รูปแบบการเรียนการสอน ระดับปริญญาโท

  • by

1. การปฐมนิเทศเชิงปฏิบัติการ

[line] นักศึกษาใหม่ทุกท่านจะต้องเข้าร่วมการปฐมนิเทศ เพื่อทำความเข้าใจในวิธีการศึกษาทางไกล รายละเอียดของโครงสร้างหลักสูตร เนื้อหาสาระและกระบวนการศึกษาตามหลักสูตร การปรึกษาหารือกับคณาจารย์ เพื่อวางแผนการเรียนร่วมกัน และฝึกทักษะต่างๆ ที่จำเป็น

2. การศึกษาชุดวิชา (course work)

[line] 2.1 การศึกษาด้วยตนเองจากสื่อการสอนทางไกล
ได้แก่ บันทึกเทปภาพ – เสียง และเอกสารสรุปคำบรรยายทัศนะของอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นการแนะแนวการศึกษา บอกข้อมูลและแหล่งที่มาของความคิด กระตุ้นให้นักศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง

2.2 การทำกิจกรรมกลุ่มผ่านบทเรียนเสริม
ในแต่ละชุดวิชาจะมีบทเรียนเสริมบน Web board หรือ Web blog ของมหาวิทยาลัย ภายใต้คำแนะนำของอาจารย์ประจำวิชา เพื่อเติมเต็มเนื้อหาสาระของแต่ละชุดวิชาให้ครบถ้วนสมบูรณ์ นักศึกษาต้องร่วมกันศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม ทำแบบฝึกปฏิบัติตามที่ได้รับมอบหมาย ตั้งประเด็น ถกอภิปราย และนำเสนอความคิดเห็น จัดทำผลงานร่วมกัน

2.3 การเข้าฟังการสัมมนาเสริมรายวิชา
มุ่งเน้นการอภิปรายเพื่อทำความเข้าใจเนื้อหา สาระในรายละเอียดเพื่อเตรียมความพร้อมในการสอบไล่ประจำภาค

2.4 การเข้าร่วมการสัมมนาเข้มรายวิชา
เป็นการจัดบรรยายความรู้เพิ่มเติมเฉพาะรายวิชา เอกซึ่งเน้นการวิจัย โดยวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง มุ่งเน้นการฝึกทักษะหรือเพิ่มเติมประสบการณ์ การนำเสนองานสารนิพนธ์หรืองานค้นคว้าอิสระที่นักศึกษาได้รับมอบหมาย การเข้า ร่วมกิจกรรมสัมมนาเสริม/เข้ม ถือเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการเรียนการสอนตามหลักสูตร ที่นักศึกษาทุกคนต้องเข้าร่วมกิจกรรม เนื่องจากเป็นการเก็บคะแนนระหว่างภาคการศึกษา โดยวันเวลาและสถานที่จัดกิจกรรมสัมมนาจะแจ้งให้นักศึกษาทราบและกำหนดนัดหมาย เป็นครั้งๆไป

2.5 การสอบไล่ประจำภาค
มหาวิทยาลัยจัดการสอบไล่ประจำภาคการศึกษา ณ สนามสอบส่วนกลางเท่านั้น โดยลักษณะข้อสอบเป็นแบบอัตนัยทั้งหมดทุกรายวิชา หากนักศึกษามีความจำเป็นไม่สามารถมาสอบ ณ สนามสอบส่วนกลางได้ นักศึกษาสามารถทำหนังสือเพื่อขอให้จัดสอบไล่ที่ศูนย์ประสานงานแต่ละภาคได้ โดยให้เหตุผลความจำเป็น ทั้งนี้มหาวิทยาลัยจะพิจารณาอนุญาตการสอบทดแทนเป็นราย ๆ ไป ทั้งนี้ต้องดำเนินการล่วงหน้า ก่อนกำหนดวันสอบ ไม่น้อยกว่า 1 เดือน และต้องเสียค่าธรรมเนียมการจัดสอบเป็นกรณีพิเศษตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด

3. การทำวิทยานิพนธ์ (Thesis)

[line] ให้นักศึกษาเข้าร่วมการสัมมนาเข้มชุดวิชาวิทยา นิพนธ์ การอบรมเข้มเชิงปฏิบัติการ การนัดหมายเข้าพบปะอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ การสอบหัวข้อและโครงร่างวิทยานิพนธ์ (Thesis Proposal Defense) การสัมมนารายงานความก้าวหน้าวิทยานิพนธ์ (Thesis Progress Report Seminar) และการสอบวิทยานิพนธ์ (Thesis Final Defense) โดยดำเนินการตามขั้นตอนในคู่มือการทำวิทยานิพนธ์

4. การเข้าร่วมปฏิบัติธรรม

[line] เป็นการศึกษาทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยภาคทฤษฎีเน้นหลักคำสอนทางพุทธศาสนาที่นำไปสู่หลักการปฏิบัติทั้งแบบสมถะ และวิปัสสนาภาวนา ส่วนภาคปฏิบัติเป็นไปตามแนวการปฏิบัติธรรมเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกาย การศึกษาในภาคทฤษฎีกำหนดไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง และภาคปฏิบัติให้เป็นไปตามระยะเวลาและสถานที่ตามที่สถาบันฯกำหนด ทั้งนี้ระยะเวลารวมของการปฏิบัติธรรมต้องไม่น้อยกว่า 1 เดือน

5.การอบรมเข้มเสริมประสบการณ์มหาบัณฑิต

[line] ฝึกฝนทักษะรวบยอดและการประยุกต์ใช้วิชาความรู้ ผ่านการอบรมเข้มเชิงปฏิบัติการ ร่วมกิจกรรมเดี่ยวและกิจกรรมกลุ่มอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อฝึกทักษะและประสบการณ์ในการเป็นผู้นำสังคมทางด้านจิตใจและปัญญา เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ เสริมสร้างมนุษยสัมพันธ์และความสามารถในการทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะ พัฒนาบุคลิกภาพและภาวะผู้นำ ตลอดจนส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมเพื่อพัฒนาความเป็นพุทธศาสตรมหาบัณฑิตที่ สมบูรณ์