทธศาสนา ก็คือการยึดมั่นถือมั่น (อัตตา) (พระพรหมคุณาภรณ์, 2551 : 531) จนเกิดทิฐิมานะขึ้นภายในใจของตน ทั้งนี้เพราะความไม่รู้ คือ อวิชชา เข้าครอบงำ (พระพรหมคุณาภรณ์, 2551 : 519) จึงได้ใช้กำลังบังคับให้สิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นไปในทิศทางที่พวกตนวางแผนไว้ด้วยอำนาจของกิเลส เช่น การใช้กำลังในการฆ่าสัตว์เลี้ยงที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ยังชีพจำนวนมหาศาลเพื่อนำมาบริโภค หรือ การใช้พลังจิต (อาศัยกฎทางฟิสิกส์) เข้ามาเป็นตัวบังคับ เช่น การฆ่างูด้วยพลังจิต การบุกสถานีตำรวจ เพื่อสร้างความเกรงกลัวให้กับประชาชน ทั้งด้านกำลังคน และความแข็งแกร่ง เป็นต้น
เด็กต่างดาวกลุ่มนี้ใช้กำลังในการยึดครอง ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ขึ้นมากมาย ในขณะที่ชาวบางเพลงมี “หลวงพ่อ” เป็นที่พึ่ง คือ มีหลักธรรม และความจริงในพระพุทธศาสนาเท่านั้นที่เป็นที่เกราะกำบังให้ โดยหลวงพ่อนั้น ใช้ความสงบ เย็น ใช้พลังบริสุทธิ์จากการปฏิบัติสมาธิและหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เอาชนะกำลังความสามารถอันเนื่องด้วยกิเลสของสมพรอย่างใจเย็น ค่อย ๆ อธิบายและทำหน้าที่กัลยาณมิตร หล่อหลอม ขัดเกลา ให้หัวหน้า คือ “สมพร” เข้าใจทีละน้อย โดยไม่ใช้ความรุนแรง แนะนำแนวทางที่ถูกคือ แนะนำให้สร้างประโยชน์ ให้ชนะด้วยความดี และค่อย ๆ สอดแทรกเรื่องความเมตตาแทนความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา ยกตัวอย่างเช่น ในฉากที่เจองู สมพรใช้วิธีการฆ่างูทิ้ง ซึ่งการใช้ความรุนแรงแบบนี้ทำให้เกิดความผูกโกรธ จองเวรอย่างไม่รู้จักจบสิ้น แต่หลวงพ่อกลับใช้วิธีการแผ่เมตตาซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี ซึ่งไม่เกิดผลเสียกับผู้ใด และได้ผลเหมือนกันคือไม่ถูกงูทำร้าย
ในกรณีเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากจนเกือบท่วมบางเพลงก็เช่นเดียวกัน สมพรที่ได้รับการขัดเกลาทางสังคมจากหลวงพ่อแม้จะเป็นในช่วงวัยรุ่น (socializing the youth) (สุพัตรา สุภาพ, 2539 : 58) ไม่ได้รับการอบรมตั้งแต่ยังเด็กก็ตาม ก็ยังสามารถเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้ โดยที่หลวงพ่อใช้หลักพรหมวิหารธรรม[2] และกัลยาณมิตรธรรม 7[3] ประการ คือ มีความ
เมตา กรุณา ต่อสมพร อดทนต่อคำซักถาม คำวิพากษ์วิจารณ์ และให้การอบรมสั่งสอนจนสมพรยอมที่จะนำกลุ่มเด็กต่างดาวไปช่วยกันกั้นน้ำที่จะท่วมบางเพลง ทำให้คนบางเพลงเกิดการยอมรับ และมาช่วยกันดูแลเมื่อเด็กต่างดาวป่วย นี่ก็เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่แสดงถึงกระบวนการขัดเกลาทางสังคม (Socialization) (สุพัตรา สุภาพ, 2539 : 47) โดยสถาบันศาสนา ซึ่งหลวงพ่อใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นเครื่องมือในการขัดเกลาอย่างได้ผล
อีกกรณีหนึ่งที่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการขัดเกลาทางสังคม คือ การขัดเกลาโดยสถาบันครอบครัว เช่น ในกรณีของ “ยุวศักดิ์” ที่ได้รับการขัดเกลาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก (socializing the child) (สุพัตรา สุภาพ, 2539 : 57) จากพ่อแม่ โดยอบรมสั่งสอนให้มีความรัก ความเมตตา ช่วยเหลือผู้อื่น โดยยึดหลักของสังคหวัตถุ 4[4] คือ การให้ (ทาน) ทำให้ยุวศักดิ์ที่เป็นเด็กต่างดาว ไม่เคยรู้จักการให้หรือการเสียสละ เกิดความคิดที่จะให้ความช่วยเหลือทำประโยชน์ (อัตถจริยา) ให้กับชาวบางเพลงเมื่อมีปัญหาน้ำหลาก กล่าวได้ว่า “ยุวศักดิ์” ได้รับเอาวัฒนธรรมความคิดของคนบางเพลงเข้าไปในตน เกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรม (Accultulation) (สุพัตรา สุภาพ, 2539 : 38) ผ่านกระบวนการขัดเกลาทางสังคมนั่นเอง อีกนัยหนึ่งสามารถกล่าวได้ว่า เป็นการรุกกลับทางวัฒนธรรมได้อย่างชัดเจน การขัดเกลาของหลวงพ่อส่งผลให้ “สมพร” ผู้นำเด็กต่างดาว มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปยอมก้มลงกราบหลวงพ่อ ยอมรับในคุณธรรมของท่าน และน้ำใจของชาวบางเพลง จนถึงกับจะนำสิ่งเหล่านี้ไปบอกเล่ากับพวกของตนว่า โลกมนุษย์มีแต่น้ำใจ การแบ่งปัน และสันติสุข
ในเรื่องนี้มีหลักธรรมที่สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนคือ กฎไตรลักษณ์ แสดงให้เห็นว่าไม่มีสิ่งใดยั่งยืน แม้มนุษย์ต่างดาวเองเมื่อมาอยู่ที่โลกมนุษย์ก็ยังต้องพบกับความ เกิด แก่ เจ็บ ตายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ในโลกมนุษย์ต่างดาวเองจะไม่มีความตายตามที่กล่าวในท้องเรื่องก็ตาม แต่ก็ต้องพบกับความทุกข์จากการที่อาหารไม่เพียงพอ ต้องแสวงหาที่อยู่ใหม่ ไม่สามารถหนีพ้นความทุกข์ที่เกิดจากการเวียนว่ายในวัฏสงสารได้ ในที่นี้ หากมองอีกแง่มุมหนึ่ง อาจมองได้ว่า กฎไตรลักษณ์ได้สร้าง “ความสมดุล” ให้กับโลกก็ได้ ตราบใดที่มนุษย์ยังไม่สามารถหนีพ้นห้วงแห่งวัฏสงสารนี้ไปได้
ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งจากภาพยนตร์ ในเรื่องลำแสงที่ส่องลงมาจากยานอวกาศนั้น ได้เลือกเฉพาะ ผู้หญิงทุกคนที่อยู่ในวัยรุ่นถึงผู้สูงวัยเลยทีเดียว เปรียบได้กับการเผยแพร่วัฒนธรรม ค่านิยมจากต่างประเทศ ผ่านการนำเสนอสื่อ รวมถึงสินค้าในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ภาพยนตร์ เพลง สินค้าแบรนด์เนม รถยนต์ ฯลฯ เข้ามาในสังคมไทย โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้หญิงแทบจะไม่จำกัดวัย อาจแบ่งได้ 2 ประเภท คือกลุ่มที่ยินดีในการรับวัฒนธรรมนั้นเพราะตนพร้อมอยู่แล้ว มีกำลังที่จะหาซื้อมาใช้ได้ เช่น ในท้องเรื่อง จะมีกลุ่มหญิงที่อยากมีบุตรอยู่แล้ว กับคนอีกกลุ่มที่รับเอาวัฒนธรรมนั้นเข้ามาด้วยความหลง ความไม่รู้ หรืออาจถูกยัดเยียดให้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างเช่นในเรื่องนี้กลุ่มแม่ชีหรือหญิงสาวที่ยังไม่แต่งงานก็ต้องมีบุตรไปด้วย กลุ่มที่ยินดีในการรับวัฒนธรรมอื่นเข้ามา เพราะกระแสค่านิยมทางสังคมที่รุนแรง โดยเรียกกันติดปากว่า เป็นเทรนด์ (trend) จนคนในสังคมคล้อยตาม ต้องซื้อหามาใช้ ต้องมี ต้องเป็นอย่างนั้นจึงจะเรียกว่าทันสมัย เป็นการวิ่งตามกระแสค่านิยามทางสังคมที่ว่า ใครมีกำลังก็หาซื้อมาได้ มิได้ผิดอะไร จนวัยรุ่นบางคนที่ยังอยู่ในวัยเรียนก็พยายามที่จะหามาใช้สอยเพื่อให้ทัดเทียมกับเพื่อน ส่งผลให้วัยรุ่นบางคนยินยอมที่จะขายบริการทางเพศด้วยเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะรับเอาวัฒนธรรมของตะวันตกที่มีความเสรีทางเพศ โดยไม่คิดว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ ยินดีที่จะใช้ทุกวิธีการที่จะหาเงินมาแลกกับสิ่งที่หลงว่าเป็น “ความสุข” เหล่านั้น สิ่งเหล่านี้สามารถเห็นได้มากมายในสังคมไทยปัจจุบัน
หากจะพิจารณาถึงสาเหตุและความเป็นมาเป็นไปของเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นโดยนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาพิจารณาอย่างลึกซึ้ง หลักธรรมที่จะสามารถนำมาอธิบายได้ก็คือ ปฏิจจสมุปบาท ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราเห็นเสื้อผ้า หรือ น้ำหอมราคาแพง เกิดความรู้สึกอยากได้ ทั้งหมดนี้มีกระบวนการเกิดดับของขั้นตอนดังต่อไปนี้อย่างรวดเร็ว คือ
1) อวิชชา (ความไม่รู้จริง : ไม่รู้ทุกข์อย่างแจ่มแจ้ง)
2) สังขาร (การนึกคิดหรือการปรุงแต่งของใจ)
3) วิญญาณ (การรับรู้อารมณ์ต่าง ๆ)
4) นามรูป (นามขันธ์ 3 รูปขันธ์ 1 คือ ร่างกายและจิต)
5) สฬายตนะ (อายตนะภายใน 6 : ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ)
6) ผัสสะ (ความสัมผัสอารมณ์ : การสัมผัสด้วยประสาทต่าง ๆ)
7) เวทนา (ความเสวยอารมณ์ : ความรู้สึกในทางทุกข์หรือสุขหรือความรู้สึกเฉยๆไม่สุขไม่ทุกข์)
8 ) ตัณหา (ความอยากได้)
9) อุปาทาน (ความยึดติดในสิ่งต่าง ๆ)
10) ภพ (กรรมภพและอุปัตติภพ การมีภาระหน้าที่และภาวะทางใจ)
11) ชาติ (ความเกิด หรือการเกิดอัตตา”ตัวตน”คิดว่าตนเป็นอะไรอยู่)
12) ชรามรณะ (ความแก่และความตาย)
(พิทูร มลิวัลย์, 2535 : 5-6)
จากกระบวนการข้างต้นสามารถอธิบายโดยสังเขปได้ว่า เพราะความไม่รู้จริงว่าสิ่งนี้เป็นทุกข์ เกิดการปรุงแต่งว่าของนั้นมีจริง รับรู้เป็นอารมณ์ โดยผ่านทางอายตนะ 6 (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) เกิดการสัมผัสได้ถึงสิ่งของนั้น ๆ ว่าสวยงาม ว่ามีกลิ่นหอม รู้สึกว่าสิ่งนี้เหล่านี้ที่จะทำให้ตนเกิดความสุข จึงอยากได้มาครอบครอง และยึดติดว่าของนั้นมีอยู่จริง เมื่อยังข้องอยู่ในวงจรเหล่านี้ ก็จะยังไม่พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ ในภพภูมิต่าง ๆ อยู่เรื่อยไป
อย่างไม่รู้จะจบสิ้น
การที่บุคคลเอาทรัพย์ที่พึงใช้ให้เป็นประโยชน์มาใช้เพื่อสนองความต้องการอันเป็นผลจากกิเลสที่เกิดขึ้นในใจ ทำให้หลงติดอยู่ไม่สามารถปล่อยวางได้ เกิดความหวงแหน และวิตกกังวลขึ้นมาในใจ เมื่อถึงคราวจะประพฤติปฏิบัติธรรม เจริญสมาธิสมาธิภาวนา จิตใจก็จะฟุ้งซ่าน สงบลงได้โดยยาก ดังนั้น นักปราชญ์บัณฑิตทั้งหลายที่เห็นภัยในวัฏสงสารจึงสรรเสริญทางแห่งการประพฤติพรหมจรรย์ คือ การบรรพชาอุปสมบท เพื่อตัดเครื่องกังวลทั้งหลาย เป็นทางที่สงบ ระงับแล้ว เข้าถึงธรรมอันแท้จริงของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้โดยง่าย ดังจะเห็นได้จากในภาพยนตร์เรื่องนี้ หลวงพ่อได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “ไม่มีใครบังคับให้ข้าบวช ใจข้าสั่งเอง”
หากแต่ยังไม่สายเกินไปนัก ถ้าคนในสังคมไทยหรือสังคมโลกที่กำลังหลงตามกระแสของค่านิยมในสิ่งเหล่านี้อยู่ ยังสามารถเปลี่ยนแปลงและรับเอาสิ่งที่บริสุทธิ์ ดีงาม คือหลักธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิต โดยหมั่นทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา ปฏิบัติตามหลักมรรคมีองค์แปด มองเป้าหมายที่แท้จริงคือ การทำพระนิพพานให้แจ้ง เพื่อหลุดพ้นจากภัยในสังสารวัฏ
นอกจากนี้ ในฐานะที่คนไทยส่วนใหญ่เป็นพุทธศาสนิกชน ก่อนที่จะรับแนวคิดหรือวัฒนธรรมภายนอกเข้ามา จะต้องมี “โยนิโสมนสิการ” คือ การพิจารณาโดยแยบคาย ไตร่ตรองสาวไปจนถึงสาเหตุหรือต้นตอของเรื่องที่กำลังคิด แล้วประมวลความคิดรอบด้านจนกระทั่งสรุปออกมาได้ว่าสิ่งนั้นควรหรือไม่ควร ดีหรือไม่ดี จนถึงสามารถกลั่นกรองแยกแยะข้อมูลหรือแหล่งข่าวหรือที่เรียกว่า “ปรโตโฆสะ” อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งความคิดชอบหรือ “สัมมาทิฐิ” ทำให้มีเหตุผล และไม่งมงาย (พระธรรมกิตติวงศ์, 2548). อันเป็นหลักธรรมข้อแรกในมรรคมีองค์แปดนั่นเอง มิฉะนั้น อาจกลายเป็นว่า เรารับเอา “กาเหว่า” มาอุ้มชูเชิดชูดูแล
แล้วทิ้งสิ่งที่ดีงาม คือความบริสุทธิ์งดงามของพระพุทธศาสนา และขนบธรรมเนียมประเพณีไทยไปอย่างน่าเสียดาย ด้วย “ความไม่รู้” ก็เป็นได้
บรรณานุกรม
คูณ โทขันธ์. พุทธศาสนากับสังคมและวัฒนธรรมไทย. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : โอเดียน
สโตร์, 2545.
พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช). พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด. กรุงเทพฯ : วัดราชโอรสาราม, 2548.
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์. พิมพ์ครั้งที่ 12. กรุงเทพฯ : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2551.
พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธสาสตร์ ฉบับประมวลธรรม. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2528.
พิทูร มลิวัลย์. ปฏิจจสมุปบาท หรือ อิทัปปัจจยตา. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2535. (มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พิมพ์เป็นอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายพิทูร มลิวัลย์ ณ ฌาปนสถานคุรุสภา วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร 17 ตุลาคม 2535).
ศรัณย์ เลิศรักษ์มงคล. เอกสารประกอบการสัมมนา รายวิชา สังคมวิทยาพระพุทธศาสนา (Buddhist Sociology). ปทุมธานี : มหาวิทยาลัยธรรมกาย แคลิฟอร์เนีย, 2554.
สุพัตรา สุภาพ. สังคมวิทยา. พิมพ์ครั้งที่ 18. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช, 2539.
สนธยา พลศรี. หลักสังคมวิทยา. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์ฐ, 2553.
[1] โยนิโสมนสิการ คือ การพิจารณาโดยแยบคาย คือพิจารณาเพื่อเข้าถึงความจริงโดยสืบค้นหาเหตุผลไปตามลำดับจนถึงต้นเหตุ แยกแยะองค์ประกอบจนมองเห็นตัวสภาวะและความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย หรือ
ตริตรองให้รู้จักสิ่งที่ดีที่ชั่ว ยังกุศลธรรมให้เกิดขึ้นโดยอุบายที่ชอบ ซึ่งจะมิให้เกิดอวิชชา และตัณหา
(พระพรหมคุณาภรณ์, 2551 : 336)
[2]พรหมวิหารธรรม คือ ธรรมประจำใจอันประเสริฐ, ธรรมที่ต้องมีไว้เป็นหลักใจและกำกับความประพฤติ จึงจะชื่อว่าดำเนินชีวิตหมดจด และปฏิบัติตนต่อมนุษย์สัตว์ทั้งหลายโดยชอบ มี 4 ประการ ได้แก่ เมตตา คือ ความรักใคร ปรารถนาดีอยากให้เขามีความสุข, กรุณา คือ ความสงสาร คิดช่วยให้พ้นทุกข์, มุทิตา คือ ความยินดีเมื่อผู้อื่นมีความสุข, อุเบกขา คือ ความวางใจเป็นกลาง (พระราชวรมุนี, 2528 : 148-149)
[3]กัลยาณมิตรธรรม 7 คือ องค์คุณของกัลยาณมิตร ได้แก่ ปิโย คือ น่ารัก ครุ คือ น่าเคารพ, ภาวนีโย คือ น่ายกย่อง, วตฺตา จ คือ รู้จักชี้แจงให้เข้าใจ, วจนกฺขโม คือ อดทนต่อถ้อยคำ, คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา คือ แถลงเรื่องล้ำลึกได้ และ โน จฏฺาเน นิโยชเย คือ ไม่ชักนำในอฐาน คือไม่ชักจูงไปในทางเสื่อม (พระราชวรมุนี, 2528 : 240)
[4]สังคหวัตถุ 4 คือ ธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวใจบุคคล และประสานหมู่ชนไว้ในสามัคคี ได้แก่ ทาน คือ การให้, ปิยวาจา หรือ เปยยวัชชะ คือ มีวาจาอันเป็นที่รัก, อัตถจริยา คือ การประพฤติประโยชน์ และสมานัตตตา คือ ทำตนเสมอต้นเสมอปลาย (พระราชวรมุนี, 2528 : 168)